แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจสหรัฐจากนี้ไป | บัณฑิต นิจถาวร
ตลาดการเงินโลกขณะนี้มีความผันผวนมาก ล่าสุดอาทิตย์ที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกร้อยละ 0.25 สอดคล้องกับความเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่
ที่ชอบมากคือเหตุผลที่ประธานเฟดใช้อธิบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25 ซึ่งตรงกับที่ผมเขียนไว้อาทิตย์ที่แล้ว คือภาวะการเงินในสหรัฐหลังการปิดสองธนาคารจะตึงตัวมากขึ้น
เพราะธนาคารพาณิชย์จะเพิ่มความระมัดระวังในการทําธุรกิจ กระทบการปล่อยสินเชื่อและเศรษฐกิจ ทําให้ทางการไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยมากเพื่อชะลอเศรษฐกิจและลดเงินเฟ้อ เป็นคําอธิบายตรงกับที่เขียนไว้อาทิตย์ที่แล้ว
คําถามคือจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย และความเชื่อมั่นของนักลงทุนเกี่ยวกับความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
การตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาทิตย์ที่แล้ว เป็นการตัดสินใจในสถานการณ์ที่ยาก เพราะความห่วงใยของนักลงทุนเกี่ยวกับปัญหาในสถาบันการเงินสหรัฐหลังการปิดสองธนาคารยังมีอยู่ แม้ทางการจะชี้แจงว่าระบบธนาคารพาณิชย์สหรัฐมีความมั่นคง
ความเห็นนักวิเคราะห์ก่อนการประชุมแบ่งเป็นสองทาง ไม่ไปทางเดียวกันเหมือนก่อน ทําให้เฟดทำงานยากขึ้นในการบริหารการคาดหวังของตลาด คือร้อยละ 60 สนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ย อีกร้อยละ 40 ไม่ให้ขึ้น
กลุ่มที่ให้ขึ้นเพราะเงินเฟ้อยังสูงและส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรขึ้นอีกร้อยละ 0.25 กลุ่มที่ไม่อยากให้ขึ้นก็เพราะห่วงผลที่การขึ้นดอกเบี้ยจะมีต่อสถาบันการเงินและเศรษฐกิจ
ชัดเจนจากผลการประชุมว่า เฟดให้ความสําคัญกับความห่วงใยนี้ของตลาดในการตัดสินใจ คือ
1.ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.25 ตามที่ตลาดส่วนใหญ่คาด แม้เงินเฟ้อยังสูงและการจ้างงาน รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐก็เข้มแข็งพอที่จะรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขนาดที่สูงกว่าได้
2.ลดความเข้มข้นในการสื่อสารทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต จากที่เคยระบุแต่ก่อนว่าการปรับขึ้นเป็นสิ่งที่ต้องทําต่อ (ongoing increase) เปลี่ยนมาเป็นการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่จะออกมาในอนาคต
3.พูดถึงเป้าหมายเงินเฟ้อ 2 เปอร์เซ็นต์ ว่าเป็นเป้าหมายระยะยาว
นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไปในการประชุมคราวนี้
ต่อคําถามว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นอย่างไรหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยล่าสุด
ก็ชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐคงชะลอต่อเนื่องในปีนี้ทั้งจากผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจากภาวะในตลาดการเงินที่ตึงตัวขึ้นจากการทำธุรกิจของธนาคารพานิชย์ที่ระมัดระวังมากขึ้น
เรื่องนี้ถ้าดูจากประมาณการเศรษฐกิจของเฟด ซึ่งปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐลงเหลือร้อยละ 0.4 ปีนี้และร้อยละ 1.2 ปีหน้า
คือตํ่าลงแต่ยังไม่ติดลบ ยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้และปีหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 สูงกว่าเป้าระยะยาวที่ร้อยละ 2
ที่สำคัญตามประมาณการเศรษฐกิจที่ปรับลงนี้ ตลาดการเงินตีความจากประมาณการค่าเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ทั้งปีว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นอีกร้อยละ 0.25 ในปีนี้ ซึ่งหมายถึง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจใกล้จบแล้ว
แต่ทั้งหมดคือประมาณการที่ทําขึ้นประกอบการตัดสินใจด้านนโยบายภายใต้ข้อมูลที่มีอยู่ และประมาณการจะเปลี่ยนเมื่อข้อมูลล่าสุดเปลี่ยน จึงยังไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง
เพราะอนาคตไม่มีใครบอกชัดเจนได้และความไม่แน่นอนมีมาก ขณะนี้พูดได้แต่เพียงว่าธนาคารกลางสหรัฐมองโลกในแง่ดี คือ อัตราเงินเฟ้อจะลดลงต่อ เศรษฐกิจจะชะลอ แต่ยังไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ที่ต้องตระหนักคือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยจากนี้ไปจะยังขึ้นอยู่กับทิศทางเงินเฟ้อและการตัดสินใจของเฟดเป็นสําคัญ ถ้าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐลงเร็ว ความจำเป็นที่จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะมีน้อยลง
ตรงกันข้าม ถ้าเงินเฟ้อในสหรัฐยังสูง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคงมีต่อไป แม้เฟดจะตระหนักถึงผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะมีต่อเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน
ผลต่อเศรษฐกิจคือการเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ผลต่อสถาบันการเงินคือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งจากเศรษฐกิจที่ชะลอที่กระทบคุณภาพสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน
ผลของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นที่กระทบความสามารถในการหารายได้ของสถาบันการเงิน และผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนของสถาบันการเงินจากการปรับตัวของราคาสินทรัพย์
ทั้งหมดคือความเสี่ยงในกรณีที่สถาบันการเงินมีการบริหารจัดการไม่ดี ที่อาจมีผลต่อฐานะของสถาบันการเงินได้
ผมคิดว่านี่คือสองประเด็นที่นักลงทุนแสดงความกังวล คือโอกาสที่จะเกิดความอ่อนแอหรือปัญหาในสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐและยุโรปจากผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เห็นได้จากความผันผวนในตลาดหุ้นเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว
ในประเด็นนี้ ชัดเจนว่าภาคทางการทั้งในสหรัฐและยุโรปก็เข้าใจความกังวลเหล่านี้เป็นอย่างดีและได้สร้างความมั่นใจด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่สะท้อนการให้ความสําคัญทั้งสองเรื่อง
คือเงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงิน ได้เข้าแก้ปัญหาที่เกิดในสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐและยุโรปอย่างทันเหตุการณ์และหนักแน่น ด้วยมาตรการที่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้เร็ว
ยืนยันในความเข้มแข็งของระบบธนาคารพาณิชย์ และพร้อมที่ทำเพิ่มเติมในแง่การช่วยเหลือและการกำกับดูแลเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาในอนาคต
สิ่งเหล่านี้ควรสามารถลดข้อกังวลใจของนักลงทุนได้ รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาจมีต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก
นี่คือประเด็นที่เราควรต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล