‘อุตตม’ ชูเร่งยกเครื่องภาคอุตฯ คว้าโอกาสลงทุนช่วงขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์
‘อุตตม’ ชูนโยบายพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ต้องทำทันที เร่งยกเครื่องภาคอุตสาหกรรมไทยคว้าโอกาสความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ชิงโอกาสเป็นซัพพลายเชนโลก เร่งดึงลงทุนเข้าพื้นที่อีอีซี
นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบายพรรคพลังประชารัฐ กล่าวในการเสวนาเรื่อง "วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย" ในงานประชุมสามัญประจำปี 2566 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ภายใต้ธีมงาน "EMPOWERING THAI INDUSTRIES FOR POWERFUL THAILAND เสริมสร้างพลังอุตสาหกรรมไทย สู่ประเทศไทยที่แข็งแกร่ง" ว่า โจทย์สำคัญของประเทศคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้พลิกฟื้นอย่างเป็นรูปธรรมรวมทั้งการผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัวได้ทันทีและต่อเนื่อง ภายใต้ข้อจำกัดงบประมาณและกำลังคนที่เรามี พรรคพลังประชารัฐจึงเสนอ 3 เร่งด่วน ประกอบด้วย 1.การแก้หนี้ 2.การดูแลสวัสดิการคนไทย ยกระดับคุณภาพชีวิต 3.การลงทุนในเด็กปฐมวัย
และ 8 เรื่องเร่งรัด โดยสรุป ประกอบด้วย การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ยกเครื่องอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ยกระดับโครงสร้างดิจิทัล พัฒนาเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั้งประเทศโดยเร็วที่สุด เพื่อต่อยอดพร้อมเพย์ และเป๋าตังค์ ให้คนไทยเข้าสู่ Digital Economy อย่างแท้จริง รวมทั้งเร่งพัฒนาทุนมนุษย์ การศึกษสายอาชีพปฏิรูปราชการ ปฏิรูปงบประมาณท้องถิ่นและต่อต้านคอร์รัปชั่นเต็มรูปแบบ
“เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่บั่นทอน และขัดขวางการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด โดยทีดีอาร์ไอ เคยประเมินไว้ว่าในแต่ละปีความสูญเสียจากการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าว เกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย ซึ่งประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์เปิดเผยเรื่องทุจริต ขณะที่ภาครัฐ ต้องนำเรื่องเทคโนโลยีแพลทฟอร์มออนไลน์เข้ามาใช้ในการให้บริการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสามารถติดตามได้อย่างรวดเร็ว”
ทั้งนี้ จุดยืนของประเทศไทยท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความรุนแรงและลุกลามในหลายภูมิภาค ไทยเป็นประเทศขนาดเล็กและต้องพึ่งพาการค้ากับต่างประเทศ จุดยืนของไทยคือการรักษาความสมดุล ในขณะเดียวกันต้องมองเป็นโอกาสของไทย ในภาพใหญ่ในวันนี้ภูมิภาคเอเชียกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งไทยได้เปรียบในด้านที่ตั้ง และการหาตลาดใหม่ที่ไร้ความขัดแย้ง เช่น ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา
“ขณะที่ห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกหยุดชะงัก ก็เป็นโอกาสที่ไทยสามารถเจาะช่องว่างและเข้าไปเป็นซัพพลายเชนใหม่ของโลกรวมทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่จะต้องเร่งดึงการลงทุนต่างประเทศตามอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาสู่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)”