‘งบฯ 67’ ล่าช้าประกาศใช้ มี.ค.ปีหน้า ลุ้นรัฐบาลขั้วใหม่รื้อกรอบงบฯ 3.35 ล้าน

‘งบฯ 67’ ล่าช้าประกาศใช้ มี.ค.ปีหน้า  ลุ้นรัฐบาลขั้วใหม่รื้อกรอบงบฯ 3.35 ล้าน

“สำนักงบฯ” ส่งสัญญาณการจัดทำงบปี 67 ล่าช้า หลังตั้งรัฐบาลใหม่ คาดประกาศใช้ได้ในไตรมาส 1 ปี 67 จากปกติเริ่มใช้เดือน ต.ค. รัฐบาลใหม่มีอำนาจรื้อกรอบงบประมาณได้ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำกรอบงบประมาณ 4 หน่วยงานศก.เตรียมปฏิทินงบฯใหม่คู่ไปกับงบ 68 เหมือนปี 62 ที่มีการเลือกตั้ง

Key Points

  • การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีผลต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567
  • สำนักงบประมาณคาดว่าจะประกาศใช้งบประมาณใหม่ได้ในไตรมาส 1 ปี 2567
  • การจัดสรรงบประมาณให้แต่ละหน่วยงานปรับเพิ่ม10% ตามภารกิจที่เพิ่มขึ้น
  • กระทรวงมหาดไทยได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุด351,985 ล้านบาท

การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ครั้งนี้จะเป็นปีที่พิเศษกว่าครั้งก่อน เพราะเป็นปีที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการจัดทำกรอบงบประมาณไว้ที่ 3.35 ล้านล้านบาท เป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล 593,000 ล้านบาท โดยจะจัดสรรให้ส่วนราชการมากกว่าปีงบประมาณ 2566 ถึง 10% เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายและภารกิจที่เพิ่มขึ้น

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า หลังจากที่ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยปกติจะเป็นขั้นตอนที่เสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่การจัดทำงบประมาณ 2567 อยู่ในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ขั้นตอนทางกฎหมายต้องหยุดเอาไว้ก่อนเพื่อให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาหลังจากการเลือกตั้งได้มีการทบทวนรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ก่อนที่จะเดินหน้าตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

 

 

ทั้งนี้ ในปีที่มีการเลือกตั้งเหมือนกับในปีนี้ การจัดทำงบประมาณจะล่าช้าไปจากปกติ จากเดิมที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีจะประกาศใช้ประมาณเดือน ก.ย.-ต.ค. แต่เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่รัฐบาลที่เข้ามาจะมีขั้นตอนของการทบทวนรายละเอียดของงบประมาณในส่วนต่างๆ ซึ่งสำนักงบประมาณคาดว่าแม้ว่าจะมีความล่าช้าออกไปแต่จะอยู่ในกรอบระยะเวลา 3-6 เดือน โดยกรณีที่ล่าช้าที่สุดคาดว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะประกาศใช้ได้ไม่เกินไตรมาสที่ 1 ปี 2567 หรือไม่เกินเดือน มี.ค.2567

รัฐบาลใหม่มีอำนาจรื้องบ

นอกจากนี้ ในการทบทวนหรือจัดทำงบประมาณปี 2567 ใหม่นั้นถือเป็นอำนาจของรัฐบาลใหม่ โดยสามารถเลือกที่จะนำกรอบงบประมาณเดิม และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ที่รัฐบาลเดิมจัดทำไว้ ที่วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 5.93 แสนล้านบาทมาใช้ในการจัดทำงบประมาณปี 2567 ต่อไปได้เลยซึ่งการจัดทำงบประมาณก็จะทำได้เร็ว เนื่องจากมีกรอบในการจัดทำงบประมาณเดิมอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลใหม่ทบทวนแล้วต้องการจัดทำงบประมาณใหม่ทั้งหมดตั้งแต่การจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณที่กำหนดโดยหน่วยงานเศรษฐกิจ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง กำหนดกรอบงบประมาณร่วมกับรัฐบาลก็สามารถที่จะทำได้เช่นกันแต่ก็จะใช้เวลานานหลายเดือน เนื่องจากมีขั้นตอนตามกฎหมายวิธีการจัดทำงบประมาณที่ต้องดำเนินการ

“การจัดทำงบประมาณในปี 2567 มีปัจจัยเรื่องของพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้าด้วย หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปจากเดิม ก็เป็นไปได้ที่จะมีการทบทวนกรอบและรายละเอียดของงบประมาณใหม่ ซึ่งอาจจะทำให้ใช้ระยะเวลาในการจัดทำงบประมาณเพิ่มขึ้น"

‘งบฯ 67’ ล่าช้าประกาศใช้ มี.ค.ปีหน้า  ลุ้นรัฐบาลขั้วใหม่รื้อกรอบงบฯ 3.35 ล้าน  

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณจะเตรียมประกาศเกณฑ์ในการใช้งบประมาณไปพลางก่อน และเสนอปฏิทินงบประมาณใหม่ให้กับรัฐบาลใหม่ได้รับทราบหลังจากที่รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศแล้ว ส่วนการจัดทำงบประมาณปี 2568 ก็จะทำควบคู่กันไปในช่วงที่รัฐบาลใหม่มีการทบทวนงบประมาณปี 2567 ซึ่งเหมือนกับในปี 2562 ที่มีการเลือกตั้ง การจัดทำงบประมาณในปีงบประมาณต่อไปก็ต้องทำควบคู่ไปด้วยเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า

จัดสรรให้หน่วยงานเพิ่ม10%

นอกจากนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท โดยเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล 5.93 แสนล้านบาทว่าในส่วนที่มีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับบางกระทรวงและหน่วยงานเพิ่มขึ้นจากปี 2566 มากกว่า 10% นั้นเพื่อรองรับค่าใช้จ่าย และภารกิจที่เพิ่มขึ้นของหน่วยงานโดยมีการพิจารณาตามความเหมาะสมและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมาแล้ว

สำหรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นให้กับกระทรวง และหน่วยงานรวมทั้งการปรับขึ้นค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นั้นเนื่องจากมาจากในส่วนของกรอบงบประมาณในปี 2567 เพิ่มขึ้น 1.65 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ทำให้สามารถจัดสรรงบประมาณเพิ่มในส่วนต่างๆที่มีความจำเป็นเพิ่ม 

ทั้งนี้ ในส่วนแรกการปรับเพิ่มค่าตอบแทนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ที่เพิ่มขึ้นปีละ 13,000 ล้านบาท รวมกับค่าตอบแทนของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และข้าราชการการเมืองขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมวงเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นต่อปีอีก 18,000 ล้านบาท ได้มีการจัดสรรไว้ในการจัดทำ พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณปี 2567 เรียบร้อยแล้ว

ชี้ภารกิจหน่วยงานเพิ่มขึ้น

สำหรับกระทรวงอื่นที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มในระดับ 10% หรือมากกว่า 10% เนื่องจากมีภารกิจและรายจ่ายเพิ่มเติมจากปีงบประมาณที่ผ่านมา เช่น กระทรวงการคลังได้รับการจัดสรรงบประมาณ 3.13 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 10.05% จากปี 2566 ที่ได้รับการจัดสรร 2.85 แสนล้านบาท เนื่องจากมีภาระการตั้งงบประมาณเบิกจ่ายการชำระหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 แสนล้านบาท และมีภาระที่จะต้องจ่ายค่าเบิกจ่ายการรักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มเติมในส่วนที่เกินกว่างบประมาณปี 2566 ได้ตั้งไว้เป็นวงเงินประมาณ 33,700 ล้านบาท

ส่วนกระทรวงแรงงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2567 วงเงินประมาณ 61,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.83% จากปี 2566 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 54,300 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการคืนเงินที่รัฐบาลค้างอยู่กับสำนักงานประกันสังคมซึ่งรัฐบาลต้องจ่ายสมทบให้กับผู้ประกันตน ซึ่งในอดีตมีบางรัฐบาลที่ไม่ได้จ่ายตามปกติซึ่งส่วนนี้รัฐบาลได้มีการจัดงบประมาณในการทยอยจ่ายให้กับสำนักงานประกันสังคมด้วย

เช่นเดียวสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการจัดงบประมาณในปี 2567 วงเงิน 35,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.06% จากปี 2566 ที่ได้รับการจัดสรร 32,100 ล้านบาท เนื่องจากมีภารกิจและกำลังคนที่จะปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การจัดงบประมาณที่เพิ่มขึ้นให้กับหน่วยราชการในปี 2567 รวมทั้งเงินเดือนของ อสม. , อสส.ผู้บริหารท้องถิ่นในระดับ อบต.รวมทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านจัดสรรให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น และภาระการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากมีการเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณจากปี 2566 ที่ผ่านมา 1.65 แสนล้านบาท ซึ่งได้พิจารณาจัดทำวงเงินตามความเหมาะสมและได้เสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบตามแล้ว

รายงานข่าวระบุว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 มีกระทรวงและหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 10 อันดับแรก ดังนี้ 1.กระทรวงมหาดไทย 351,985 ล้านบาท 2.กระทรวงศึกษาธิการ 330,512 ล้านบาท 3.กระทรวงการคลัง 313,822 ล้านบาท 4.กระทรวงกลาโหม 198,562 ล้านบาท

5.กระทรวงคมนาคม 183,950 ล้านบาท 6.กระทรวงสาธารณสุข 170,369 ล้านบาท 7.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 127,669 ล้านบาท 8.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 117,142.9 ล้านบาท 9.กระทรวงแรงงาน 61,841.1 ล้านบาท 10.สำนักนายกรัฐมนตรี 35,423.3 ล้านบาท