‘จุฬา’ เลขาธิการ EEC คนใหม่ เข็น ‘ไฮสปีดเทรน-อู่ตะเภา’ ตอกเสาเข็ม

‘จุฬา’ เลขาธิการ EEC คนใหม่ เข็น ‘ไฮสปีดเทรน-อู่ตะเภา’ ตอกเสาเข็ม

“จุฬา” เลขาธิการอีอีซีคนใหม่ เร่งเครื่องทำงาน เคลียร์ 2 เมกะโปรเจ็กต์ หนุน “UTA” ลงทุนเมืองการบินอู่ตะเภา 4 หมื่นล้าน หลังมาสเตอร์แพลนเสร็จ เปิดประมูลรันเวย์ใหม่ พ.ค.นี้ เร่งเคลียร์ปมสัญญาไฮสปีดเทรน ยืนยัน “ร.ฟ.ท.-ซีพี” ไม่ยกเลิกสัญญา ดันแผนลงทุน 5 ปี 2.2 ล้านล้านบาท

Key Points

  • ‘จุฬา สุขมานพ’ เลขาธิการ สกพอ.คนที่ 2 เข้ารับหน้าที่ต่อจาก ‘คณิศ แสงสุพรรณ’
  • ภารกิจเร่งด่วนของอีอีซี คือการเร่งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ยังเริ่มก่อสร้างไม่ได้
  • UTA มีแผนพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภารองรับท่องเที่ยว โลจิสติกส์ ซ่อมบำรุงอากาศยาน
  • การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนรถไฟควมเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับ CP ยังไม่ได้ข้อสรุป

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เข้าสู่ปีที่ 5 เมื่อนับตั้งแต่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ โดยในระยะแรกเป็นการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 4 โครงการ ซึ่งขณะนี้เริ่มก่อสร้างได้เพียง 2 โครงการ คือ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ที่มีความคืบหน้าตามแผนงาน

ในขณะที่อีก 2 โครงการยังไม่เริ่มก่อสร้าง ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับบริษัท เอเชียเอรา วัน จำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ลงนามไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 โดยขณะนี้อยู่ขั้นตอนแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน

รวมถึงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด (UTA) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 โดยขณะนี้อยู่ขั้นตอนการเตรียมสงมอบพื้นที่

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งขับเคลื่อนในการเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ สกพอ.ได้แก่ การบริหารโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 4 โครงการ เพื่อผลักดันการลงทุนหลักอีอีซี โดยจะมีการเร่งเจรจากับเอกชนเพื่อหาทางออกเพื่อบรรเทาปัญหาให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วและให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนภายในปี 2566

สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ได้ข้อสรุปการปรับแผนการลงทุนแล้ว โดยกองทัพเรือจะเปิดประมูลก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ความยาว 3,500 เมตร ภายในเดือน พ.ค.2566 และจะส่งหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ให้บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เพื่อดำเนินการก่อสร้างส่วนอาคารผู้โดยสารได้

ลดขนาดอาคารผู้โดยสาร

รวมทั้งจะเจรจาปรับแผนการก่อสร้าง โดยแบ่งการก่อสร้างเพิ่มเป็น 6 เฟส และลดขนาดอาคารผู้โดยสารลงตามดีมานต์ของอุตสาหกรรมการบินที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้แนวโน้มผู้โดยสารไม่เป็นไปตามการคาดการณ์เดิม

ทั้งนี้ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เตรียมแถลงแผนการลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก พื้นที่ 6,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 40,000 ล้านบาท ซึ่งปรับจากเดิมที่มีแผนลงทุน 4,000 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์กลางการบินและเมืองธุรกิจสำคัญ ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน

สำหรับพื้นที่ดังกล่าวได้รับอนุมัติสิทธิประโยชน์ 10 ปีแรกให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) สนับสนุนการเป็นเมืองท่องเที่ยวและธุรกิจ 24 ชั่วโมง เป็นเขตปลอดอากรและสรรพสามิต รวมทั้งภาษีสรรพากรบางกรณี อีกทั้งสนับสนุนการออกวีซ่าและใบอนุญาตการทำงานในลักษณะ 5+5 ปี สำหรับผู้ทำงานและนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก

“โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจะเดินหน้าตามแผน ซึ่งจะดึงผู้ใช้บริการเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นรวมทั้งปัจจัยเหล่านี้ยังเป็นดีมานต์ที่เพิ่มขึ้นให้กับไฮสปีดเทรน”

แก้สัญญาไฮสปีดยังไม่จบ

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเร่งออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) และส่งมอบพื้นที่ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ซึ่งขณะนี้อยู่ขั้นตอนการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง ร.ฟ.ท.กับบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด โดยจะเพิ่มเงื่อนไขเปิดโอกาสให้เจรจาเพื่อชดเชยและผ่อนผันให้เอกชนในกรณีเหตุสุวิสัยที่ไม่สามารถควบคุมได้

“สกพอ.ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างที่ยังตกลงกันไม่ได้ แต่ยังไม่เห็นท่าทีในการยกเลิกสัญญาจากทั้ง 2 ฝ่ายแต่อย่างใดโดยเอกชนจะยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หลังจากที่แก้ไขสัญญาแล้ว ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะเริ่มก่อสร้างเมื่อไหร่และแล้วเสร็จเมื่อใด”

จุฬา สุขมานพ โชว์วิสัยทัศน์เลขาฯอีอีซีใหม่

สำหรับวิสัยทัศน์และแนวทางการบริหารงานของ สกพอ.ปี 2566-2570 เน้นมุ่งมั่นบริหารงานให้อีอีซีก้าวไปสู่ “ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ยั่งยืน เป็นความหวังของคนไทย และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนและประชากรนานาชาติ” 

ทั้งนี้ ภารกิจงานเร่งด่วนที่จะดำเนินการ คือ ทบทวนแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซีให้สอดคล้องกับบริบทโลกในอนาคตที่จะศึกษาถึงปัจจัยจากสถานการณ์ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เช่น ผลกระทบจากโควิด-19 การถดถอยของเศรษฐกิจโลก การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงแนวโน้มและทิศทางของเทรนด์อุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อทำให้แผนภาพรวมของอีอีซีฉบับใหม่รองรับการลงทุนอีก 5 ปีข้างหน้า และเพิ่มขีดความสามารถในการชักจูงนักลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ สอดคล้องรับกับแนวโน้มสถานการณ์การลงทุนของโลก 

รวมทั้งแนวทางการสนับสนุนด้านการลงทุนซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญหลัก และเร่งสร้างความเชื่อมั่นดึงนักลงทุนสู่พื้นที่ ได้แก่ 

1.ที่ดิน (Land) ที่จะเตรียมความพร้อมและหารือร่วมกับนิคมอุตสาหกรรม เพื่อจัดสรรพื้นที่เชิญชวนให้เกิดการลงทุนเจาะเฉพาะแต่ละกลุ่มธุรกิจ 

2.ด้านแรงงาน (Labour) เตรียมพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูง นำเสนอเป็นแพคเกจเพื่อจูงใจนักลงทุน ที่อีอีซีจะมีบุคลากรพร้อมรองรับการทำงานตรงความต้องการอุตสาหกรรม 

3.Law and regulations เตรียมปรับปรุงกลไกทางกฎหมายและระเบียบให้ง่ายแก่การลงทุนและสามารถอำนวยความสะดวกแก่การเข้ามาประกอบกิจการในพื้นที่ 

4.Logistics infrastructure ผลักดันให้เพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนประกอบการ  

“สกพอ.คงเป้าหมายหลักในการดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท กระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต 5% ต่อปี ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิมที่วางไว้และจะต้องผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด”

ดันการลงทุนปีละ 4 แสนล้าน

นอกจากนี้ จะมีการผลักดันลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ขับเคลื่อนโครงการเดิม เริ่มโครงการใหม่ เพื่อดึงดูดการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมาย 2.2 ล้านล้านบาท เกิดการลงทุนปีละ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในฐานปกติปีละ 250,000 ล้านบาท
และการลงทุนในส่วนเพิ่มที่อีอีซี เน้นการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น การแพทย์สมัยใหม่ โลจิสติกส์ นวัตกรรมด้านเกษตร อุตสาหกรรม BCG โดยจะเน้นดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศที่มีศักยภาพตรงรวมปีละ 150,000 ล้านบาท 

“อีอีซีเตรียมจัดกิจกรรมโรดโชว์ยุโรป โฟกัสที่นักลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ที่อิตาลี เพื่อคุยกับบริษัทผลิตยา OEM รายใหญ่ และอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าที่สวิตเซอร์แลนด์”

นอกจากนี้ ยังเตรียมความพร้อมการบริการด้านการลงทุน ด้วยการพัฒนาระบบ OSS เชื่อมโยงกับหน่วยงานผู้มีอำนาจอนุมัติ เพื่อให้บริการอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจรอย่างแท้จริง รวมถึงการพัฒนากำลังคนภายในของอีอีซี เพื่อสร้างให้เป็นนักขายที่มีความชำนาญเพื่อจูงใจนักลงทุนเฉพาะแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ตรงความต้องการให้เข้าสู่อีอีซี

"ปี  2566 อยู่ในช่วงโมเมนตัมการลงทุนจะเข้ามาในภูมิภาคมากขึ้น สิทธิประโยชน์ด้านการเงินจะไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจ แต่เป็นกฎระเบียบและการอำนวนความสะดวกด้านการลงทุนที่จะช่วยส่งเสริม รวมทั้งต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายนักลงทุนยิ่งขึ้น จะเห็นได้ชัดว่าที่ผ่านมาเกิดการจองและการเข้าเจรจาการลงทุนต่อเนื่องในอีอีซี"

เร่งยกระดับชุมชนฐานราก

นอกจากนี้ จะมีแผนงานยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่พื้นฐานร่วมกับชุมชน แผนงานที่สำคัญ ได้แก่ ผลักดันการพัฒนาบุคลากร ร่วมกับ ภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาความเป็นอยู่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาธุรกิจในพื้นที่ สร้างอาชีพเพิ่มรายได้ และผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอีอีซี เพิ่มบทบาทเครือข่ายประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์และมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการพัฒนาอีอีซี

รวมทั้งมีภารกิจที่จะเข้าไปดำเนินการด้านพื้นที่และชุมชน ซึ่งถือเป็นฐากรากสำคัญ เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนต่อเนื่องอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเศรษฐกิจชุมชนที่มีศักยภาพ โดยจะเร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน e-commerce การพัฒนาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ wellness ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ อีอีซี เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงพัฒนาด้านการศึกษา และจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในอีอีซี ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

รวมทั้งจะผลักดันโครงการลงทุน PPP ใหม่ที่สำคัญ อาทิ โครงการโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ซึ่งจะยกระดับด้านบริการสาธารณสุขให้คนในพื้นที่อีอีซี ในอนาคตอันใกล้อีกด้วยเพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ และแสดงภาพรวมความก้าวหน้าที่อีอีซี ดำเนินการได้ตามแผนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนใหม่ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก

“ยอมรับว่าตอนนี้อีอีซีแผ่วลงไปบ้าง แต่อีอีซีเป็นของดี ตั้งแต่ที่มาและจะเป็นต่อไป แม้ว่ารัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะอยู่คนละขั้วการเมืองกับรัฐบาลเดิม และมีนโยบายสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นๆ แต่อีอีซีจะยังเดินหน้าต่อได้ด้วยกฎหมายของตัวเอง รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคเอกชนไทยที่เป็นผู้ลงทุนหลักในพื้นที่นี้” สกพอ.