'สภาองค์กรของผู้บริโภค' วอนรัฐแก้ไขผลิตไฟล้นระบบ
เครือข่ายพลังงานภาคประชาชน วอนทุกรัฐบาลรับฟังเสียง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระค่าครองชีพ
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า แผนกำลังผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินระบบ ทางเครือข่ายพลังงานภาคประชาชน ที่รวมตัวกัน ในนามเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย รวมถึง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้พยายามผลักดัน-ต่อสู้ นำเสนอต่อทุกรัฐบาลให้แก้ไขในเชิงระบบ แต่ปลายทางไม่เคยมีปฏิกิริยาตอบกลับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้เกิดภาระ สร้างความเดือดร้อน ต่อประชาชน ที่เห็นชัดเจน เป็นรูปธรรม นั่นคือ ค่าไฟฟ้า ซึ่งกระโดดขึ้นมาที่ 3 บาทปลาย ๆ และจะพุ่งพรวดอีก หากต้นทุนไม่ลด ยกตัวอย่างเช่น ประชาชน จ่ายค่าไฟฟ้า หน่วยละ 4-5 บาท
ดังนั้น หากใช้ไฟฟ้ารวมกันทั้งประเทศ เป็นจำนวนแสนล้านหน่วย เมื่อนำ 4 บาท คูณ 1 แสนล้านหน่วย เท่ากับ 4 แสนล้านบาทต่อปี ถือเป็นกระแสเงินสดชั้นดีที่รัฐบาล ไม่ยอมทิ้งเด็ดขาด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าผู้สนับสนุน คือ ธนาคาร, สถาบันการเงิน, กลุ่มปล่อยเงินกู้, รวมถึง อุตสาหกรรมกิจการไฟฟ้าล้วนตอบสนองต่อผลประโยชน์จำนวนมหาศาล
นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan) ที่ต้องจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว 15 -20 ปี ทุกขั้นตอนจะมีกฎหมายรองรับแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน ตั้งแต่ กระทรวงพลังงาน มาถึงหน่วยงานภายใต้สังกัด ได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม้กระทั่งตัวเลขที่ว่าต้องมีพลังงานไฟฟ้า จำนวนเท่าไหร่ ก็ถูกตั้งเรื่องมาจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งระบุว่าเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวตามความต้องการของรัฐบาลที่ใช้หาเสียง
และที่สำคัญการจะผลิตไฟฟ้า หรือ เกิดโรงไฟฟ้าใหม่ เพื่อสานต่อระบบโรงไฟฟ้า จะถูกแถลงต่อรัฐสภา ด้วยข้อความ ที่กล่าวว่า “จะใช้นโยบายด้านความมั่นคงทางพลังงานเป็นสำคัญ” ประเด็นนี้สำคัญมาก