ชลประทาน เข้มแผนจัดการน้ำแล้งรับมือฝนปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
กรมชลประทาน วาง5 มาตรการบริหารจัดการน้ำ รับมือฝนทิ้งช่วง กรมอุตุนิยมวิทยา คาดแนวโน้มปริมาณฝนในปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย วอนเกษตรกรงดทำนาปรังรอบ2 หนุนระบายน้ำตามแผน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มที่จะเกิดฝนทิ้งช่วง ด้วยปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลให้ปริมาณฝนในปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ย กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการตาม 5 มาตรการหลัก อาทิ
1. บริหารจัดการน้ำเพื่อให้น้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดทั้งปี
2. บริหารน้ำท่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
3. ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลัก
4. เก็บกักน้ำในอ่างให้มากที่สุด
และ5. วางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันภัยทางน้ำ
โดยเน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศติดตามสภาพอากาศและสภาพฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนที่จะถึง เน้นย้ำให้ทุกโครงการฯวางแผนกักเก็บน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้ในอนาคตให้มากที่สุด รวมถึงสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือในการกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกร งดทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 เพื่อให้การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ที่สำคัญเพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตให้มากที่สุดด้วย
สำหรับ(7 เม.ย. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 47,914 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯรวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,699 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯรวมกัน ในขณะที่มีการใช้น้ำทั้งประเทศไปแล้วกว่า 21,517 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.)
เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 7,761 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.14 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 97 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้ว 6.37 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนฯ