อย่าประมาทเงินเฟ้อครึ่งปีหลัง | บัณฑิต
อาทิตย์ที่แล้วสํานักข่าวซีเอ็นบีซี ประเทศไทย ขอสัมภาษณ์ผมหลังตัวเลขเงินเฟ้อไทยเดือนมีนาคมลดตํ่ากว่าคาด และกลุ่มประเทศโอเปคพลัสประกาศลดการผลิตน้ำมันลง ส่งผลให้ราคานํ้ามันพุ่งสวนทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ถามความเห็นผมเรื่องเงินเฟ้อ ราคานํ้ามัน และอัตราดอกเบี้ยครึ่งปีหลัง วันนี้จึงอยากแชร์ความเห็นผมที่ให้ไปให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 2.83 ลดลงเกือบหนึ่งเปอร์เซ็นต์จากเดือนกุมภาพันธ์ มากกว่าที่นักวิเคราะห์ในตลาดการเงินคาด เป็นอัตราเงินเฟ้อตํ่าสุดในรอบ 15 เดือน
การปรับลดเป็นผลจาก 3 ปัจจัย
1.ราคาน้ำมันและราคาอาหารที่ลดลง
2.การชะลอตัวของเศรษฐกิจของเรา และ
3.บทบาทภาครัฐที่แอคทีฟในการควบคุมราคา ผ่านการประกาศรายการสินค้าควบคุมและการใช้เงินกองทุนน้ำมันอุดหนุนไม่ให้ราคาน้ำมันและราคาก๊าซในประเทศปรับสูงขึ้น
อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำทำให้ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อปีนี้ทั้งปีลง
กระทรวงพาณิชย์ปรับลงเหลือร้อยละ 2.2 ขณะที่แบงค์ชาติปรับลงเหลือร้อยละ 2.9 สังเกตได้ว่าตัวเลขสองตัวนี้ต่างกันมาก
คาดว่าที่แบงค์ชาติมองเงินเฟ้อปีนี้จะไม่ลดลงเร็ว ก็เพราะยังห่วงความไม่แน่นอนที่มีอยู่มากในเศรษฐกิจโลก ที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นประเด็นอีกช่วงครึ่งปีหลัง ไม่ใช่ขาลงทางเดียวเหมือนขับรถลงเขาอย่างที่อยากเห็น ซึ่งผมเห็นด้วย
ในการสัมภาษณ์ ผมให้ความเห็นว่าเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีหลังยังวางใจไม่ได้ เพราะอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปยังอยู่ในเกณฑ์สูง
และช่วงครึ่งปีหลัง มีความไม่แน่นอนที่เป็นความเสี่ยงสำคัญอย่างน้อยอีกสองเรื่องที่ต้องจับตา เพราะสามารถมีผลโดยตรงทั้งต่อเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกและเงินเฟ้อในประเทศเรา
ความเสี่ยงเเรกคือ ราคาน้ำมัน ในทางเศรษฐศาสตร์ ราคานํ้ามันในตลาดโลกควรปรับลงต่อเนื่องช่วงครึ่งปีหลังตามการชะลอของเศรษฐกิจโลก
กดดันให้อัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกยิ่งลดลง และลดความจำเป็นที่ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ย นําเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ความสมดุล
ระหว่างอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงตํ่ามากพอ กับอัตราดอกเบี้ยที่ได้เพิ่มขึ้นสูงมากพอสําหรับรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับตํ่า และสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ นี่คือสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตาม การรวมตัวของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน 23 ประเทศคือ กลุ่มโอเปคพลัสที่ลดการผลิตน้ำมันดิบในตลาดโลกลงมากกว่าหนึ่งล้านบาร์เรลต่อวัน
ได้เปลี่ยนภาพเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังไปพอควร เพราะเป็นการแทรกแซงตลาดนํ้ามันโลกไม่ให้ราคาปรับลงอย่างที่ควรจะเป็น คือต้องการควบคุมราคานํ้ามันให้อยู่ในระดับ 70-80 เหรียญต่อบาร์เรลเพื่อหารายได้
ผลคือราคานํ้ามันอยู่สูงกว่าที่ควรจะเป็น กระทบความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก กระทบเงินเฟ้อ และการขยายตัวของเศรษฐกิจ
พูดได้ว่ากลุ่มโอเปคพลัสได้ใช้อํานาจของผู้ผลิตรายใหญ่ ที่ควบคุมอุปทานนํ้ามันในตลาดโลกกว่าร้อยละ 40 ตรึงราคานํ้ามันให้สูงกว่าที่ควรเพื่อหารายได้
คําถามคือการใช้อำนาจดังกล่าวจะยืนระยะหรือ sustain ได้หรือไม่ นานแค่ไหน
เพราะชัดเจนว่าราคานํ้ามันที่แพง จะทำให้เศรษฐกิจโลกยิ่งชะลอ ความต้องการใช้น้ำมันจะยิ่งลดลง ทำให้รายได้ของกลุ่มโอเปคพลัสจากการขายนํ้ามันอาจลดลงตามไปด้วยแม้ราคาจะสูง คือของแพงเกินไม่มีใครซื้อ ผู้ใช้น้ำมันประหยัดมากขึ้น
นอกจากนี้ ประเทศนอกกลุ่มโอเปคพลัส เช่น สหรัฐและกลุ่มสแกนดิเนเวียที่ผลิตน้ำมันก็อาจขยายการผลิต กดดันให้ราคานํ้ามันในตลาดโลกลดลง ทําให้ราคาน้ำมันจะไม่สามารถยืนระยะได้ในระดับที่กลุ่มโอเปคพลัสต้องการ
นี่คือความไม่แน่นอนที่มีอยู่ ทำให้ราคาน้ำมันจะสูงเกินจริงและผันผวนมากช่วงครึ่งปีหลัง และที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ตลาดน้ำมันโลกขณะนี้มีประเด็นภูมิศาสตร์การเมืองหรือ Geopolitics เข้ามาบวกอยู่ด้วย
จากบทบาทนําของซาอุดีอาระเบียในการแทรกแซงตลาดนํ้ามันโลกคราวนี้ รัสเซียที่อยู่ในกลุ่มโอเปคพลัส และสหรัฐที่เศรษฐกิจถูกกระทบมากสุดเพราะเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก
นัยทางภูมิศาสตร์การเมืองเช่นนี้ ทําให้การแก้ปัญหาในตลาดน้ำมันโลกจะยิ่งยากขึ้น ไม่จบง่าย มีเดิมพันสูง กลายเป็นประเด็นการเมืองที่ต้องแก้ด้วยการเมือง
ผลคือความไม่ปรกติในตลาดน้ำมันโลกอาจยืนอยู่นาน ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ย
ความเสี่ยงที่สอง คือประเทศเราเอง ถ้าราคานํ้ามันในตลาดโลกกลับไปสูงกว่าระดับปัจจุบัน แรงกดดันต่อเงินเฟ้อในประเทศก็จะเพิ่มมากขึ้นเพราะเราพึ่งนํ้ามันมาก กระทบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศ
คําถามคือ ถ้าราคานํ้ามันกลับไปสูง ในแง่การเงิน รัฐบาลจะสามารถอุดหนุนเพื่อควบคุมราคานํ้ามันในประเทศให้ตํ่ากว่าที่ควรจะเป็นต่อไปได้หรือไม่
เพราะภาระการขาดทุนของกองทุนนํ้ามันขณะนี้มีมากเกือบแสนล้านบาท ยิ่งราคานํ้ามันสูงขึ้น การขาดทุนก็จะยิ่งมากขึ้น และในที่สุดก็จะกระทบฐานะการคลังของประเทศ
ความเสี่ยงต่อฐานะการคลังของประเทศ อาจทำให้นโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันไม่สามารถยืนระยะได้ คือไม่ sustain
รัฐบาลต้องเริ่มนึกถึงการลดการอุดหนุน เปลี่ยนมาเป็นการแชร์ cost หรือแชร์ต้นทุนอย่างมีเหตุมีผล และคงการอุดหนุนไว้เฉพาะที่จำเป็น ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ ในการเมืองแบบบ้านเรา
นี่คือเหตุผลว่าทำไมเงินเฟ้อครึ่งปีหลังยังวางใจไม่ได้ และถ้าเงินเฟ้อประเทศเรายังสูงครึ่งปีหลังโดยเฉพาะสูงกว่าระดับร้อยละสองซึ่งเป็นเป้าของนโยบายการเงิน และ อัตราดอกเบี้ยแท้จริงยังติดลบ
คืออัตราเงินเฟ้อสูงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็มีเหตุผลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ ไม่หยุดง่ายๆ เหมือนที่นักลงทุนอยากเห็น
นี่คือความเห็นที่ให้ไป.
เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล