‘สถาบันอนาคตไทยฯ’ติงนโยบายแจกเงิน แนะรัฐบาลมุ่งลงทุน-ปรับโครงสร้างศก.
'สถาบันอนาคตไทยศึกษา' ชี้นโยบายกู้เงินมาแจกไม่ยั่งยืนต่อเศรษฐกิจ แนะใช้เงินให้มีประสิทธิภาพ หนุนนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มขีดแข่งขันประเทศ ดูแลเรื่องการกระจายรายได้ ชี้อย่าประมาทหนี้สาธารณะไทยยังอยู่ 60% แต่หากเกิดวิกฤติอาจเพิ่มมากขึ้นเร็ว
ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา และ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อ "หายนะทางการคลัง พรรคการเมืองทุ่มแจกเงิน ลดหนี้ แลกคะแนนเสียง" ในรายการ "Deep Talk" กรุงเทพธุรกิจ ที่เผยแพร่ทางยูทูปและเฟซบุ๊คของกรุงเทพธุรกิจ ว่ากล่าวว่า ยุคปัจจุบันเป็นโลกที่มีความผันผวนมากแบบที่เรียกว่าเป็น “perfect storm” เช่น การผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในระดับ 10% ภายในสัปดาห์เดียว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของภาวะโลกร้อนที่จะมากระทบไทยมาก และมีเรื่องของสงครามที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งประเทศไทยต้องแข็งแรงด้วยตัวเอง ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นหมากในเกมให้เขาผลักไปผลักมาได้
“นโยบายของเศรษฐกิจที่ดีคือนโยบายที่มีความยืดหยุ่น (Reserlince) และนโยบายที่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว (agile) ซึ่งมีความสำคัญต่อการจัดทำนโยบายเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศมีภูมิต้านทานจากผลกระทบภายนอกและสามารถที่จะยืนบนขาตัวเองได้”
ทั้งนี้นโยบายทางเศรษฐกิจจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ต้องใช้มาตรการในระยะสั้นควบคู่ไปกับมาตรการระยะยาว เวลาที่เศรษฐกิจช็อคจากวิกฤติต้องใช้มาตรการระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหา
แต่ในระยะยาวนโยบายที่ดีต้องเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไม่ใช่นโยบายที่มีการแจก แถม ประชานิยมต่อเนื่อง คนจะเสพติดกับการรับแจก และเป็นการซื้อเสียงทางการเมือง เพราะนโยบายแบบนี้กระทบกับการคลังทำให้งบประมาณของประเทศร่อยหรอลงต่อเนื่องและไม่สร้างผลิตภาพการผลิตในระยะยาว ซึ่งไม่ดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
การจัดทำนโยบายหลายคนไปโฟกัสที่พรรคการเมืองที่ออกนโนบาย แต่ที่จริงแล้วคือต้องดูในส่วนของดีมานต์และซัพพาย ซึ่งภาพสะท้อนของนโยบายที่พรรคการเมืองออกมาคือภาพสะท้อนว่าคนใประเทศต้องการอะไร เหมือนกับเรื่องละครหลังข่าวคนทำนโยบายก็ตอบสนองคนดู ถ้าทำเฉพาะแจก แถม ไม่ได้มีดูเป้าหมายระยะยาว ก็จะมีปัญหา เพราะยังมีความต้องการจากคนส่วนใหญ่ในประเทศ
สำหรับภาระการคลังและหนี้สาธารณะของประเทศ แม้ว่าปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยเป็นเรื่องน่ากังวลไม้น้อย เพราะแม้จะอยู่ระดับที่ 60% ซึ่งที่จริงแล้วอาจยังไม่ได้สูงถึงขั้นวิกฤติ เพราะหลายหลายประเทศขึ้นไปสู่ระดับ 100%
ทั้งนี้หนี้สาธารณะของไทยที่อยู่ในระดับ 60% อาจไม่สูงแต่อาจจะเป็นเหมือนเราเป็นกบที่อยู่ในน้ำร้อนที่กำลังต้ม แม้ว่าเราจะยังมีทรัพยากรในเรื่องที่จะกู้เงินได้มีพื้นที่ทางการคลัง แต่ถ้ายังกู้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดอิ่มตัวที่หน้าตักเราหมดจะน่ากลัวมาก
"สิ่งสำคัญที่ต้องตอบให้ได้ คือ การกู้เงินของรัฐบาลนำมาทำอะไร เพราะถ้ากู้เพื่อนำไปกระตุ้นบริโภค กระตุ้นการท่องเที่ยวสุดท้ายก็อาจก่อหนี้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด แต่ถ้ากู้มาแล้วมาสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจ และเพิ่มผลิตภัณฑ์เพิ่ม ทำให้รายได้เพิ่มก็เป็นสิ่งที่ดีที่ต่อยอดได้"
ดังนั้นต้องทำให้จีดีพีหรือประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น K shape ทำให้ความเหลื่อมล้ำมาก ต้องดูว่าที่เพิ่มขึ้นนั้นเงินไปอยู่ในกระเป๋าใคร
เพราะเมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำมากจากปัญหาเศรษฐกิจจะกลายเป็นปัญหาสังคมได้เมื่อคนจนมากๆ คนเป็นหนี้เป็นสินมากๆ ปัญหาอาชญากรรมก็จะตามมาซึ่งปัญหาสังคมนั้นจะแก้ยากกว่าปัญหาเศรษฐกิจอีกเยอะ