ผู้โดยสารโปรดทราบ เมื่อเที่ยวบินล่าช้า ! เช็คสิทธิ์เยียวยาจากสายการบิน
กพท.ชวนผู้โดยสารเช็คสิทธิ์เยียวยาจากสายการบิน รับอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวก้าวกระโดด อาจเกิดกรณีเที่ยวบินล่าช้า ย้ำหากล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง แอร์ไลน์ต้องเริ่มมาตรการดูแล
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดข้อมูล “สิทธิของผู้โดยสาร กรณีเที่ยวบินภายในประเทศล่าช้า” เพื่อเป็นการเน้นย้ำสิทธิ์ที่ผู้โดยสารจะต้องได้รับจากสายการบิน ในกรณีที่เที่ยวบินภายในประเทศล่าช้า เป็นไปตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 โดยมีข้อกำหนด ประกอบด้วย
ล่าช้าเกิน 2 - 3 ชั่วโมง
- อาหาร – เครื่องดื่ม
- สายการบินต้องจัดอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารตามความเหมาะสมกับระยะเวลาที่รอขึ้นเครื่องบินโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- อำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสาร
- สายการบินต้องจัดอุปกรณ์ให้แก่ผู้โดยสารเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารด้วยวิธีการใดๆ เช่น โทรศัพท์ โทรสาร จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) เป็นต้น ตามความจำเป็นและเหมาะสมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- ได้รับค่าโดยสารคืน ถ้าไม่ต้องการเดินทางแล้ว
- เมื่อผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อไปให้สายการบินคืนเงินค่าโดยสาร และค่าธรรมเนียมอื่นใดที่เรียกเก็บเต็มตามจำนวน ซึ่งผู้โดยสารได้ชำระไปสำหรับการเดินทางหรือเฉพาะส่วนที่ยังไม่ได้เดินทางตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่หากสายการบินประสงค์จะคืนเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะต้องได้รับความยินขอมจากผู้โดยสารก่อนแล้วเท่านั้น
ล่าช้าเกิน 3 – 5 ชั่วโมง
- อาหาร - เครื่องดื่ม
- อำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสาร
- ได้รับค่าโดยสารคืนถ้าไม่ต้องการเดินทางแล้ว/หรือเปลี่ยนเที่ยวบิน/หรือเดินทางโดยการขนส่งอื่น
ล่าช้าเกิน 5 – 6 ชั่วโมง
- อาหาร – เครื่องดื่ม
- อำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสาร
- ได้รับค่าโดยสารคืนถ้าไม่ต้องการเดินทางแล้ว/หรือเปลี่ยนเที่ยวบิน/หรือเดินทางโดยการขนส่งอื่น
- ได้รับค่าชดเชย 600 บาท (ยกเว้นสายการบินพิสูจน์ได้ว่าล่าช้าเพราะเหตุสุดวิสัย)
ล่าช้าเกิน 6 ชั่วโมง หรือกรณีถูกยกเลิกเที่ยวบิน
- อาหาร – เครื่องดื่ม
- อำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสาร
- ได้รับค่าโดยสารคืนถ้าไม่ต้องการเดินทางแล้ว/หรือเปลี่ยนเที่ยวบิน/หรือเดินทางโดยการขนส่งอื่น
- ที่พักพร้อมการรับส่งระหว่างสนามบินกับที่พักถ้าต้องค้างคืน
- ได้รับค่าชดเชย 1,200 บาท (ยกเว้นสายการบินพิสูจน์ได้ว่าล้าช่าเพราะเหตุสุดวิสัย)
โดยข้อกำหนดในการคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่น หรือเงินส่วนต่างให้แก่ผู้โดยสาร ด้วยวิธีการที่ผู้โดยสารเลือก เช่น เงินสด โอนผ่านบัญชีธนาคาร เช็คธนาคาร เป็นต้น ภายในระยะเวลาที่นับจากวันซึ่งสายการบินได้รับแบบแสดงความจำนงและเอกสารที่จำเป็นครบถ้วนแล้ว ดังนี้
1.กรณีผู้โดยสารซื้อบัตร โดยสารด้วยเงินสดต้องดำเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 วัน
2.กรณีผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารด้วยบัตรเครดิตต้องดำเนินการคืนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน
รายงานข่าวจาก กพท.ออกมาระบุด้วยว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันปริมาณความต้องการเดินทางภายในประเทศมีสูงขึ้นมาก เนื่องจากภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าออกประเทศไทยมากกว่า 140,000 คนต่อวัน และเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ รวมกับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยเอง
ในขณะที่ความสามารถของระบบการบินซึ่งเพิ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินเพื่อรองรับปริมาณความต้องการได้เพียงพอ ส่งผลให้ปัจจุบันได้เห็นได้ว่าราคาค่าโดยสารในบางช่วงเวลาเป็นที่ต้องการมาก แม้จะมีราคาสูงมาก อีกทั้งเส้นทางบินในบางเที่ยวบินมียอดจองเต็ม และสถานการณ์ในขณะนี้หลายสายการบินยังอยู่ในช่วงของการบริหารเครื่องบิน ตารางเวลาบิน และอาจเกิดเที่ยวบินล่าช้า