รัฐบาลตั้งเป้า ส่งออกผลไม้สด-แปรรูป ปี'66 ที่ 4.44 ล้านตัน

รัฐบาลตั้งเป้า ส่งออกผลไม้สด-แปรรูป ปี'66 ที่ 4.44 ล้านตัน

​โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลตั้งเป้าส่งออกผลไม้สด-แปรรูปปี 2566 ที่ 4.44 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อน 10% พร้อมยินดี "ปลาช่อนไทย" ได้โควต้าส่งออกไปเวียดนาม 100 ตัน

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบถึงมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2566 และเแผนการส่งออกผลไม้ไทย ซึ่งตั้งเป้าการส่งออกผลไม้สดและแปรรูปไว้ที่ 4.44 ล้านตัน รวมถึงยินดีที่ “ปลาช่อนไทย” ได้รับความนิยมในประเทศเวียดนาม ซึ่งล่าสุดเกิดความร่วมมือผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) จับคู่ธุรกิจระหว่างกันทำให้ไทยได้โควต้าการส่งออกปลาช่อน 100 ตัน 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชนหารือร่วมกันเพื่อเตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2566 เตรียมตลาดล่วงหน้าเพื่อรองรับผลไม้ ด้วยการใช้ 22 มาตรการเชิงรุก ที่ครอบคลุม 4 ด้าน ตั้งแต่ การผลิต การตลาดในประเทศ รณรงค์การบริโภคผลไม้ไทย เจาะตลาดใหม่ในต่างประเทศ ตลอดจนด้านกฎหมายที่มุ่งเจรจามาตรการทางการค้าเพื่อลดอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศคู่ค้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกผลไม้สดและแปรรูปไว้ที่ 4.44 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อน 10%

โดยเฉพาะด้านการส่งออกทุเรียน ซึ่งในปี 2566 นี้ ตั้งเป้าการส่งออกทุเรียนให้ได้ที่ 100,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมามีการลงพื้นที่หลายจังหวัดในภาคตะวันออก เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ช่วงการตัดทุเรียนหมอนทอง โดยกำชับให้เกษตรกรห้ามตัดทุเรียนอ่อน ให้ตัดทุเรียนตามกำหนดเก็บเกี่ยวของแต่ละจังหวัดอย่างเคร่งครัด ในแนวทาง 3 ประสาน ทั้งเกษตรกร โรงรับซื้อผลไม้ และ มือตัด ซึ่งเชื่อมั่นว่า การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวข้างต้น จะช่วยแก้ปัญหาจำนวนผลไม้ในตลาดได้ ทำให้ราคาผลไม้สูงขึ้น และสามารถดันยอดการส่งออกได้ตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับ รายงานถึงกระแสความนิยมของ “ปลาช่อนไทย”ในประเทศเวียดนาม เนื่องจากปลาช่อนไทย มีคุณภาพ มีความสดสะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และได้มาตรฐานสากล ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ได้มีการเจรจาข้อตกลงผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างจังหวัดกวางบิงห์ (Quang Binh) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และจังหวัดสกลนคร ราชอาณาจักรไทย ในการจับคู่ธุรกิจ 16 คู่ค้า ส่งเสริมแบรนด์สินค้าท้องถิ่น โดยเฉพาะปลาช่อนไทย และ ลูกพันธุ์ปลาช่อน ที่ไทยได้โควต้าในการส่งออกไปยังเวียดนาม 100 ตัน ซึ่งช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้ผู้ประกอบการเลี้ยงปลาช่อนไทย 

“รัฐบาลเชื่อมั่นในศักยภาพ การบริหารจัดการสินค้าเกษตรไทย และการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับชื่อเสียงสินค้าเกษตรไทยที่มีอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ที่มีมาตรการควบคุมตามมาตรฐาน รวมไปถึงการพยายามขยายตลาด และเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้กับประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอบคุณการทำงานบูรณาการความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การทำงานของประเทศชาติสำเร็จลุล่วง” นายอนุชาฯ กล่าว