'กฟผ.' รับ แบกค่า Ft หนัก 1.5 แสนล้าน ไหวแค่ 7 สตางค์ เร่งคืนหนี้เงินกู้ภายใน 2 ปี
“พลังงาน” ยันช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะบางครบกำหนด 30 เม.ย. 66 ย้ำ เป็นหน้าที่่รัฐบาลรักษาการ-กกต. ไม่ขอแตะนโยบายพรรคการเมือง “กฟผ.” แบกค่า Ft หนัก 1.5 แสนล้าน ไหวแค่ 7 สตางค์ ต้องคืนหนี้เงินกู้ภายใน 2 ปี เพื่อรักษาเครดิตการกู้เงินรอบใหม่
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเด็นอัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นอีกสาเหตุทำให้ค่าไฟแพงนั้น ปัจจุบันสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 36% ไม่สูงถึง 50-60% โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการนำค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญามาคำนวณ จึงไม่สะท้อนอัตราการสำรองไฟฟ้าแท้จริง อาทิ ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งกลุ่มนี้พึ่งพาไม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงไม่ใช่สำรองไฟฟ้าที่แท้จริง
“การสำรองไฟฟ้ามีประเด็นตลอด โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ต้องเตรียมการไว้ เพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ดังนั้น การจะต้องผลิตไฟสะอาดเป็นเรื่องจำเป็น”
นายกุลิศ กล่าวว่า หากจะให้ค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยนั้น หากดูแผนพีดีพี ที่ผ่านมามีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ถูกมากในปี 2562-2563 อยู่ที่ 6-7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู แต่มาที่ 40-50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากเศรษฐกิจฟื้นหลังโควิด รวมถึงสงครามรัสเซียและยูเครน ดังนั้นต้นทุนฐานไม่ได้กระทบ แต่ค่าเอฟทีกระทบค่าไฟแพงขึ้น เพราะมาจากต้นทุนแอลเอ็นจีปลายปี 2565 ที่แพงมาก
ทั้งนี้ ปัจจุบันพยายามคำนวณในราคาที่ลดลงมาที่ 19-20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำชับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จัดหาในราคา 13-15 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ในรอบหน้าเพื่อทำให้ราคาลดลง
สำหรับการลดค่าเอฟทีงวดที่ 2 เดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ตามมติ กกพ.วันที่ 24 เม.ย.2566 ที่ลดค่าไฟฟ้าลงจาก 4.77 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย จากการยอมรับภาระค่าเอฟทีของ กฟผ.เพิ่มจาก 6 งวด เป็น 7 งวด โดยลดลงมาอีก 7 สตางค์ เพื่อให้อยู่ในกรอบการรับภาระได้ใน 2 ปี ซึ่ง กฟผ.แบกภาระได้ถึงงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2568 เพราะถ้ารับภาระยาวกว่านี้จะมีผลต่อการกู้เงินและเครดิต กฟผ.
“อยากให้เห็นใจ กฟผ.ที่แบกภาระนี้ พยายามลุ้นสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนจะดีขึ้น และกำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทยจะเพิ่มขึ้นตามที่บริษัท สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กำลังเพิ่มกำลังการผลิตและทดแทนนำเข้าได้ โดยจะทำให้ช่วงปลายปีราคานำเข้าจะถูกลง และกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้วตอนนี้เพิ่มสูงขึ้นอยู่ระหว่าง 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะเป็น 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปลายปีนี้ ร่วมถึงหวังว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะดีขึ้น”
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า เมื่อ กฟผ.ต้องแบกค่าเอฟที 1.5 แสนล้านบาท ต้องเจรจาคู่สัญญาเรื่องการชำระเงิน คือ 1.บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 2.การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
รวมถึงการกู้เงินของ กฟผ. รวม 2 ก้อนวงเงิน 1.1 แสนล้านบาท เป็นการกู้ระยะสั้นและเบิกได้ตามวงเงิน เพื่อใช้งานที่ต้องจ่ายเงินต้นและคืนภายใน 2 ปี ซึ่ง กฟผ.ต้องทำกระแสเงินสดที่บริหารอย่างเต็มที่
“การกู้เงิน 1.1 แสนล้านบาท เป็นการกู้ระยะสั้น หากไม่ได้เงินค่าเอฟทีส่วนที่ค้างจะทำให้การจัดอันดับเครดิตที่ กฟผ.ดีมาตลอดต้องมีปัญหา ซึ่งการแบกรับค่าเอฟทีเป็นฟางเส้นสุดท้ายแล้วจึงไม่สามารถเพิ่มจากวงเงินที่ค้าง 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเดิม 6 งวด ต้องทะยอยคืนงวดละ 20,000 ล้านบาท ก็ขยายเป็น 7 งวด จะครบ 4 เดือนแรกของปี 2568 ช่วงนั้นรัฐบาลต้องหาเงินมาอุ้ม”