จีน : เดอะแบกหรือเดอะเบรกเศรษฐกิจโลก | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

จีน : เดอะแบกหรือเดอะเบรกเศรษฐกิจโลก | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

สิ่งที่ทั่วโลกคาดหวังมากคือการที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากการยกเลิกมาตรการ Zero COVID นำมาสู่การเปิดประเทศในช่วงต้นปีนี้ จะเป็นดั่งเครื่องยนต์สำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวรุนแรง ซึ่งภาพตัวเลขเศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 1/2023 ก็บ่งชี้เช่นนั้น

แต่ในทางกลับกัน ไส้ในของตัวเลขเศรษฐกิจก็ดูจะเป็นที่สงสัยว่าการฟื้นตัวจะมีโมเมนตัมดีต่อเนื่องหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยความเสี่ยงโดยเฉพาะประเด็นภูมิรัฐศาสตร์

ดังนั้น บทความฉบับนี้จึงมาไล่เลียงแต่ละประเด็น เพื่อหาคำตอบว่าจีนจะเป็น “เดอะแบก” หรือ “เดอะเบรก” เศรษฐกิจโลกกันแน่

ในส่วนของภาพเศรษฐกิจมหภาค ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/2023 ดีกว่าคาด โดยเติบโตถึงกว่า 4.5% และเมื่อพิจารณายอดค้าปลีกที่ขยายตัวถึง 10.6% แล้วนั้น จะพบว่าเป็นการฟื้นตัวของภาคการบริโภคเป็นหลัก

ขณะที่ตัวเลขรายเดือนอื่นๆ ยังคงชะลอตัวต่ำกว่าคาด แม้จะขยายตัวก็ตาม โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนสินทรัพย์ถาวร

ประกอบกับตัวเลขภาคอสังหาฯ ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า โดยภาพการก่อสร้าง (วัดจาก Housing floor space) เริ่มฟื้นตัว แต่การลงทุนในภาคอสังหาฯ ภาพรวม (Property Investment) ยังหดตัวที่ -5.6%

ภาพเช่นนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคนจีนเริ่มกลับมาจับจ่ายได้มากขึ้น ขณะที่ภาคการผลิตยังคงถูกฉุดรั้งจากภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะต้องติดตามคือ “ตัวเลขเงินฝาก” ซึ่งปัจจุบันยังขยายตัวสูงกว่าเงินกู้ (เงินฝากขยายตัว 12.4% ขณะที่เงินกู้ขยายตัว 11.8%)

ซึ่งตามปกติหากเศรษฐกิจฟื้นตัวดี ประชาชนน่าจะออกมาจับจ่ายมากขึ้น ทำให้เงินฝากขยายตัวลดลงแต่เงินกู้เพิ่มขึ้น แต่ในปัจจุบันเงินฝากยังขยายตัวสูงกว่าเงินกู้

โดยหากอัตราขยายตัวเงินฝากจะเริ่มชะลอลงขณะที่เงินกู้เริ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจจีนก็น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 5.3-5.7% ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของจีนในครั้งนี้ไม่น่าจะสามารถฉุดเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวได้มากนัก ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจซีกโลกตะวันตกที่จะชะลอแรงขึ้น

เนื่องจากการเปิดประเทศครั้งนี้ จะทำให้ภาคบริการของจีนได้ประโยชน์มากกว่า

จากการที่ผู้คนออกไปหาประสบการณ์มากขึ้น แต่การจับจ่ายในสินค้าจะไม่สูงขึ้นมากนัก ทำให้ภาคการส่งออกของประเทศอื่นๆ อาจไม่ได้ประโยชน์มากเท่า แต่จะได้ในส่วนการท่องเที่ยวมากกว่า

นอกจากนั้น ในภาพของความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศระหว่างจีนกับชาติตะวันตก ก็น่ากังวลเช่นกัน โดยผู้นำชาติตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปเรียกร้องให้ “ลดความเสี่ยง” (De-risking) ในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีน แต่ไม่ยกเลิกความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ (Economic Decoupling)

โดยประธานคณะกรรมาธิการยุโรป Ursula von der Leyen กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่ยุโรปจะแยกตัวออกจากจีนอย่างสิ้นเชิง แต่การลดความเสี่ยง (หรือการลดระดับความสัมพันธ์) เป็นสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับกลยุทธ์ด้านการต่างประเทศ

โดยนาง von der Leyen ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของจีนหลายประการ ตั้งแต่การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ไปจนถึงการเป็นพันธมิตรกับวลาดิมีร์ ปูติน หลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครนอย่างโหดร้ายและผิดกฎหมาย

ที่ผ่านมา ชาติตะวันตกและพันธมิตรได้ทำการลดระดับความสัมพันธ์จีนลงเป็นลำดับ เช่น คัดกรองรวมถึงจำกัดการลงทุนทั้งขาเข้าและขาออกของชาติตะวันตกต่อจีน รวมถึงการอุดหนุนอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพิงด้านห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญกับจีน

และรวมถึงประเด็นความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีในฐานะความมั่นคงของชาติได้อีกด้วย โดยสหรัฐ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ จำกัดการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ล้ำสมัยและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการผลิตไปยังจีน เพื่อป้องกันไม่ให้จีนสร้างอาวุธที่มีศักยภาพ รวมถึง AI

ชาติตะวันตกยังได้ใช้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในซินเจียง รวมถึงการใช้แรงงานทาส (Forced Labor) ในภูมิภาคดังกล่าว โดยได้ออกกฎหมายป้องกันการใช้แรงงานทาสชาวอุยกูร์ของสหรัฐ ซึ่งบังคับใช้ในปี 2021

ห้ามนำเข้าสินค้าจากซินเจียงและสินค้าที่ใช้ปัจจัยการผลิตจากภูมิภาค เว้นแต่ผู้ค้าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ถูกบังคับใช้แรงงาน โดยสหรัฐเคยใช้กฎหมายนี้อายัดสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าเกือบพันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงแผงโซลาร์เซลล์

ด้าน เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ กล่าวว่า ความมั่นคงของประเทศจะต้องมาก่อนประเด็นด้านเศรษฐกิจในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน แม้ว่าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลงก็ตาม

ในส่วนของจีนได้ใช้กลยุทธ์ในการโดดเดี่ยวชาติตะวันตกมากขึ้น ผ่านกลยุทธ์ที่ตั้งตนให้เป็นผู้นำของชาติกำลังพัฒนา

รวมถึงกล่าวว่ามุมมองของสหรัฐและชาติพันธมิตรนั้นได้รับการต่อต้านจากหลายๆ ประเทศ เช่น ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส (ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายไต้หวันของสหรัฐ)

นอกจากนั้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกร้องให้จีนหลีกเลี่ยงการพึ่งพาต่างชาติและบรรลุการพึ่งพาตนเองในเทคโนโลยีที่สำคัญ (หรือนโยบาย Dual Circulation)

ในส่วนของประเด็นการตรวจสอบระบบห่วงโซ่อุปทานของจีนเพื่อหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการใช้แรงงานทาสนั้น รัฐบาลจีนใช้ “กำปั้นเหล็ก” เข้าจัดการ

ผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor) ของจีนรายหนึ่งถูกลงโทษภายใต้กฎหมายต่อต้านการจารกรรม เนื่องจากช่วยเหลือองค์กรเอกชนต่างชาติในการตรวจสอบข้อกล่าวหาเรื่องการบังคับใช้แรงงานในซินเจียง

มาตรการดังกล่าวทำให้ในระยะต่อไป Auditor จะไม่สามารถถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานในซินเจียงได้อีกต่อไป

ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า นโยบาย De-risking คือกระบวนการสงครามเย็นระหว่างชาติตะวันตกกับจีนใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการค้า ด้านการเงิน ด้านเทคโนโลยี และด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่ชาติตะวันตกได้ดำเนินการอยู่ตั้งแต่ปี 2018

ขณะที่จีนได้เปลี่ยนบทบาทขึ้นเป็นผู้นำในเวทีโลก เพื่อถ่วงดุลอำนาจชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐมากขึ้น

สถานการณ์เหล่านี้จะยิ่งตึงเครียดยิ่งขึ้นในระยะต่อไป และจะทำให้โลกเกิดภาวะ Multipolar หรือโลกหลายขั้ว เช่น อเมริกาเหนือ (USMCA) ยุโรป (EU) เอเชียแปซิฟิก (ASEAN+6 หรือ RCEP) กลุ่มที่นำโดยจีน (BRI) และกลุ่มอื่นๆ (เช่น ตะวันออกกลาง)

กลุ่มเหล่านี้จะทั้งร่วมมือและแข่งขันกันเองในประเด็นที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะทำให้กระแสโลกาภิวัตน์เสื่อมถอยยิ่งขึ้น เป็นผลให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นและเศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น

จีน เป็นทั้งเดอะแบกและเดอะเบรก นักธุรกิจ นักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายที่ต้องการจะมองอนาคตเศรษฐกิจโลก ต้องตีโจทย์จีนให้แตก.

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่

 

คอลัมน์ : Global Vision  

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ฝ่ายวิจัยการลงทุน 

บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด

[email protected]