มรสุุม ‘ค่าไฟแพง’ ฉุดขีดความสามารถการแข่งขันไทย

มรสุุม ‘ค่าไฟแพง’ ฉุดขีดความสามารถการแข่งขันไทย

ส.อ.ท.ห่วงค่าไฟแพงกระทบต้นทุนอุตสาหกรรม ชี้ค่าไฟไทยแซงเวียดนาม กระทบลงทุน “กลุ่มยานยนต์” ชี้มีผลต่อขีดความสามารถการแข่งขัน “กลุ่มอาหาร” ตรึงราคาสินค้าส่งออกเพื่อให้สู้คู่แข่งได้ “กลุ่มเซรามิก” กระทบหนัก การผลิตใช้ความร้อนสูง ต้นทุนค่าไฟพุ่ง 30% 

Key Points

  • ค่าไฟฟ้าของไทยแพงเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน รองจาก สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และกัมพูชา
  • ที่ผ่านมาค่าไฟฟ้าเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดการตัดสินใจเข้ามาลงทุนไทยของบริษัทต่างชาติ
  • ส.อ.ท.กังวลว่าการที่ค่าไฟฟ้าแพงกว่าเวียดนามจะทำให้ความน่าสนใจของไทยลดลง
  • หลายกลุ่มอุตสาหกรรมมีต้นทุนค่าไฟสูงขึ้น โดยเฉพาะการผลิตเซรามิกที่สูงขึ้นถึง 30%

ค่าไฟฟ้าของไทยได้มีการปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปี 2564 อยู่ที่หน่วยละ 3.60 บาท ต่อมาปี 2565 อยู่ที่หน่วยละ 4.69 บาท และในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 อยู่ที่หน่วยละ 4.72-5.33 บาท ขณะที่งวดล่าสุดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 อยู่ที่หน่วยละ 4.72 บาท

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบข้อมูลค่าไฟฟ้าจาก GlobalPetrolPrices ได้ทำตัวเลขค่าไฟฟ้าในกลุ่มอาเซียน โดยประเทศที่มีค่าไฟสูงสุด คือ สิงคโปร์ หน่วยละ 8.22 บาท, ฟิลิปปินส์ 6.40 บาท, กัมพูชา 5.12 บาท,ไทย 4.70 บาท, อินโดนีเซีย 3.33 บาท, เวียดนาม 2.75 บาท, เมียนมา 2.70 บาท, มาเลเซีย 1.17 บาท และลาว 1.18 บาท

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าสูงขึ้นมาตั้งแต่กลางปี 2566 แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ และมีการปล่อยให้การพิจารณาค่าไฟฟ้าเป็นไปตามกลไกเดิมทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 สูงเป็นประวัติการณ์ และงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอีกทั้งที่ต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง

ทั้งนี้ การที่ค่าไฟฟ้าของไทยปรับสูงขึ้นจะมีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะทำให้ต้นทุนการผลิตในประเทศไทยสูงขึ้น ซึ่งต้นทุนค่าไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

“ค่าไฟฟ้าของไทยแพงกว่าเวียดนามแล้ว จากเดิมที่ไทยเคยได้เปรียบโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมทั้งถนน ไฟฟ้า น้ำประปาท่าเรือ สนามบิน แต่ในปัจจุบันความได้เปรียบในด้านค่าไฟฟ้ากำลังหายไป”

นายอิศเรศ กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงานเพื่อขอให้แก้สัญญาค่าความพร้อมจ่ายระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน มาตั้งแต่ปลายปี 2565 

พร้อมทั้งเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) เพื่อช่วยหาโมเดลช่วยแก้ปัญหาแต่ไม่มีความคืบหน้าอะไร ดังนั้น ส่วนตัวมองว่าค่าไฟที่คนไทยจ่ายแพงเป็นเพราะการบริหารจัดการของผู้มีอำนาจผิดพลาด ต้องขอบคุณพรรคการเมืองที่เสนอวิธีการแก้ปัญหา ที่ไม่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และไม่ได้มุ่งไปที่ตัวเลขว่าจะลดเท่าไหร่

ห่วงค่าไฟแพงกระทบขีดแข่งขัน

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลกระทบค่าไฟแพงส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ค่อนข้างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ ส.อ.ท.จะมีการเจรจาและยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐในการควบคุมต้นทุนค่าไฟฟ้า เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วไทยแพงกว่ามาก

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มีมาตรการรับมือกับค่าไฟฟ้าและพลังงานที่สูงขึ้นด้วยการออกแบบโรงงานที่รับแสงจากดวงอาทิตย์ลดการใช้หลอดไฟ การเพิ่มสัดส่วนการใช้โซลาร์เซลล์ รวมทั้งดำเนินมาตรการในการประหยัดไฟฟ้าทั้งในโรงงานและสำนักงานขาย อาทิ เปิดพัดควบคู่กับการเปิดแอร์เพื่อลดการใช้พลังงาน

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นหลายด้าน แต่การตัดสินใจขึ้นราคารถยนต์อาจจะชะลอไปก่อนเนื่องจากในตลาดมีการแข่งขันราคาค่อนข้างสูง”

ตรึงราคาส่งออกสินค้าอาหาร

นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท.กล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นราว 15-20% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเล อาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง ที่ต้องใช้ห้องเย็นจะมีการใช้ไฟค่อนข้างมาก ซึ่งถึงแม้จะมีการปรับลดค่าไฟลงบ้างแต่กลุ่มฯ ยังต้องรับภาระหนัก เนื่องจากไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนม ไข่ ไก่ และสินค้าควบคุมอื่นๆ อีกทั้งการปรับราคาขึ้นยังจะส่งผลต่อการแข่งขันและการส่งออกไปตลาดโลกอีกด้วย

โดยส่วนหนึ่งหันไปใช้พลังงานทดแทน อาทิ โซลาร์เซลล์ ไบโอแมส ไบโอแก๊ส จากของเสีย แต่พลังงานเหล่านี้ยังเข้ามาเสริมเพียงแค่ 20% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดเท่านั้น

“ต้นทุนค่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยนึงที่นักลงทุนใช้พิจารณาในการตัดสินใจขยายการลงทุนเพิ่ม เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านแล้วตอนนี้ไทยมีต้นทุนที่สูงมาก รัฐบาลจะต้องมีการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าจะต้องสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง รวมถึงต้องมีมาตรการมาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน อาทิ ส่งเสริมด้านภาษี การนำเข้าอุปกรณ์ ให้เงินอุดหนุนรวมทั้งสร้างอีโคซิสเต็มในการขายไฟฟ้าคืนให้การไฟฟ้าได้”นายเจริญ กล่าว

ต้นทุนค่าไฟ “เซรามิก” พุ่ง 30%

นายอธึก เชิดเกียรติศักดิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก ส.อ.ท. กล่าวว่า อุตสาหกรรมเซรามิกโดยภาพรวมมีต้นทุนค่าไฟฟ้าคิดเป็น 20-30% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปีทำให้อุตสาหกรรมมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 30% ทั้งนี้ เบื้องต้นหลายโรงงานรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ด้วยการเริ่มหันมาใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์

อย่างไรก็ตาม การลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์เองถือเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งยังเป็นพลังงานที่มีความไม่แน่นอน โดยความต้องการไฟฟ้าทุก 1 เมกะวัตต์ จะต้องลงทุนถึง 30 ล้านบาท ทำให้บริษัทส่วนมากเลือกที่จะให้มีผู้ลงทุนมาติดตั้งให้แล้วซื้อไฟจากผู้ติดตั้งอีกต่อนึง ซึ่งตรงนี้ในช่วงแรกสามารถประหยัดต้นทุนลงได้ถึง 10% แต่ปัจจุบันลดลงเหลือแค่ 5% เนื่องจากการคิดราคาไฟฟ้ายังคงอิงค่าไฟหลวง ซึ่งยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

ระยะยาวจะสู้คู่แข่งไม่ได้

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นมีผลในระยะยาวทำให้ลดทอนความสามารถการแข่งขันในการส่งออกไปตลาดต่างประเทศเมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ผลกระทบระยะสั้นทำให้ธุรกิจมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และดันให้ต้นทุนค่าครองชีพเพิ่มขึ้นไปด้วย ซึ่งทำให้เอสซีจีเห็นว่าความผันผวนของราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า แก๊สและถ่านหิน เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักที่ต้องเฝ้าระวังสำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2566

 ทั้งนี้ เอสซีจี รับมือกับพลังงานถ่านหินและค่าไฟที่เพิ่มขึ้น ด้วยการรุกธุรกิจพลังงานสะอาด SCG Cleanergy เป็นผู้ให้บริการซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดครบวงจรสำหรับภาครัฐ ธุรกิจและอุตสาหกรรม ปัจจุบันเอสซีจีมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์สำหรับใช้ภายในโรงงาน อยู่ที่ 220 เมกะวัตต์

อีกทั้งได้รับคัดเลือกเป็นผู้ผลิต-ขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ภาครัฐ 10 โครงการ ขนาด 367 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่าการใช้ไฟฟ้าบ้าน 180,000 หลังคาเรือน โดยราคาขายของเอสซีจีคลีนเนอร์ยี่ อยู่ที่ 2.16 บาท/หน่วย

นอกจากนี้ ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ “SCG Solar Roof Solutions” การติดตั้งโซลาร์เซลล์ภาคครัวเรือน เติบโตขึ้นกว่า 3 เท่า หรือ 313% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน