'รทสช.' หนุนลงทุนโปแตชแก้ 'ปุ๋ยแพง' ชูนโยบายเกษตรอินทรีย์ ลดสารปนเปื้อน
"รทสช." หนุนเอกชนลงทุนเหมือง "โปแตช" แก้ปัญหา "ปุ๋ยแพง" ช่วยเกษตรกรมีรายได้ยั่งยืน ชูนโยบายเกษตรอินทรีย์-เทคโนโลยี ลดสารปนเปื้อนในพืช หวั่นเกษตรกรไทยโดนมาตรการกีดกันทางการค้า
นายจุติ ไกรฤกษ์ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวบนเวที THE BIG ISSUE 2023 : ปุ๋ยแพง วาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร หัวข้อ ความท้าทายของการลดปัญหาปุ๋ยแพง จัดโดย "ฐานเศรษฐกิจ" วันที่ 2 พ.ค. 2566 ว่า ปัญหาปุ๋ยแพงเป็นปัญหาเร่งด่วน แต่ไม่ใช่ปัญหาเดียวของเกษตรกร หากแก้แค่ปุ๋ยจะไม่สามารถแก้ปัญหาเกษตรกรได้ เพราะการทำไร่ นาไม่ใช่แค่ปุ๋ยที่เป็นต้นทุน มีทั้งค่าแรง และที่ทำกิน ฯลฯ ในขณะนี้ชาวนา ชาวไร่ มีปัญหาหนี้สินครัวเรือน ที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือโดยปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน มีการแก้กฎหมายแพ่งพาณิชย์ไม่ให้คิดอัตราดอกเบี้ยแพงเกินตามกฎหมายกำหนด และตัดดอกเบี้ยที่ชำระจากเงินต้นจะทำให้หนี้เกษตรกรได้รับการดูแลที่ดีขึ้น รวมถึงเงินทุนช่วยเหลือ เป็นต้o
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ทำวิจัยทั้งพันธุ์พืช ดิน และน้ำ ยกตัวอย่างที่จังหวัดกำแพงเพชร มีการทดลองพันธุ์ข้าวแจกชาวนาเมื่อเอาไปขายถือว่าช่วยลดต้นทุนได้ส่วนหนึ่งของเกษตรกร ปัญหาต่อมาคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนถือเป็นประเด็นสำคัญ ส่วนการเพิ่มพื้นที่ชลประทานต้องใช้เงินเป็นแสนล้านบาท งบประมาณจะไม่พอ
สำหรับปัญหาปุ๋ยแพง ถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมราคาไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกประเทศทั้งการสู้รบ การคุมตลาดและภูมิรัฐศาสตร์การเมืองมาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้ขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องทำงานหนักในการวิจัยพันธุ์พืช หาต้นทุนที่ถูกลง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผลผลิตต่อไร่ของประเทศไทยต่ำมาก 10 ปีที่ผ่านมาติดลบ การใส่ปุ๋ยมากเท่าไหร่ก็ไม่ใช่ว่าเพิ่มผลผลิตได้
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาคือ ผลิตปุ๋ยเพื่อใช้เอง จากโรงงานเหมืองโปรแตชที่ขณะนี้ยังไปไม่เปิด เพราะมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องให้ผู้ผลิตดำเนินการเอง เพราะรัฐบาลคงไม่ดำเนินการ จากการจัดตั้งปุ๋ยแห่งชาติ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องให้เอกชนทำ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ เต็มที่ แต่สิ่งที่ทุกคนกังวลคือสิ่งแวดล้อม ที่ต้องก้าวข้ามได้ โครงการนี้จะช่วยเพิ่ม GDP ประเทศ
"อีกประเด็นคือราคาข้าว ที่พรรคไหนจะประกันหรือจำนำ ก็จะทำให้ผู้บริโภคก็จะมีผลกระทบ และวันนี้ปัจจัยการแข่งขันระหว่างประเทศ ข้าวเราสู้ประเทศอื่นไม่ได้ เช่น อินเดียและกัมพูชาที่ข้าวหอมเราสู้ไม่ได้ แม้เราเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของข้าวของโลก และสิ่งที่จะทำคือ เพิ่มทุนให้ภาคการเกษตรให้ได้ 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP)"
นอกจากนี้ จะต้องพัฒนาทุนมนุษย์โดยใช้ดิจิตอล โดยเฉพาะแปลงที่ชาวนายังเข้าไม่ถึงทั้ง mindset ซึ่งรัฐจะต้องช่วยจริงจังในการลงทุนด้านเทคโนโลยี ที่ผ่านมา สิ่งที่ห่วงคือนโยบายที่ทุกประเทศต้องทำตามกติกาโลก คือความปลอดภัยของอาหารจากฟาร์ม ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนไปใช้เกษตรอินทรีย์ซึ่งประเทศไทยทำอยู่แต่ก็ช้ามาก จึงต้องทำแบบก้าวกระโดดไม่งั้นจะถูกมาตรกีดกันทางการค้า จากข้อมูลไทยมีสารปนเปื้อนในพืชอยู่อันดับ 5 ของโลก ดังนั้นปุ๋ยเคมีจะไม่ใช่คำตอบจึงต้องหาสิ่งทดแทน
"สหกรณ์การเกษตรถือเป็นยักษ์หลับ ต้องปลุกให้มีบทบาทคิดเหมือนนักธุรกิจ ซึ่งนอกจากต้องหาปุ๋ยราคาถูกแล้ว ต้องหาต้นทุน จัดการระบบบัญชี บริหารหนี้ ทุกสหกรณ์ต้องมีพี่เลี้ยงเป็นภาคเอกชน ที่จะทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายพัฒนาอย่างไร ลดหนี้เท่าไหร่ เพราะวันนี้ปัญหาหนี้เสีย 75% มาจากสหกรณ์การเกษตร จึงต้องให้ความรู้การจัดซื้อจัดจ้าง มีธรรมาภิบาล ให้เกษตรกรก้าวข้ามความจน"