หน้าร้อนปีนี้ ทุบสถิติใช้ไฟนิวไฮ 5 ครั้ง ลุ้นพ.ค. พีคไฟฟ้าทะลุ 34,000 MW.
หน้าร้อนปี 2566 ดันการใช้ไฟพุ่งนิวไฮแล้วถึง 5 ครั้ง สูงสุดที่ 33,622.5 เมกะวัตต์ วันที่ 25 เม.ย. 2566 "ปลัดพลังงาน" รับ หากฝนไม่ตกมีสิทธิ์พีคทะลุ 3.4 หมื่นเมกะวัตต์
Key points
- "พลังงาน" เผย หน้าร้อนปี 2566 ดันการใช้ไฟพุ่งนิวไฮแล้วถึง 5 ครั้ง
- ยอดใช้ไฟฟ้าปี 2566 สูงสุดที่ 33,622.5 เมกะวัตต์ วันที่ 25 เม.ย. 2566
- "ปลัดพลังงาน" รับ หากฝนไม่ตกมีสิทธิ์พีคทะลุ 3.4 หมื่นเมกะวัตต์
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าในฤดูร้อนปีนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน 2566 มีอากาศร้อนที่สุด ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ในระบบของ 3 การไฟฟ้า ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีการใช้ไฟฟ้าพีคสุดถึง 5 ครั้ง
โดยโดยครั้งล่าสุดเกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 เวลา 14.28 น. ที่ระดับ 33,622.5 เมกะวัตต์ ซึ่งหน้าร้อนประเทศไทยยังเหลือเดือนพ.ค. 2566 หากไม่ตกการใช้ไฟฟ้าจะพีคได้ถึง 3.4 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้น มาตรการประหยัดพลังงานจึงถือเป็นหนึ่งแนวทางสำคัญในการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในฤดูร้อนและลดค่าไฟฟ้า เนื่องจากค่าไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นอัตราก้าวหน้า (Progressive Rate) ยิ่งใช้ไฟฟ้ามาก ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยจะยิ่งสูงขึ้น นอกจากนี้การประหยัดพลังงานยังสามารถช่วยประเทศลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาแพงได้อีกด้วย
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า คาดว่าการใช้ไฟฟ้าจะพีคในระบบ 3 การไฟฟ้าปีนี้ จะนิวไฮไม่ต่ำกว่า 3.4 หมื่นเมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามหากรวมกับไฟฟ้าของเอกชนที่ผลิตเพื่อใช้เอง (ไอพีเอส) อีก 5 พันเมกะวัตต์ แล้ว ความต้องการไฟฟ้า ของประเทศอาจสูงถึง 3.9 หมื่นเมกะวัตต์ ในปีนี้
ทั้งนี้ โครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทยเป็นอัตราก้าวหน้ายิ่งใช้ไฟฟ้ามากคลายร้อนค่าไฟฟ้าต่อหน่วยก็จะเพิ่มขึ้น โดยหากมีการใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือนจะมีอัตราการคิดค่าไฟฟ้าแบบก้าวหน้าดังนี้ 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1-150) หน่วยละ 3.2484 บาท 250 หน่วยถัดไป (หน่วยที่ 151-400) หน่วยละ 4.2218 บาท หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป ราคาหน่วยละ 4.4217 บาท (อย่างไรก็ตาม ครม.ให้ส่วนลดพิเศษสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน300 หน่วยต่อเดือนตั้งแต่ ม.ค. – เม.ย 2566
รายงานข่าว ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน วงเงิน 10,464 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยหลังจากนี้จะเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นชอบอีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169(3) ที่กำหนดให้ ครม.ไม่ให้กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน
สำหรับมาตรการการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแบ่ง 2 มาตรการ คือ
1. มาตรการต่อเนื่องของกระทรวงพลังงาน ที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงาน ที่ดำเนินการอยู่ในช่วงมกราคม - เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ โดยเป็นมาตรการช่วยเหลือในส่วนของการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันได เป็นเวลา 4 เดือนสำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนพ.ค. -ส.ค. 2566
โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มวงเงิน 6,954 ล้านบาทโดยมีรายละเอียด (1,738.50 ล้านบาทต่อเดือน) ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์ 18.32 ล้านราย เท่ากับ 78.42% ของบ้านอยู่อาศัยทั้งหมด
แบ่งเป็น ผู้ใช้ไฟฟ้า 1- 150 หน่วย ส่วนลดค่าไฟฟ้า 89.80 สตางค์ต่อหน่วย ผลต่างค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) เรียกเก็บ และส่วนลด 1.39 สตางค์ต่อหน่วย
ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้า 151-300 หน่วย ส่วนลดค่าไฟฟ้า 64.80 สตางค์ต่อหน่วย ผลต่างค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 26.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้า 301 หน่วยขึ้นไป ผลต่างค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 91.19 สตางค์ต่อหน่วย
2. มาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วน ในส่วนของค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ โดยเป็นการลดค่าไฟฟ้าในรอบบิลเดือนพฤษภาคม 2566 จำนวน 150 บาทต่อราย จำนวนประมาณ 23.40 ล้านราย ใช้วงเงินงบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 3,510 ล้านบาท
โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยในส่วนนี้เบื้องต้นการไฟฟ้าฯ จะนำไปคำนวณในบิลค่าไฟฟ้าที่จะออกทันที โดยรัฐบาลต้องการลดค่าไฟฟ้าเดือน เม.ย. 2566 ในช่วงที่ประชาชนมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด และมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก