10 เครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟหน้าร้อน ใช้งานอย่างไร ไม่ให้ 'ค่าไฟแพง'
"กฟผ." เปิด 10 เครื่องใช้ไฟฟ้าในหน้าร้อน ที่กินไฟสูงสุด และมีผลต่อใบเรียกเก็บค่า "ไฟแพง" พร้อมแนะวิธีรับมือเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกระเป๋าตังค์
จากกรณีที่ประเทศไทยเกิดปัญหาการนำเข้าราคาพลังงานมากขึ้นและแพงขึ้น ส่งผลให้ค้่าไฟฟ้าตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 มีการปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเรียกเก็บค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดใหม่สำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ที่หน่วยละ 4.70 บาท ลดลงจากงวดก่อนหน้า 2 สตางค์ แล้วก็ตาม
แต่ประชาชนแทบจะทุกบ้านต้องประสบปัญหาการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าเดือนเม.ย. ที่แพงขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้าเท่าตัวหรือมากกว่านั้น แม้ว่าค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) จะยังคงมีอัตราเท่าเดิม กรณีนี้เป็นผลมาจากการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นโดยเฉพาะการเปิดแอร์เพื่อลดอุณหภูมิความร้อน
ทั้งนี้ จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนในปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. เป็นต้นไป โดยตอนกลางวันพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนโดยทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ปีนี้อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าปีก่อน ขณะที่บางจังหวัด เช่น สุโขทัย ตาก ลำปาง และแม่ฮ่องสอน คาดว่า อุณหภูมิจะสูงที่สุด 40-43 องศาฯ ขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิสูงสุด 38-39 องศา
เมื่อยิ่งอุณหภูมิสูงมากขึ้น ขณะที่ราคาค่าไฟที่เราต้องควักกระเป๋าจ่าย อยู่ในระดับสูง งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ต้องจ่ายในอัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น หรือธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ ค่าไฟฟ้า เฉลี่ยอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย
10 เครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟในหน้าร้อน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ เปิดผลการศึกษา 10 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันว่าแต่ละประเภท เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทไหนกินไฟสูงสุด เริ่มกันที่
อันดับ 1 เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า 3,500-8,000 วัตต์ (เชื่อว่าทุกบ้านจะไม่ได้ใช้ในช่วงหน้าร้อนนี้)
อันดับ 2 เตารีดไฟฟ้า (แห้ง-ไอน้ำ) 1,000-2,600 วัตต์
อันดับ 3 ไดร์เป่าผม 1,000-2,200 วัตต์
อันดับ 4 เตาไมโครเวฟ (20-32 L) 1,000-1,880 วัตต์
อันดับ 5 เครื่องปรับอากาศ ชนิด FIXED SPEED (9,000-36,000 BTU/hr) 730-3,300 วัตต์ (ใช้มากสุดในหน้าร้อน)
อันดับ 6 เครื่องปรับอากาศ ชนิด INVERTER (9,000-36,000 Btu/hr) 455-3,300 วัตต์
อันดับ 7 เครื่องซักผ้า (แบบตั้ง, ถังนอน) 450-2,500 วัตต์
อันดับ 8 หม้อหุงข้าวไฟฟ้า (1-3L) 450-1,000 วัตต์
อันดับ 9 ตู้เย็น (40-735 ลิตร, 1.4-26 คิว) 70-145 วัตต์
อันดับ 10 พัดลมไฟฟ้า (12 นิ้ว-18 นิ้ว) 35-80 วัตต์
วิธีประหยัดพลังงานและค่าไฟฟ้า
ทั้งนี้ กฟผ. มีวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยประหยัดพลังงานและค่าไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนที่มีคามจำเป็นจะต้องใช้งาน โดยเฉพาะการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 นอกจากจะช่วยประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น ยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและประหยัดไฟยิ่งกว่าเดิมเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีฉลากเบอร์ 5
เครื่องปรับอากาศ : ในหน้าร้อนถือว่าใช้งานสูงสุด ควรเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว มีขนาดเหมาะสมกับขนาดห้อง ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท ตั้งอุณหภูมิที่ 25-26 องศาเซลเซียสเพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาจะช่วยลดค่าไฟฟ้าประมาณ 10 % และล้างแอร์อย่างน้อยทุก 6 เดือน สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 47%
ตู้เย็น : ควรเลือกใช้ตู้เย็นที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว ลดการเปิด-ปิดประตูตู้เย็นทิ้งไว้นานเกินความจำเป็น ไม่ใส่ของที่อุณหภูมิสูง ไม่ใส่ของแน่นเกินไป และควรวางตู้เย็นห่างจากผนังอย่างน้อย 15 เซนติเมตร สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 49%
หลอดไฟ : เลือกใช้หลอดไฟแอลอีดี (E27) ขนาด 7 วัตต์ แทนหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (CFL) ขนาด 13 วัตต์ และปิดสวิตซ์ทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 57%
พัดลม : เลือกใช้พัดลมที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งาน เปิดพัดลมเบอร์ 1 ปิดและถอดปลั๊กทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน และหมั่นทำความสะอาดพัดลมอยู่เสมอ สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 43%
เตารีด : เลือกใช้เตารีดที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว รีดผ้าครั้งละมากๆ ไม่พรมน้ำมากเกินไป และถอดปลั๊กก่อนเสร็จสิ้นการรีดประมาณ 2 นาที เพราะความร้อนที่เหลืออยู่ในเตารีดไฟฟ้ายังสามารถรีดผ้าชนิดที่ไม่ต้องการความร้อนมาก สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 43%
โทรทัศน์ : เลือกใช้โทรทัศน์ที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว และถอดปลั๊กทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 51%