เปิดคดีตัวอย่าง 'เอกชน' ฟ้อง 'รัฐ' ยกเลิกสัญญารับซื้อไฟแพง
เปิดคดีตัวอย่างกรณีที่บริษัท 'เอกชน' ฟ้อง 'รัฐ' ในการยกเลิกสัญญารับซื้อไฟฟ้าแพง "กกพ." ส่งสัญญาณให้ "กฟภ." เตรียมเอกสารเพิ่มเติมเข้าพิจารณาอีกครั้ง ปมรับซื้อไฟเอกชนแพงถึงหน่วยละ 11.80 บาท ภายหลังแพ้คดีในศาล ทั้งที่ขายเข้าระบบได้แค่ 3.80 บาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) วันที่ 3 พ.ค. 2566 เดิมจะมีการพิจารณาถึงวาระที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือกรณีที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้เสนอให้บอร์ดกกพ.ให้ใบอนุญาตบริษัทแห่งหนึ่ง ที่สร้างโซลาร์ฟาร์มตั้งแต่ปี 2552 เกือบ 1 เมกะวัตต์ มีราคารับซื้อสูงถึงหน่วยละ11.80บาท แบ่งเป็นราคารับซื้อไฟฟ้าเป็นอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) หน่วยละ 8 บาทรวมค่าไฟฟ้าขายส่งอีกหน่วยละ 3.80บาท เป็นระยะเวลา10ปี โดยกกพ. ได้แจ้งให้กฟภ.ไปเตรียมเอกสารเพิ่มเติมเพื่อนำมาพิจารณาอีกครั้งในการประชุมกกพ.ครั้งต่อไป
ทั้งนี้ เนื่องจากราคาดังกล่าวถือเป็นราคารับซื้อที่สูงมาก เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่กฟภ. ขายส่งหน่วยละ 3.80บาท และราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ อาร์อี อยู่ที่หน่วยละ 2.16 บาท รวมทั้ง ขณะนี้เป็นช่วงนี้ที่ประชาชนร้องเรียนเรื่องค่าไฟฟ้าแพงอย่างหนัก หากมีการอนุมัติ จะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงมาก คือ ซื้อหน่วยละ11.80บาท แต่นำมาขายเข้าระบบได้แค่ 3.80บาท เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการรับซื้อไฟสูงถึงหน่วยละ11.80บาทนี้ เกิดจากข้อพิพาทระหว่างกฟภ. กับเอกชนรายหนึ่ง หลังจากกฟภ.ได้ลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าโครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแอดเดอร์8บาทเป็นเวลา10ปี แบ่งเป็นสัญญา 5 ปี ต่อสัญญาอัตโนมัติอีก 5 ปี ซึ่งเอกชนรายนี้ต้องขายไฟให้กฟภ.ในปี 2553 แต่เมื่อใกล้ครบกำหนดกฟภ.ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าเอกชนยังไม่ได้ก่อสร้างใด ๆ จึงมีหนังสือแจ้งเตือนให้เร่งสร้างจนครบกำหนดก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ
"ตามสัญญาเอกชนรายนี้จะต้องขายไฟให้กับ กฟภ.ปี 2553 แต่ก้ไม่มีการก่อสร้างอะไรเลย ต่อมาในปี 2555 ทางคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจึงมีมติให้กฟภ.ยกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขายไฟฟ้าได้ตามสัญญา จากนั้นกฟภ.มีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญากับเอกชนรายนี้ไป”
ทั้งนี้ ในปี 2560 เอกชนรายนี้ได้ยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการว่ากฟภ.แจ้งยกเลิกสัญญามิชอบเนื่องจากกฟภ.ส่งหนังสือแจ้งเลิกสัญญาไปยังบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทซึ่งตามสัญญาระบุว่าการยกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นหนังสือมายังบริษัทฯ ดังนั้นเมื่อบริษัทฯ ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งเท่ากับว่ายังไม่มีการยกเลิกสัญญาและในสัญญาระบุว่า หากบริษัทไม่ได้ดำเนินการตามสัญญากฟภ.ต้องมีหนังสือแจ้งเตือน โดยให้แก้ไขตามเวลาที่กำหนดเมื่อครบกำหนดแล้วบริษัทยังไม่ได้แก้ไขถึงจะมีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญา
อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 อนุญาตโตตุลาการวินิจฉัยให้กฟภ.ต้องรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนแห่งนี้ เพราะการยกเลิกสัญญามิชอบไม่ได้แจ้งยกเลิกสัญญาเป็นหนังสือส่งให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง ไปส่งให้คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องแทนและไม่ได้เตือนให้แก้ไขตามกำหนดเวลาเมื่อไม่ได้แก้ไขถึงจะยกเลิกสัญญาแต่อนุญาโตฯ ให้กฟภ.รับซื้อไฟฟ้าในราคาเดียวกับรายอื่นที่ขายให้กฟภ.ในราคาปี 2562 คือ ราคาขายส่งหน่วยละ 3.80บาท ราคาอาร์อีหน่วยละ 2.16บาท
"มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด กฟภ.ไม่นำประเด็นคดีขาดอายุความมาต่อสู้ และยังมีประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายหลายข้อมาต่อสู้ได้ เช่น กำหนดเวลาแก้ไข15 วัน หรือ 30 วัน แต่กฟภ.ยืดให้เป็นเวลา12เดือนทำให้เอกชนติดตั้งโซล่าฟาร์มได้ทันเวลา"
นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นกรณีที่ตั้งใจเปิดประเด็นข่าวเพื่อสื่อสารถึงปัญหาการฟ้องร้องการขอใบอนุญาตหรือการรับซื้อขายไฟจากบริษัทต่าง ๆ ที่มีการเปิดรับซื้อในขณะนี้ว่า กระบวนการฟ้องร้องมีความยุ่งยาก และต้องใช้เวลา รวมถึงหากจะแก้ไขกฏหมายก็อาจจะทำได้ยาก เพราะในช่วงนี้ทั้งพรรคการเมืองที่ใช้ประเด็นค่าไฟมาหาเสียงเลือกตั้งและกลุ่มเอกชนที่ต่อสู้กับราคาค่าไฟต่างมุ่งเป้าไปยังการแก้ไขสัญญาหรือการให้ใบอนุญาต รวมถึงการรื้อโครงสร้างการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน