ทอท.ดัน 'สุวรรณภูมิ' ขึ้นแท่นต้นแบบกรีนแอร์พอร์ต

ทอท.ดัน 'สุวรรณภูมิ' ขึ้นแท่นต้นแบบกรีนแอร์พอร์ต

ทอท.กางแผน 4 ปีนี้ ลุยปั้น “สุวรรณภูมิ” ต้นแบบกรีนแอร์พอร์ตแห่งแรกในไทย เตรียมติดตั้งโซลาร์เซลล์บริหารไฟฟ้าในอาคารผู้โดยสาร และรื้อระบบรถยนต์ภายในสนามบิน หันใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด คาดช่วยลดรายจ่ายค่าไฟได้ 20-30%

Key Points

  • ทอท.เดินหน้าพัฒนากรีนแอร์พอร์ต
  • ปั้น 'สุวรรณภูมิ' ต้นแบบแห่งแรกในไทย
  • ลุยลงทุนโซลาร์เซลล์ สร้างพลังงานหมุนเวียน
  • มั่นใจลดต้นทุนค่าไฟฟ้าเดือนละ 20-30%

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท.มีแผนผลักดันให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นท่าอากาศยานต้นแบบแห่งแรกในไทย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Airport โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนใช้ภายในท่าอากาศยานแห่งนี้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าให้ได้เฉลี่ยปีละ 20 – 30%

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ทอท.ได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของอาคารผู้โดยสารหลักที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประมาณ 5 เมกะวัตต์ ซึ่งการติดแผงโซลาร์เซลล์ ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะช่วยให้อาคารไม่ร้อน และช่วยประหยัดพลังงาน นำมาใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนได้ แต่หากจะให้เกิดเป็นรูปธรรมที่สามารถประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้จริง ทอท.จึงต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้เพิ่มขึ้นในปริมาณที่นำพลังงานหมุนเวียนเหล่านั้นมาใช้ได้

“ตอนนี้สนามบินในต่างประเทศก็หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแบบนี้กันหมดแล้ว นับว่าเป็นเทรนด์ของโลก แต่ไม่ใช่ว่าการที่ ทอท.หันมาทำเรื่องนี้จะเพื่อสอดรับต่อ Sustainable Airport อย่างเดียว สิ่งเหล่านี้ยังช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ยกตัวอย่างให้เห็นว่า จากเดิมที่ต้องเสียค่าไฟ 100 เมื่อติดแผงโซลาร์เซลล์จ่ายเพียง 70-80% เท่านั้น”

ทอท.ดัน \'สุวรรณภูมิ\' ขึ้นแท่นต้นแบบกรีนแอร์พอร์ต

สำหรับแนวทางดำเนินการ เบื้องต้น ทอท.จะหารือกับพันธมิตรที่เป็นผู้ติดตั้งระบบไฟฟ้าต่างๆ ของท่าอากาศยาน ทอท. ซึ่งปัจจุบันคู่สัญญา คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด หรือดีแคป (DCAP) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน (ปตท.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยอาจจะมีการเจรจาให้ทางภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้ ทอท. และหลังจากนั้นนำมาหักค่าใช้จ่ายกับค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน

นายกีรติ ยังกล่าวด้วยว่า ทอท.ประเมินพื้นที่ที่สามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มเติมในพื้นที่ใช้ประโยชน์ได้ อาทิ พื้นที่ข้างรันเวย์ พื้นที่บ่อน้ำ หรือพื้นที่กักเก็บน้ำรอบสุวรรณภูมิ ซึ่งเบื้องต้นได้ลงพื้นที่สำรวจแล้ว พบว่ามีพื้นที่มากพอที่จะสร้างไฟฟ้า เพื่อหมุนเวียนมาใช้ภายในอาคารผู้โดยสาร โดยที่ ทอท.ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากกริดไฟฟ้า (grid electrical) หรือเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันในการจ่ายไฟฟ้าจากผู้ผลิตต่างๆ ไปยังผู้บริโภค

“ส่วนความกังวลเรื่องราคาในการติดแผงโซลาร์เซลล์นั้น ส่วนตัวมองว่ามีหลายบริษัทที่สนใจเข้ามาลงทุนให้ ดังนั้น ทอท.อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนเองก็ได้ แต่ประโยชน์ที่ ทอท.จะได้รับจากเรื่องนี้ คือ มีการเรียกเก็บค่าไฟถูกกว่าเดิม 20% จากที่เคยซื้อจากกริดฯ และโมเดลนี้ปัจจุบันองค์กรอื่นๆ ได้มีการดำเนินการไปแล้ว เช่น การนิคมอุตสาหกรรม”

นอกจากนี้ ทอท.ยังตั้งเป้าหมายว่าภายใน 4 ปีนับจากนี้ ไฟฟ้าที่ใช้ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งหมดจะต้องมาจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว จะต้องขยายโมเดลเหล่านี้ไปยังอีก 5 ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. โดยมีเป้าหมายใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด ภายในระยะเวลา 4 ปีเช่นเดียวกัน

นายกีรติ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากการมองหาพลังงานหมุนเวียนแล้ว เพื่อผลักดันให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็น Green Airport ทอท.ยังมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ภายในท่าอากาศยาน โดยหากหมดสัญญาเช่ารถยนต์แล้ว จะทยอยปรับเปลี่ยนเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด อีกทั้งจะขอความร่วมมือไปยังขนส่งสาธารณะในการปรับใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเข้ามารอให้บริการในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ