‘ชโยทิต’ กางนโยบายเศรษฐกิจ ‘รทสช.’ มุ่งหารายได้เข้าประเทศ 4 ล้านล้านใน 2 ปี
‘ชโยทิต’กางนโยบายรทสช. สร้างรายได้เข้าประเทศ 4 ล้านล้าน เดินหน้า “ทำต่อ” ดึง EV ลงทุนในไทยเพิ่ม กองทุนรวม 2 แสนล้าน อัพไซด์กองทุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันจาก 1 หมื่นเป็น 3 แสนล้าน ดึงอุตฯชิพต้นน้ำ ผุดคนละครึ่ง – เราเที่ยวด้วยกันภาค 2 เพิ่มงบฯบัตรสวัสดิการ ปล่อยกู้ฉุกเฉิน
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงนโยบายของพรรคร่วมไทยสร้างชาติที่ได้หาเสียงด้วยสโลแกน “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” เนื่องจากที่ผ่านมาภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว โดยในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.6% และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่าในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่อง 4% รวมทั้งมีการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาแล้วจำนวนมากโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการลงทุนแล้วประมาณ 3.6 แสนล้านบาท การวางนโยบายเศรษฐกิจจึงต้องมีการวางแผนที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มมากขึ้นมากกว่าการไปกระตุ้นด้วยการแจกเงินอย่างเดียว
“เวลาขึ้นเวทีดีเบตที่การพูดว่าเศรษฐกิจไม่ดี ต้องถามกลับมาเอาข้อมูลตรงไหนมาเปรียบเทียบเพราะบางพรรคก็บอกเองว่าที่จะเอาเงินมาแจกเอามาจากภาษี 2.6 แสนล้านบาท ถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้นยังอยู่ในหลุมดำจะเอามีเงินส่วนนี้ให้แจกได้อย่างไร ผมเอาข้อมูลจากส่วนราชการมาพูด อีกพรรคบอกว่าไปถามพ่อค้าแม่ค้ามา ก็เถียงกันไม่จบเพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน ถามว่าข้าราชการที่ทำข้อมูลเขาไม่ถูกหรือก็คงไม่ใช่ วันนี้ตัวเลขที่ออกมาบอกแล้วว่าที่ทำมาเศรษฐกิจฟื้นตัว และสถานะของประเทศวันนี้มีเงินออมสูงมากกว่าเงินกู้ สิ่งนี้คือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย ไม่เช่นนั้นธนาคารล้มในสหรัฐฯ ไทยก็คงถูกกระทบมากไปแล้ว
การบิดเบือนข้อมูลต่างๆน่าเสียใจ คือในระหว่างการหาเสียงมีการนำข้อมูลมาห้ำหั่นกัน มาด้อยค่าประเทศ โดยไม่มีความเป็นจริงเป็นหลัก ทำให้ประชาชนสับสน”
ม.ล.ชโยทิต กล่าวต่อว่านโยบายในเรื่องที่จะ “ทำต่อ”มีทั้งนโยบายการหาเงินเข้าประเทศ ดึงดูดการลงทุน นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายแก้หนี้ให้กับประชาชน
ในส่วนแรกนโยบายสร้างรายได้เข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 2 ปี ต้องบอกว่านโยบายนี้ทำได้ไม่ใช่ความฝัน ตอนนี้การลงทุนจากต่างประเทศมีทิศทางเป็นบวก โดยมีตัวเลขที่ได้มีการวางแผนจะดึงการลงทุน และอุตสาหกรรมที่เริ่มทยอยเข้ามาลงทุนในหลายอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 3.6 แสนล้านบาท สมาร์ทอิเล็กทรอกนิกส์ 7 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมดิจิทัล 3 แสนล้านบาท
การลงทุนพลังงานสะอาดและพลังงานไฮโดรเจนจากซาอุดิอาระเบียประมาณ 6 แสนล้านบาท อีกส่วนคือการดึงต่างชาติที่มีทักษะและรายได้สูงเข้ามาอยู่ในไทย (LTR) มีการตั้งเป้าว่าจะดึงคนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในไทยอย่างน้อย 5 แสนคน ซึ่งจะมีการใช้จ่ายเงินรวมกันประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อคนต่อปี
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากภายนอกประเทศได้วางนโยบายที่จะเพิ่มวงเงินในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถนการแข่งขันของประเทศจาก 1 หมื่นล้านบาทเป็น 3 แสนล้านบาท โดยเงินในส่วนนี้จะให้ความสำคัญในการดึงดูดอุตสาหกรรมชิพ และเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ที่เป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และรถ EV โดยขณะนี้มีหลายบริษัทที่เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมนี้สนใจย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยแต่ต้องมีมาตรการเงินอุดหนุนมาช่วยเสริมด้วย
“การจะดึงเข้ามาประเทศไทยได้จะต้องมีเงินสนับสนุน หลังการลงทุนไปแล้วจะได้รีเทิร์นกลับมาไม่ต่ำกว่า 15 เท่าอย่างไรก็คุ้ม เพราะการผลิตของแต่ละบริษัทเฉลี่ย 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากกองทุนลงครึ่งหนึ่งหรือ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ต้องใช้เงิน 70,000 ล้านบาทแล้ว จึงต้องตั้งงบไว้ 3 แสนล้านบาท เพราะไม่ได้มองไว้เพียงรายเดียวที่จะดึงมาลงทุนแต่ต้องดึงมาทั้งซัพพายเชน เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตที่จะป้อนธุรกิจสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ เป็นการที่ต้องปักธงให้ได้ก่อน และจะได้รับผลดีในระยะยาว” ม.ล.ชโยทิต กล่าว
นอกจากนั้นนโยบายของ รทสช.ยังจะให้มีการตั้งกองทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยกองทุนนี้จะระดมทุนในประเทศ โดยขายหน่วยลงทุนให้ประชาชน มีผลตอบแทนในรูปเงินปันผล และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เหมือนกองทุนรวมระยะยาว (LTF) โดยการระดมทุนผ่านกองทุนฯนี้เมื่อรัฐได้เงินมาจะนำมาตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของผู้ประกอบการได้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณ ประกอบไปด้วย
1.กองทุนเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) 1 แสนล้านบาท โดยให้ผู้ประกอบการสามารถขอกู้เงินดอกเบี้ยต่ำได้
2.กองทุนปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอี 5 หมื่นล้านบาท โดยรัฐร่วมกับธนาคารของรัฐในการปล่อยสินเชื่อ
3.กองทุน BCG วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรม BCG เกิดขึ้น และกระจายไปทั่วประเทศ เช่น นำไปใช้ใช้ในโครงการโคล้านตัว ธุรกิจหมุนเวียน ธุรกิจสีเขียว ของชุมชน ซึ่งนโยบาย BCG เป็นนโยบายที่จะต้องส่งเสริมต่อเนื่อง ให้คนไทยมีรายได้เสริมจากเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) ซึ่งปัจจุบันมีการทำเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น การทำเชื้อเพลิงชีวภาพ การเพิ่มมูลค่าจากการจัดการขยะชุมชน การจัดการขยะพลาสติกครบวงจร การทำโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าชุมชน พรรครวมไทยสร้างชาติคำนวณแล้วว่าสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้ทันที 30-40% ได้ทันที ซึ่ง BCG สามารถไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆอีกมาก
และ 4.กองทุนธุรกิจสร้างสรรค์ และธุรกิจสตาร์ทอัพ 1 หมื่นล้านบาท โดยแหล่งที่มาของเงินทุนอาจจะแตกต่างจากกองทุนอื่น เนื่องจากธนาคารรัฐอาจไม่เก่งเรื่องนี้ รัฐก็จะเป็นผู้ไปเจรจากับผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มใหญ่ๆ ที่อยากมาช่วยประชาชนตรงนี้ อาจแบ่งเป็นภาคธุรกิจ 5,000 ล้านบาท และประชาชนที่สนใจอีก 5,000 ล้านบาท โดยให้บริษัทรายใหญ่เป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ และประชาชนก็จะเป็นผู้ให้ทุนกับสตาร์ทอัพเหมือนกับ Venture Fund ในต่างประเทศ ทำให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงเงินทุนและเดินหน้าธุรกิจได้
สำหรับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และดูแลสวัสดิการประชาชน ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่าพรรค รทสช.มีนโยบายบัตรสวัสดิการพลัส โดยจะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต่างจากแนวคิดของหลายพรรคที่ให้เงินเท่ากันทั้งคนรวยและคนจน โดยบัตรสวัสดิการพลัสจะเพิ่มเงินเป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน รวมปีละ 12,000 บาท และให้เบิกเงินฉุกเฉินล่วงหน้าได้ 10,000 บาท โดยกู้ยืมจากสถาบันการเงินของรัฐ
ส่วนมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นๆเช่น โครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกันภาค 2 ใช้เงินรวมประมาณ 6 หมื่นล้านบาท โดยโครงการคนละครึ่งจะให้สิทธิ์กับประชาชน 26 ล้านสิทธิ์ และโครงการเราเที่ยวด้วยกันภาค2 จะเน้นกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรองเพื่อให้การท่องเที่ยวในเมืองอื่นๆที่ไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยวมีความคึกคักเหมือนกับจังหวัดการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรัฐบาลจะดำเนินการต่อเนื่องจากที่ตอนนี้มีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ก็จะขยายรูปแบบนี้ไปยังภูมิภาคอื่นๆเช่น ภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้
“เรามีความเชื่อเสมอว่าความเท่าเทียมคือให้โอกาสคน การแจกเงินอย่างไม่มีเหตุผล แล้วไปขึ้นภาษี เก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้น เป็นการปล้นคนกลุ่มหนึ่งมาให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง คนเสียภาษีเขาอาจไม่เห็นด้วย ถ้าเอาไปแจก ถ้าอาไปสร้างรายได้ให้ประเทศไม่ว่ากัน ถ้าไปเก็บภาษีจากคนรวยมากๆ เพื่อเอามาแจกก็เหมือนไปปล้นมา เดี๋ยวจะเหมือนประเทศฝรั่งเศสที่ไล่เก็บภาษีคนรวย จนคนรวยขนเงินออกนอกประเทศกันหมด ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องยกเลิกเพื่อดึงคนรวยกลับประเทศ” ม.ล.ชโยทิตกล่าว
ในส่วนสุดท้ายคือนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ให้ประชาชน ประกอบด้วยหลายนโนบาย เช่น การกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ เพื่อให้ชำระดอกเบี้ยต่ำลง การแก้ปัญหานี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 6.8 ล้านราย ที่เสียดอกเบี้ยอยู่ 7-8% โดยจะลดดอกเบี้ยให้เหลือ 0.5% พร้อมแก้ปัญหาให้คนที่ค้ำประกัน 3 ล้านคน ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาหหนี้ของสหกรณ์ที่มีการกู้ยืมและคิดดอกเบี้ยสูง เช่น สหรกรณ์ครู และตำรวจ จะหักเงินใช้หนี้ได้ แต่ต้องเหลือเงินเดือนไม่น้อยกว่า 30%
นอกจากนั้นยังจะต้องเร่งแก้ไขหนี้ส่วนบุคคล “รหัส 21” ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เกิดโควิด-19 มีคนประมาณ 30 ล้านราย มูลหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท การแก้หนี้ภาคเกษตรให้เบ็ดเสร็จ โดยอยู่ระหว่างหารือกับสถาบันป๋วย อึ้งภาการณ์ โดยการแก้ไขทั้งหมดนี้จะลดสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนลงมาได้