มาตรการหนุนลงทุนแบต EV ชี้ชะตาอนาคตศูนย์กลางผลิต 'อาเซียน'
ผู้ผลิตแบต ลุ้น ครม.เคาะมาตรการสนับสนุนลงทุน หลังบอร์ด EV อนุมัติไปตั้งแต่เดือน ก.พ.66 ลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 1% อัดงบ 2.4 หมื่นล้านหนุนเอกชน “บีโอไอ” อนุมัติส่งเสริมลงทุนแบตไปแล้ว 21 บริษัท ลงทุน 1.8 หมื่นล้านบาท
Key Points
- มาตรการส่งเสริมการลงทุนแบตเตอรี่สำหรับ EV ได้รับอนุมัติจากบอร์ด EV ตั้งแต่เดือน ก.พ.2566
- ผู้ผลิตแบตเตอรี่กำลังลุ้นให้มาตรการสนับสนุนการลงทุนแบตเตอรี่เสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ
- การสนับสนุนการลงทุนแบตเตอรี่จะมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนผู้ผลิต 24,000 ล้านบาท
- ปัจจุบัน BOI ส่งเสริมการลงทุนแบตเตอรีไปแล้ว 21 บริษัท มูลค่าการลงทุนรวม 18,000 ล้านบาท
คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ประชุมเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 เห็นชอบในหลักการมาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจาก 8% ลดเหลือ 1%
รวมทั้งมีมาตรการที่สำคัญคือ การให้เงินสนับสนุนวงเงิน 24,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตแตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับเงินสนับสนุนจะขึ้นกับขนาดของโรงงานผลิตแบตเตอรี่และความจุพลังงานจำเพาะของแบตเตอรี่ โดยโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดต่ำกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 400-600 บาท/kWh หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh
ทั้งนี้ เนื่องจากวงเงินงบประมาณมีจำนวนจำกัด การให้เงินสนับสนุนจะอยู่บนหลักการ “ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน” โดยเงินสนับสนุนที่ภาครัฐให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตของรถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าขายในตลาดมีราคาถูกลงด้วย
แหล่งข่าวจาก กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งมีผู้ผลิตแบตเตอรี่หลายรายกำลังรอมาตรการดังกล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ขณะนี้ไทยได้รับความสนใจจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ระดับโลกในการมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวีในประเทศ เพราะปัจจัยบวกหลายประการ ประกอบด้วย
1.ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบาย 30@30 หรือ การผลิตร้อยละ 30 ในปี 2030 (พ.ศ.2573) ที่ชัดเจนและออกมาตรการส่งเสริมในด้าน Demand-Supply อย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจมากขึ้น
2.ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากมาตรการให้เงินสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งบอร์ดอีวีได้อนุมัติไปเมื่อปีที่แล้ว
3.การที่ผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายจีนและค่ายยุโรป ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของผู้ผลิตแบตเตอรี่ได้มีการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแล้ว
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้ส่งเสริมกิจการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งระบบ โดยมีมาตรการให้สิทธิประโยชน์กับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ประกอบด้วย
รถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า และเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนและอุปจกรณ์ำ สถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่
แหล่งข่าวจากบีโอไอ ระบุกับกรุงเทพธุรกิจว่า การส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า ข้อมูลถึงเดือน มี.ค.2566 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.การผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV มีการลงทุน 20 โครงการ จาก 13 บริษัท เงินลงทุน 9,264 ล้านบาท เช่น
บริษัท ดีทีเอส แดร็คเซิลไมเออร์ ออโทโมทีฟ ซีสเท็มส์ (ประเทศไทย) , บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย , บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) , บริษัทธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง , บริษัทเอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี
2.การลงทุนผลิตแบตเตอรี่ความจุสูง (สำหรับทุกอุตสาหกรรม) เงินลงทุนรวม 9,309 ล้านบาท รวม 8 บริษัท (8 โครงการ) เช่น
บริษัทอมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ (EA) , บริษัทนูออโว พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. , บริษัทเบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด
ทั้งนี้ เมื่อรวมจำนวนผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนแบตเตอรี่ทั้ง 2 ประเภท จะมีทั้งหมด 21 บริษัท (28 โครงการ) มีเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) 18,573 ล้านบาท
“อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว จากมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้า"
โดยเฉพาะรถยนต์ BEV เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยอดจดทะเบียนรถยนต์ BEV ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้สูงถึงกว่า 11,000 คัน เพิ่มขึ้น 8 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รวมถึงยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าในงานมอเตอร์โชว์ครั้งล่าสุดที่มากกว่า 9,000 คัน
ขณะที่มีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ๆ ได้ทยอยเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย ทั้งผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น MG, Great Wall Motor, BYD, NETA, Foxconn
รวมทั้งรายล่าสุดอย่าง GAC AION จากประเทศจีนที่ได้หารือกับบีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศไทยด้วย