'สำรองไฟ-ประมูลรอบใหม่' ไม่มีผลกระทบ 'ค่าไฟฟ้า'
"พลังงาน" ระบุ การสำรองไฟ-เปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจาก "พลังงานหมุนเวียน" รวมกว่า 9 พันเมกะวัตต์ รอบใหม่ ไม่มีผลกระทบต่อราคา "ค่าไฟฟ้า"
การก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เวลา 3-5 ปี และถ้าสร้างท่อก๊าซด้วยจะใช้เวลา 5-7 ปีทำให้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) หรือการอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าต้องวางแผนล่วงหน้า เพื่อจัดหาโรงไฟฟ้าใหม่ให้พอความต้องการ ป้องกันไม่ให้ไฟตกหรือไฟดับ เพื่อสร้างเสถียรภาพพลังงานและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่เป็นไปตามประมาณการ เศรษฐกิจถดถอยและจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยลดลง ความต้องการใช้ไฟฟ้าจึงน้อยทำให้ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เคยคาดการณ์ไว้ดูมากกว่าการใช้ไฟฟ้าจริง
ที่ผ่านมามีการสร้างความเข้าใจผิดให้ประชาชนว่ามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองล้น 50-60% ซึ่งเป็นการนำกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดมารวม และไม่คำนึงความเสถียรแต่ละแหล่งผลิตไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เสถียรจึงต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เสถียรสำรอง
โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าได้แตกต่างกัน เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตได้ช่วงกลางวัน 4-5 ชม./วัน ขณะที่พลังงานลมส่วนใหญ่ผลิตได้ช่วงหัวค่ำและกลางคืนวันละ 6-7 ชั่วโมงส่วน พลังงานน้ำ ผลิตได้ในฤดูฝน
ประเทศที่มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเยอะต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากขึ้นเพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งการที่บอกว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองควรมีแค่ 15-20% เป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้ประชาชน
นอกจากนี้ กรณีที่ระบุว่า Reserve Margin (RM) ทำให้ค่าไฟแพง จะเห็นว่าค่าไฟที่สูงขึ้นในปี 2565 ไม่แปรผันตาม Reserve Margin โดยช่วงโควิด-19 ต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยลงทำให้ Reserve Margin สูงขึ้นไม่กระทบค่าไฟ ส่วนปี 2558 ที่ Reserve Margin มีเพียง 29% แต่ค่าไฟสูงถึง 3.86 บาท
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ประเทศที่มีพลังงานหมุนเวียนมากจะมีสำรองไฟสูงขึ้น ซึ่งทำให้หลายประเทศมีสำรองไฟฟ้าค่อนข้างสูง เช่น สเปน มี Reserve Margin ที่ 180% ขณะที่สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 51.1%
นอกจากนี้การที่ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นมาจากต้นทุนเชื้อเพลิง ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสัมปทานมีผลต่อกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทย ที่แหล่งเอราวัณมีต้นทุนถูก 5-6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู โดยก๊าซส่วนนี้หายไปจากสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร (Spot LNG) จากเดิม 5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขึ้นมาถึง 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และปัจจุบันลดมาที่ 12-13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
ดังนั้น การที่ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นจึงเป็นการแปรผันตามราคาก๊าซอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในปี 2564 ในขณะที่ก๊าซมีราคาสูงขึ้นแต่รัฐตรึงค่าไฟเพื่อลดผลกระทบประชาชน แต่เป็นมาตราการระยะสั้นเท่านั้น
ขณะที่การเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ไม่มีผลต่อค่าไฟฟ้า โดยเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ปริมาณ 3,668 เมกะวัตต์ โดยต่อยอดจากมติ กพช.วันที่ 6 พ.ค.2565 ที่รับซื้อ 5,203 เมกะวัตต์
สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้ารอบใหม่มีผลในการดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพราะนักธุรกิจต่างชาติเลือกลงทุนในประเทศที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพียงพอดังนั้น ถ้าไทยมีไม่เพียงพอจะดึงFDI ไม่ได้ และลดขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งไทยเข้าร่วม COP26 และได้ประกาศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 (พ.ศ.2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 (พ.ศ.2608)
โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เปิดรับซื้อใหม่จะเป็นไฟราคาถูก ช่วยลดค่า Ft ส่งผลให้ค่าไฟลดลงเพราะลดพึ่งก๊าซธรรมชาติที่ราคาผันผวนสูง หากไม่เปิดรับซื้อรอบใหม่จะทำให้ต้องผลิตไฟจากก๊าซธรรมชาติที่ต้นทุน 3.71 บาท/หน่วย (คำนวณจากราคา Pool Gas ที่ 444 บาท/ล้านบีทียู ณ เดือน ม.ค.-มิ.ย.2565) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้ค่าไฟแพง ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่มีต้นทุนเพียง 2.0724-3.1014 บาท/หน่วย และราคาถูกกว่าค่าไฟเฉลี่ยประเทศที่ 4.72 บาท/หน่วย
การรับซื้อพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ทยอยเปิดปี 2567-2573 เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่ปลดระวางช่วงดังกล่าว 9,800 เมกะวัตต์ประกอบด้วย ผลิตไฟฟ้าราชบุรี (3,481 เมกะวัตต์), โกลว์ ไอพีพี (713 เมกะวัตต์), โกบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (700 เมกะวัตต์), โรงไฟฟ้าน้ำพองชุดที่ 1-2 (650 เมกะวัตต์), โรงไฟฟ้าบางปะกง เครื่องที่ 3 (576 เมกะวัตต์), โรงไฟฟ้าบางปะกง เครื่องที่ 4 (576 เมกะวัตต์), โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 10-11 (540 เมกะวัตต์), โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 12-13 (540 เมกะวัตต์), โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 9 (270 เมกะวัตต์), ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (1,023.8 เมกะวัตต์) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (606.2 เมกะวัตต์)
นอกจากนี้ ประเด็นรับซื้อพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่จะมีการประมูลแข่งขันคัดเลือกผู้ลงทุน โดยดูความพร้อมนักลงทุน เช่น ที่ดิน เทคโนโลยี ประสบการณ์ การเงิน แผนการดำเนินงาน โดยที่ไม่ได้เปิดประมูลราคาเพราะอดีตมีประมูลแข่งด้านราคา แต่มีบางกลุ่มที่ไม่พร้อมแล้วเสนอราคาถูกเกินจริงจนสร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้ทำให้จัดหาไฟฟ้าไม่ได้ตามแผน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.จะดำเนินการเปิดประมูลไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบที่ 2 จำนวน 3,668 เมกะวัตต์ให้เสร็จภายในปี 2566 โดยกกพ.รวบรวมโรงไฟฟ้าที่ผลิตตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 ไม่ได้ เช่น ไฟฟ้าจากลาวที่เข้าระบบไม่ทันปี 2571 รวมถึงรวบรวมส่วนที่ผลิตเข้าระบบไม่ทันตามแผน PDP และที่ กพช.เห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นในรอบ 2