เราเรียนรู้ที่จะคุ้มครองสังคมแค่ไหนหลังโควิด 19 | โรซาเลีย ชอร์ติโน

เราเรียนรู้ที่จะคุ้มครองสังคมแค่ไหนหลังโควิด 19 | โรซาเลีย ชอร์ติโน

แม้ไม่อาจพูดได้ว่าเราได้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 โดยสิ้นเชิงแล้ว แต่ก็เป็นเวลานานพอที่จะมีบทเรียนต่างๆ จากการฝ่าวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้เราสามารถนำไปปรับปรุงนโยบายของรัฐให้มีประสิทธิภาพ และรองรับวิกฤติสังคมได้ดีขึ้น

แต่เนื่องจากความซับซ้อนและความพัวพันกันของปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ปัญหาโควิด-19 ไม่ใช่แค่เป็นปัญหาสุขภาพ แต่เป็นปัญหาที่เรียกว่า Syndemic คือ เป็นการระบาดที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงมาจากต้นตอมากกว่าหนึ่ง

ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กันหรือต่อเนื่องกัน โควิด 19 อาจจะเริ่มต้นที่ปัญหาสุขภาพ แต่ในที่สุดก็เกิดผลกระทบในวงกว้างทั้งเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม

การระบาดของโควิดไม่ได้สร้างปัญหาเดียว แต่สร้าง ขยาย และตอกย้ำปัญหาไปบนความซับซ้อนเชิงโครงสร้างและรอยร้าวที่มีอยู่เดิมในสังคมต่างๆ เกี่ยวกับการจ้างงาน ชนชั้น เพศสภาพ ชาติพันธุ์ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิมรุนแรงและแก้ไขยากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นปัญหาที่มีผลต่อกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางมากกว่ากลุ่มอื่น

เราเรียนรู้ที่จะคุ้มครองสังคมแค่ไหนหลังโควิด 19 | โรซาเลีย ชอร์ติโน

แม้ว่าอาจจะมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ไขปัญหา โดยใช้มาตรการทางสังคมเชิงกายภาพ (เช่น การรักษาระยะห่าง การลดความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน) และการให้การป้องกันเชิงชีวภาพ (เช่น การฉีดวัคซีน)

ก็ไม่อาจจะลบล้างผลกระทบแบบ Syndemic ได้อย่างยั่งยืน และเมื่อเกิดโรคระบาดครั้งใหม่ปัญหาเดิมๆ ก็จะหวนกลับมาอีก แล้วจะไม่มีใครจะมีความปลอดภัยอย่างแท้จริง หากโครงสร้างของสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาค

ดังนั้น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมเพื่อให้รับมือกับการระบาดในอนาคตได้ดีขึ้นก็คือ การสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ดี

Polanyi (1994) เคยกล่าวไว้ว่า ความสำคัญของการคุ้มครองทางสังคมก็เพื่อที่จะกำกับระบบเศรษฐกิจตลาดให้มีหลักประกันว่าประชาชนจะมีชีวิตที่ดีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้น ระบบเศรษฐกิจตลาดที่ไม่มีการคุ้มครองทางสังคมจะสร้างความเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้งในสังคมและการต่อต้านจากกลุ่มคนยากจนหนักขึ้น

การคุ้มครองทางสังคมคืออะไร องค์กรระหว่างประเทศให้นิยามว่า การคุ้มครองทางสังคมเป็นการใช้นโยบายที่หลากหลายต่อการคุ้มครองแรงงานและกลุ่มเปราะบาง เมื่อเกิดผลกระทบต่อรายได้อย่างไม่คาดฝันและเพื่อลดความเสี่ยงต่ออุบัติภัยต่างๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกิดอานิสงส์ทั่วหน้า

ดังนั้น นโยบายการคุ้มครองทางสังคมจึงหมายรวมถึงการป้องกันการใช้แรงงานที่ยุติธรรม การเพิ่มทุนสังคม การลดการกีดกันในสังคม

และการคุ้มครองกลุ่มเปราะบางจากผลกระทบอย่างไม่คาดฝันจากภัยธรรมชาติและการแปรผันทางเศรษฐกิจสังคมรวมไปถึงนโยบายที่ป้องกันการใช้ความรุนแรงและความไม่สงบ 

เราเรียนรู้ที่จะคุ้มครองสังคมแค่ไหนหลังโควิด 19 | โรซาเลีย ชอร์ติโน

ในระดับการปฏิบัติการ ระบบคุ้มครองทางสังคมรับประกันความมั่นคงทางรายได้ และการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสำหรับทุกคน ซึ่งอาจจะเป็นในลักษณะของเงินเยียวยา เงินบำนาญ การให้สิ่งของและสวัสดิการทางสังคม

สำหรับกลุ่มเปราะบางต่างๆ การคุ้มครองทางสังคม ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการได้รับสวัสดิการฟรี และอาจจะเป็นการคุ้มครองที่มีระบบร่วมจ่ายโดยผู้รับผลประโยชน์ได้

ผู้เขียนได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ให้ศึกษาและเปรียบเทียบระบบคุ้มครองทางสังคมของประเทศในอาเซียนบางประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด 19 อย่างรุนแรง 

ทีมวิจัยนานาชาติพบว่า ความพยายามของรัฐที่จะแก้ปัญหากลับซ้ำเติมปัญหาสังคมที่มีอยู่เดิม มาตรการของรัฐไม่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาที่แท้จริง

เช่น การจำกัดการเดินทางเหมาะกับชนชั้นกลางมากว่าชนชั้นแรงงาน ในประเทศเวียดนาม แรงงานย้ายถิ่นกล้าพอที่จะท้าทายอำนาจรัฐเพื่อหาทางที่จะกลับบ้าน เพราะเป็นโอกาสรอดจากการอดตายในเมืองเมื่อตกงาน 

ถึงแม้ประเทศไทยซึ่งมีระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ครบถ้วนที่สุดในบรรดาประเทศที่ศึกษา แต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐก็ยังน้อยไป ช้าไป และไปไม่ถึงผู้ที่ต้องการมากที่สุด และยังมีข่าวคราวของหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้นและการฆ่าตัวตาย 

แม้แต่ในสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วโควิด 19 ได้เปิดเผยให้เห็นถึงสภาพของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เลวร้ายและต่ำกว่าสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีการล็อกดาวน์ยาวที่สุดในโลกกลับกลายเป็นชาติที่อยู่ในกลุ่มที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดในภูมิภาค

การวิเคราะห์ในภาพรวมพบว่า รัฐบาลในอาเซียนรีบจัดหาและเพิ่มมาตรการการคุ้มครองทางสังคม และได้ใช้งบประมาณอย่างมหาศาลในการคุ้มครองประชาชน แต่กลับพบความย้อนแย้ง (Paradox) ที่เกิดจากอคติเชิงระบบ (Systemic bias) ที่ทำให้ความพยายามที่ช่วยเหลือกลับทำให้ความเหลื่อมล้ำมากไปกว่าเดิม 

แม้แต่ประเทศไทยซึ่งมีการคุ้มครองพร้อมเพรียงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ในภาพรวมทุกประเทศพบว่า รัฐบาลไม่ได้เน้นการให้ความรู้ต่อสาธารณชน เกี่ยวกับความสำคัญของมาตรการทางสังคมที่ใช้และวิธีการใช้อย่างถูกต้อง

และไม่ได้ให้ความสนใจเพียงพอที่จะจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นตั้งแต่หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ เครื่องตรวจวัด ATK และชุด PPE อย่างเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ยากไร้สามารถที่จะคุ้มครองตัวเองได้

การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลใหม่จะได้ทบทวนมาตรการโดยเฉพาะกลไกที่ยังไปไม่ถึงคนที่ต้องการการคุ้มครองมากที่สุด

ผู้ที่สนใจการศึกษานี้สามารถเข้าร่วมงานเสวนาของทีมวิจัยนานาชาติเพื่อเปิดตัวหนังสือเรื่อง “Who Cares? COVID-19 Social Protection Response in South East Asia” โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ มูลนิธิ SEA Junction ชั้น 4 ห้อง 408 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 2 มิ.ย.2566 เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป