5 สัญญาณบวก ‘สนามบินอู่ตะเภา’ ‘UTA’ เร่งเครื่องเปิดเฟสแรกปี 67
"UTA" เผย 5 สัญญาณบวกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ยันเดินหน้าเปิดเฟส 1 ปี 2570 เป้าผู้โดยสารระยะแรก 12 ล้านคนต่อปี ก่อนขยับขึ้นตามการเดินทางของนักท่องเที่ยว ชี้โครงสร้างพื้นฐานเดินหน้า การออกแบบยังทำแผนร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
แม้โครงการจะมีความล่าช้ามากว่า 2 ปีเศษ สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าการลงทุนกว่า 2.04 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ล่าสุด วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ในฐานะเอกชนผู้ได้รับสัมปทานในการบริหารโครงการดังกล่าวระบุว่าโครงการนี้จะเปิดในระยะที่1 ในปี 2570 แน่นอน โดยปรับเป้าหมายผู้โดยสารลงจาก 15.9 ล้านคน เหลือ 12 ล้านคนต่อปี เนื่องจากในช่วงแรกต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19
แม้จะมีจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงในช่วงแรกแต่ UTA ยังประเมินว่าในระยะต่อไปผู้โดยสารที่เข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาในการเดินทางจะได้ตามเป้าหมายที่ 60 ล้านคน โดยปัจจุบันมีสัญญาณบวก 5 ข้อ ที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการนี้ได้แก่
1.ความคืบหน้าของมอเตอร์เวย์เข้าสนามบินอู่ตะเภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายสนามบินอู่ตะเภา ที่จะเป็นทางยกระดับเชื่อมจากมอเตอร์เวย์เข้ามายังสนามบิน วงเงินก่อสร้าง 4,508 ล้านบาท โดยให้กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานในการดำเนินโครงการ โดยกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานจัดหาเงินกู้สำหรับก่อสร้างโครงการ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้การเดินทางของรถเข้าสู่สนามบินอู่ตะเภา
2.สาธารณูปโภคพื้นฐานของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา มีความคืบหน้า ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบน้ำเย็น ซึ่งบริษัทบีกริม พาวเวอร์ ได้ดำเนินการคืบหน้าไปมากคาดว่าจะสามารถให้บริการในส่วนของโซลาร์เซลล์ได้ในปี 67 และพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบในปี 68 ระบบน้ำประปาและระบบบำบัดน้ำเสียซึ่งดำเนินการโดยบริษัทอีสวอเตอร์ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 68 ระบบเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน โดยบริษัท Global Aero พร้อมให้บริการเมื่อสนามบินเปิดให้บริการระยะที่ 1
3.การส่งมอบพื้นที่ในการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถรื้อย้าย สิ่งกีดขวางการออกจากพื้นที่ก่อสร้างสำคัญได้รับความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่คือกองทัพเรือ
4.การเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐในพื้นที่อีอีซี ที่มีการลงทุนก่อสร้างอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม โดยมีการสนับสนุนให้มีการเปิดประมูลนานาชาติ (International Bidding) โดยผู้รับเหมาโครงการทั้งไทยและต่างประเทศสามารถเข้ามาแข่งขันได้ภายใต้กติกาที่เป็นสากล
และ 5.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ยังมีการวางแผนงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ว่าจะออกแบบและก่อสร้างอย่างไร เนื่องจากในแผนของมาสเตอร์แพลนในอีอีซี มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมสนามบิน 3 แห่งเข้าด้วยกัน ดังนั้นในการออกแบบสนามบิน และกำหนดจุดก่อสร้างต่างๆต้องมีการวางแผนร่วมกันทั้งบนแผนที่อยู่ในกระดาษ และการทำงานในพื้นที่จริง