การทางพิเศษฯ ลุยด่วนสุวรรณภูมิ 2.1 หมื่นล้าน คาดประมูลปลายปีหน้า
การทางพิเศษฯ ลุยศึกษาสร้างด่วนศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2.1 หมื่นล้านบาท คาดแล้วเสร็จปีนี้ เปิดประมูลปลายปี 2567 ชูโมเดลเดินหน้าเจรจา ทอท.ร่วมลงทุน ชี้เป็นประโยชน์ผู้โดยสารใช้เส้นทางเชื่อมต่อสนามบิน
รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางพิเศษ สายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยระบุว่า ภายหลัง กทพ.ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงเมื่อเดือน ก.ค.2565 เพื่อบูรณาการความร่วมมือ ถ่ายโอนโครงการดังกล่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน และผลักดันให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเร็วนั้น
ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งออกแบบกรอบรายละเอียดของโครงการฯ โดยคาดว่าจะเริ่มศึกษาความเหมาะสมภายในเดือน พ.ค.นี้ โดยขั้นตอนดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน จึงคาดศึกษาโครงการจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ หลังจากนั้นจึงจะเริ่มขั้นตอนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)
โดย กทพ.ประเมินว่าระหว่างจัดทำรายงาน EIA นั้น สามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้ เบื้องต้นจึงคาดว่าภายในปี 2567 จะสามารถสรุปรายละเอียดผลการศึกษาโครงการ และความคิดเห็นของภาคประชาชนเพื่อเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินงานได้ โดยหากโครงการได้รับการอนุมัติ ก็จะสามารถเปิดประกวดราคาได้ในช่วงปลายปี 2567 และเริ่มก่อสร้างทันที
“ถ้าโครงการได้รับอนุมัติ โครงการทางด่วนสายนี้จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ดำเนินการได้เลย และเร็ว เพราะพื้นที่ก่อสร้างเป็นเขตของกรมทางหลวงอยู่แล้ว ไม่ต้องเวนคืน ส่วนงบประมาณการลงทุน การทางฯ ก็คาดว่าจะต้องเปิดหาเอกชนร่วมลงทุนในลักษณะ PPP ดังนั้นเราต้องศึกษาให้รอบคอบว่าผลตอบแทนคุ้มค่าและจูงใจเอกชนหรือไม่”
รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า กทพ.มีแนวคิดที่จะเชิญชวน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าร่วมลงทุนโครงการนี้ด้วย เพราะแนวเส้นทางของทางด่วนสายนี้จะเชื่อมต่อไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่ง ทอท.จะได้รับประโยชน์สูงสุดหากดำเนินการก่อสร้างทางด่วนแล้วเสร็จ เพราะจะสามารถรองรับผู้โดยสารเดินทางเข้าออกท่าอากาศยาน และยังเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง แก้ปัญหาการจราจรติดขัดอีกด้วย
อย่างไรก็ดี รูปแบบการลงทุนขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะจำเป็นต้องรอผลการศึกษาเปรียบเทียบผลตอบแทนทางการลงทุนด้วยว่าจะเหมาะสมกับรูปแบบใด หากดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) จะมีผู้สนใจหรือไม่ หรือหาก ทอท.สนใจร่วมลงทุน จะช่วยลดภาระค่าก่อสร้างโครงการ ทำให้ผลตอบแทนทางการเงินดีขึ้นหรือไม่
ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า การลงทุนโครงการทางพิเศษ สายศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัจจุบัน ทอท.ยังไม่ได้มีการหารือร่วมกับ กทพ.อย่างเป็นทางการ เนื่องจากโครงการนี้ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ก่อน ซึ่งจะต้องพิจารณาในหลายด้าน เช่น สถานการณ์การเงินของ ทอท. และพันธกิจของ ทอท.ว่าสามารถร่วมลงทุนได้หรือไม่ รวมถึงต้องดูความคุ้มค่าในการลงทุนด้วย
ทั้งนี้ โครงการทางพิเศษ สายศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีระยะทาง 18.5 กิโลเมตร เบื้องต้นประเมินโครงการมีมูลค่าลงทุนเบื้องต้น 21,892 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างจำนวน 21,104 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์จำนวน 788 ล้านบาท โดยแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช ส่วน D บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ไปตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.18 แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง สามารถเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างสะดวก