ส่องสินทรัพย์ ‘การบินไทย’ คงแผนเทขายเครื่องบิน – อสังหาฯ

ส่องสินทรัพย์ ‘การบินไทย’ คงแผนเทขายเครื่องบิน – อสังหาฯ

“การบินไทย” เปิดรายการสินทรัพย์รอทำการขายทอดตลาด ทั้งอากาศยานปลดระวางคงเหลือ 12 ลำ สำนักงานขายและบ้านพักพนักงานทั้งในและต่างประเทศ มั่นใจหากเจรจาจบดีลจะหนุนรายได้ต่อเนื่อง ทำองค์กรฟื้นฟูกิจการอย่างยั่งยืน

Key Points

  • การบินไทยกำไรพุ่ง 1.2 หมื่นล้านบาท
  • กระแสเงินสดในมือสูงต่อเนื่อง
  • คงแผนขายสินทรัพย์ไม่จำเป็น
  • อากาศยานปลดระวางรอขาย 12 ลำ
  • อสังหาริมทรัพย์รอขายทั้งในและต่างประเทศ

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 41,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งมีรายได้รวม 11,181 ล้านบาท หรือ 271.2% โดยมีปัจจัยสำคัญจากการเติบโตของรายได้การขนส่งผู้โดยสารจากการกลับมาให้บริการเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารเพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งบริษัทฯ และบริษัทย่อยยังมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการปรับโครงสร้างหนี้ การจำหน่ายสินทรัพย์ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นรายได้รวม 2,987 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 12,523 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนหน้าขาดทุน 3,243 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 12,514 ล้านบาท

โดยภาพรวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 65 ลำ มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.3 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 121.4% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 469.2% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 83.5% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 32.5% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 3.52 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 245.1%

ส่วนสินทรัพย์มีรวมจำนวน 208,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 10,267 ล้านบาท (5.2%) หนี้สินรวมจำนวน 266,948 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 2,254 ล้านบาท (0.8%)  ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 58,503 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 12,521 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี จากผลการดำเนินงานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันการบินไทยยังคงมีรายได้จากรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวอย่างการขายสินทรัพย์เข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยยังคงแผนประกาศขายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ทางการเงินจะดีขึ้น และมีกระแสเงินสดในมือ (แคชโฟว์) สูงถึง 42,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 5,757 ล้านบาท

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) THAI เผยถึงเรื่องนี้ว่า แม้ว่าปัจจุบันการบินไทยจะมีแคชโฟว์จำนวนมากเพียงพอต่อการบริหารกิจการแล้ว แต่เพื่อทำให้การบินไทยกลับมาเติบโตอย่างเข้มแข็ง และมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การบินไทยจึงยังคงแผนขายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็น อาทิ เครื่องบินปลดระวางที่มีต้นทุนค่าซ่อมสูง และอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ

“ปัจจุบันช่องทางจำหน่ายตั๋วโดยสารส่วนใหญ่จะเป็นช่องทางออนไลน์ ดังนั้นการมีสำนักงาน และบ้านพักพนักงานทั้งและต่างประเทศอาจไม่จำเป็นสำหรับการทำธุรกิจแล้ว ทำให้เรายังคงแผนขายสินทรัพย์ประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง หากว่ามีผู้สนใจที่ให้ราคาสมเหตุสมผล เพราะปัจจุบันการบินไทยไม่ได้มีแผนเร่งขายเพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่เราคงขายเพื่อบริหารธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งาน”

สำหรับสินทรัพย์ที่การบินไทยอยู่ระหว่างประกาศขายในปัจจุบัน จะแบ่งออกเป็น สินทรัพย์ประเภทอากาศยานปลดระวาง จำนวน 12 ลำ ได้แก่

  • โบอิ้ง 777 – 200 จำนวน 6 ลำ
  • แอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ

อากาศยานที่ทำการซื้อขายแล้วเสร็จรอส่งมอบ ได้แก่

  • แอร์บัส 747 จำนวน 10 ลำ
  • แอร์บัส A340 จำนวน 9 ลำ

อากาศยานอยู่ระหว่างทำสัญญาซื้อขาย ได้แก่

  • โบอิ้ง 777 – 300 จำนวน 6 ลำ

ส่วนสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ระหว่างประกาศขาย ได้แก่

  • สำนักงานขาย จังหวัดเชียงใหม่
  • สำนักงานขาย จังหวัดพิษณุโลก
  • สำนักงานขาย กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
  • บ้านพักพนักงาน ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
  • สำนักงานขาย ณ ปีนัง มาเลเซีย
  • สำนักงานขาย ณ ฮ่องกง

นายชาย ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป สินทรัพย์ที่การบินไทยประกาศขายเหล่านี้ได้พิจารณาแล้วว่าไม่สนับสนุนต่อการดำเนินธุรกิจ เป็นสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็น หากยังคงเก็บไว้จะทำให้การบินไทยต้องมีต้นทุนดูแลรักษาเพิ่มขึ้น ดังนั้นแม้ว่าจะขายได้ในราคาไม่มากนัก แต่ก็จะสามารถเป็นส่วนสนับสนุนผลการดำเนินงานของการบินไทยให้เข้มแข็งได้ ซึ่งเป้าหมายของการบินไทยจะเจรจาขายสินทรัพย์เหล่านี้ให้ได้ราคาสมเหตุสมผลมากที่สุด