รัฐบาล ‘แพทองธาร’ ประเมิน 9 ความท้าทาย สินค้าจีนบุกไทย โลกร้อน ศึกภูมิรัฐศาสตร์

รัฐบาล ‘แพทองธาร’ ประเมิน 9 ความท้าทาย สินค้าจีนบุกไทย โลกร้อน ศึกภูมิรัฐศาสตร์

รัฐบาลแพทองธาร จัดทำร่างนโยบายแถลงต่อรัฐสภา มอง 9 ความท้าทายของประเทศไทย การเมืองขัดแย้งมานาน สินค้าจีนบุกไทยกระทบเอสเอ็มอี ปัญหาโลกร้อนเมกะเทรนด์ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์รุนแรง

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ประชุม ครม.) นัดพิเศษในวันที่ 7 ก.ย.2567 เพื่อหารือเกี่ยวกับร่างนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาพ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดพิมพ์ร่างนโยบายเพื่อส่งให้สำนักเลขาธิการสภา เตรียมแถลงวันที่ 12 ก.ย.2567 มีความยาว 85 หน้า โดยได้ระบุถึงเป้าหมาย “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม”

นอกจากนี้ ร่างนโยบายได้ระบุถึงประเทศไทยมีพื้นฐานศักยภาพที่แข็งแกร่ง แต่เมื่อมองไปข้างหน้ายังต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายประการ ได้แก่

1.ความท้าทายของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย

โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งขณะนี้มีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 90 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

ขณะที่สัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาหนี้นอกระบบภายใต้บริบทของความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย และความเจริญกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่เป็นหลักส่งผลให้คนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน

2.สังคมและเศรษฐกิจเราถูกท้าทายด้วยการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่เร็วกว่าระดับการพัฒนาประเทศ และเร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค

โดยในปี 2566 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) นั่นคือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า ๒๐% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าอีก 10 ปี จะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสุดยอด (Super Aged Society)

ในขณะที่มีอัตราการเกิดลดลง คุณภาพและทักษะแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ เยาวชนและประชากรวัยแรงงานที่มีความรู้อ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ถึง 64.7% คะแนนวัดผล PISA ของเด็กไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปีทุกทักษะ

นอกจากนี้ ยังมีเด็กและเยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษามากกว่า 1 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยทุกช่วงวัยกำลังเผชิญกับภาวะเครียดสะสมรุนแรงขึ้น คาดว่าขณะนี้มีผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกว่า 10 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก กล่าวโดยสรุปคือ คุณภาพของคนไทยในวัยท างานลดลงมาก

ในขณะที่การเข้าสู่สังคมสูงวัยและภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดูแลสวัสดิการและงบประมาณด้านสาธารณสุขมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3.ความมั่นคง ปลอดภัยของสังคมถูกคุกคามจากการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ

โดยช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 พบว่ามีคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มขึ้น 29.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 และมีจำนวนผู้ติดยาเสพติดที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.9 ล้านคน

นอกจากนี้ อาชญากรรมออนไลน์และการพนันออนไลน์ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถิติการรับแจ้งความกว่า 5 แสนเรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท

4.ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

ซึ่งรองรับแรงงานกว่า 32-35% ของแรงงานทั้งหมด และมีมูลค่าประมาณ 35% ของ GDP กำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง และสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมของ SMEs ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 7.6%

ทั้งนี้เป็นผลจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลง กระทบต่อความสามารถในการจ้างงาน การปรับค่าจ้างแรงงาน และกลายเป็นข้อจำกัดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

5.ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดั้งเดิมไทยโดยเฉพาะ SMEs ยังไม่สามารถปรับตัว 

ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Technological Disruption) รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตในห่วงโซ่อุปทานและแนวโน้มความต้องการใหม่ ๆ ของโลก

ในขณะที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางด้านราคาของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั้งในรูปการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบ

โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ส่งผลให้ต้องลดกำลังการผลิต ลดการจ้างงาน หรือปิดตัวลง สะท้อนให้เห็นจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ลดระดับลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 60%

6.จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change)

ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยว ตัวอย่าง เช่น ในปี 2567 ประเทศไทยเผชิญกับภาวะภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรกและจะเผชิญภาวะฝนตกหนักผิดปกติในช่วงครึ่งหลังของปี

นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์มลพิษทางอากาศ PM2.5 ของไทยยังย่ำแย่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้มีคนป่วยจากมลพิษทางอากาศกว่า 10 ล้านคน ในปี 2566

7.ประเทศไทยเราเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนาน 

อันเป็นผลจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งแบ่งขั้วที่รุนแรง

รวมถึงการถอดถอนรัฐบาลออกจากอำนาจในแบบที่คาดเดาไม่ได้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทยได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

8.ระบบรัฐราชการแบบรวมศูนย์และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ไม่เต็มที่

การทำงานระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจและบทบาทซ้ำซ้อน โครงสร้างของหน่วยราชการที่แตกกระจายและไม่ประสานร่วมมือกัน มีการขยายตัวไปสู่สำนักงานส่วนภูมิภาคมากเกินความจำเป็น

ระบบขนาดใหญ่โต เทอะทะ และเชื่องช้า รูปแบบการประเมิน และตัวชี้วัดการทำงานไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนเท่าที่ควร ขนาดและศักยภาพไม่ทันกับภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แถมยังเป็นภาระของประชาชนในการใช้บริการอีกด้วย

9.ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)

ที่เปลี่ยนไป เกิดการแบ่งฝ่ายแยกขั้วระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศต่าง ๆ การกีดกันทางการค้า (Protectionism) การใช้กฎระเบียบโลกสร้างอุปสรรคทางอ้อมในการแข่งขัน

ส่งผลให้ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนท่าทีและยุทธศาสตร์ในการดำเนินนโยบายภาครัฐและปรับท่าทีของประเทศในการมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ

นอกจากนี้ร่างนโยบายได้กำหนด นโยบายเร่งด่วน 10 นโยบาย โดยระบุว่ารัฐบาลตระหนักดีว่าความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องปัญหาหนี้สิน รายได้ ค่าครองชีพ

รวมทั้งความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม คือ ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาที่กระทบความมั่นคงของสังคม เพื่อนำความหวังของคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด โดยมีนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที