ทำไมน้ำประปาไหลเอื่อย ไฟฟ้าติดๆดับๆ ค่าตั๋วรถไฟไฟฟ้าแพง | ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ถ้าสังเกตให้ดีปัญหางานที่ดูด้อยประสิทธิภาพ ที่ยกมาเป็นหัวข้อเรื่องนี้ ล้วนเป็นงานของรัฐวิสาหกิจทั้งสิ้น และไม่ใช่มีเพียงเท่าที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้เท่านั้น ยังมีปัญหาอื่นอีกมากมายในรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น รถไฟมาไม่ตรงเวลา รถเมล์เสียกลางทาง ฯลฯ
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงนี่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ารัฐวิสาหกิจของเราล้วนทำงานด้วยประสิทธิภาพที่ต่ำกันไปหมดใช่หรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ครับ แต่ที่มันยังมีปัญหาปรากฏให้เห็นอยู่บ้างนี้ เป็นเพราะมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่รัฐวิสาหกิจควบคุมเองไม่ได้
แล้วสิ่งที่ควบคุมไม่ได้นั้นคืออะไร จะแก้ได้อย่างไร จะรู้คำตอบได้ก็ต้องขอย้อนเวลากลับไปในอดีตเล็กน้อย
ย้อนไปในปี 2518 มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมออกตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2512 กำหนดให้มีข้อยกเว้นสำหรับโรงงานบางประเภทที่ไม่ต้องมาขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)
ซึ่งข้อยกเว้นนี้รวมไปถึงโรงกรองประปา อันเป็นกิจการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจด้วย แต่เมื่อมีการปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงานมาเป็นฉบับปี พ.ศ. 2535 บทบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นนี้หายไป
อาจจะเป็นเพราะมาถึงยุคที่มีโรงกรองประปาของเอกชนมาเกี่ยวข้องด้วย มิใช่มีเฉพาะแต่ของการประปาภูมิภาค(กปภ.)และการประปานครหลวง (กปน.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ของหลวง จึงจำต้องยกเลิกข้อยกเว้นนี้
จากนั้นก็มีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า กปภ.อยู่ในข่ายได้รับการยกเว้นต่อไปหรือไม่ เพราะกิจการของ กปภ.นั้นเป็นงานบริการสาธารณะ มิได้มุ่งเน้นการแสวงหากำไรเช่นเอกชน
คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยเมื่อปี พ.ศ. 2539 ว่า กปภ.เป็นรัฐวิสาหกิจ โรงงานของกปภ.จึงมิใช่โรงงานของทางราชการที่ดำเนินการโดยทางราชการเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
จึงไม่ได้รับการยกเว้นตามความในมาตรา 4 ของพรบ.โรงงาน พ.ศ. 2535 นั่นคือ หาก กปภ.จะสร้างโรงกรองน้ำโรงสูบน้ำก็ต้องไปขออนุญาตก่อสร้างและดำเนินกิจการโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อน
นี่เป็นอุปสรรคข้อแรกที่รัฐวิสาหกิจแก้ไขเองไม่ได้ เป็นปัญหาจากการตีความตัวหนังสือโดยหน่วยงานอื่น
ขยับเวลามาถึงปี พ.ศ.2566 การประปานครหลวง (กปน.) ต้องการจะสร้างโรงกรองแห่งใหม่เพิ่ม รวมทั้งขยายโรงสูบจ่ายน้ำหลายแห่งกระจายไปทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.)
จุดประสงค์ก็เพื่อจะผลิตน้ำได้มากขึ้นและเพิ่มแรงดันน้ำในเส้นท่อให้แรงขึ้น สามารถส่งจ่ายน้ำไปให้ประชาชนได้ใช้อย่างเพียงพอและเท่าเทียม
กปน.ก็เฉกเช่นเดียวกับ กปภ. คือเป็นรัฐวิสาหกิจและต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 คือต้องไปขออนุญาตจาก กรอ. แต่ กรอ.ก็คงอนุญาตให้ไม่ได้ ด้วยติดที่นอกจากเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว
โรงกรองและโรงสูบจ่ายน้ำเพื่อเพิ่มแรงดันน้ำในเส้นท่อนี้ต้องติดตั้งในเขตเมือง เพราะหากไปสร้างที่นอกเมืองก็ไร้ประโยชน์ ไม่รู้จะจ่ายน้ำและเพิ่มแรงดันน้ำไปทำไมในเมื่อผู้ใช้น้ำนั้นพักอาศัยกันอยู่แต่ในเมือง
แต่หากมาทำในเขตเมืองก็ติดปัญหาด้านผังเมืองที่กำหนดไว้กว้างๆให้เขตพื้นที่นั้นๆเป็นที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะหนาแน่นน้อยหรือหนาแน่นมากก็ตาม จึงสร้างและประกอบกิจการโรงงานไม่ได้
เพื่อไม่ให้เสียเวลา กปน.จึงมิได้ทำเรื่องไปขออนุญาตจากกรอ.ก่อน แต่ได้ทำเรื่องตรงไปยัง กทม. ขอให้พิจารณาเปลี่ยนสีในผังเมืองรวมของ กทม. เพื่อ กปน.จะได้สามารถจัดซื้อที่ดินมาสร้างโรงกรองและโรงสูบจ่ายน้ำได้โดยไม่ผิดผังเมือง
เมื่อทำได้เช่นนั้น กปน.ในฐานะที่ตัวเองเป็นรัฐวิสาหกิจ (ไม่ใช่หน่วยงานราชการตามคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาดังที่กล่าวมาแล้วในย่อหน้าข้างต้น) จึงจะไปทำตามกฎเกณฑ์และขออนุญาตจาก กรอ.ต่ออีกทอดหนึ่ง
นี่เป็นอุปสรรคอีกสองข้อที่รัฐวิสาหกิจแก้ไขเองไม่ได้ คือ ติดขัดที่ประกาศกระทรวงของ กรอ.และติดที่ผังเมือง
มาถึงตรงนี้ทุกคนคงเห็นแล้วนะครับว่ามีอย่างน้อย 3 หน่วยงานราชการที่เข้ามามีบทบาทและผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของรัฐวิสาหกิจของเรา นี่คือปัญหาที่ต้องช่วยกันขบให้แตกและหาทางออกร่วมกัน
โดยเฉพาะหากเราตระหนักไปถึงว่ารัฐวิสาหกิจไม่ได้มีเฉพาะแค่ กปภ.และ กปน. แต่ยังมีอีกมากมายเกินสิบแห่ง เช่น กฟผ. กฟน. กฟภ. กทพ. รฟท. รฟม. ขสมก. กนอ. อจน. องค์การเภสัชกรรม การท่าเรือแห่งประเทศไทย ฯลฯ ที่ไม่สามารถสร้าง
เช่น โรงซ่อมบำรุงรถไฟไฟฟ้าของ รฟม. หรือโรงบำบัดน้ำเสียขององค์การจัดการน้ำเสีย หรือสถานีไฟฟ้าย่อยของการไฟฟ้า ฯลฯ ในพื้นที่เมืองได้
ปัญหาที่ว่าจึงทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจเพิ่มสูงขึ้น ค่าบริการให้ประชาชนสูงขึ้น(เช่น ค่าโดยสารรถไฟไฟฟ้าดังในชื่อบทความ) ประสิทธิภาพงานลดลง กระทบผู้คนได้มากมายทั้งทางสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
นี่จึงไม่ใช่ปัญหาเล็กๆที่จะปล่อยไปตามยถากรรมดังที่ผ่าน ๆ มา
ย้อนกลับไปเรื่องผังเมือง ด้วยสามัญสำนักของคนทั่วไป ผมคิดว่าเจตนารมณ์ของการกำหนดผังเมือง ซึ่งมิใช่แค่เพียงของพื้นที่ กทม.แต่หมายรวมถึงของทั้งประเทศ
คงมิได้ต้องการกีดกันหรือปิดกั้นโครงการใดๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ตลอดจนงานบริการสาธารณะอื่น ๆ เช่น การขนส่งสาธารณะ แต่จะเป็นฝ่ายที่สนับสนุนส่งเสริมเสียด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ก็เพราะโครงสร้างฯและงานบริการเหล่านั้นล้วนทำขึ้นเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น ทำธุรกิจการค้าได้ดีขึ้น รวมทั้งปลอดภัยขึ้น
ตรงนี้มีข้อสังเกตเพิ่มเติม คือ หากงานบริการสาธารณะทำไม่ได้ด้วยติดที่ปัญหาทางผังเมืองดังว่า คำถามที่ตามมา คือ
แล้วเหตุใดหน่วยงานของราชการ (ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ) กทม. เมืองพัทยา และเทศบาลอื่นๆ จึงมีโรงงาน เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบสูบน้ำเสีย ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบจัดการขยะ ในเขตชุมชนที่อยู่อาศัยได้
นั่นแสดงว่าผังเมืองตามเจตนารมณ์แล้วไม่ใช่ตัวปัญหา เพราะมีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่ทั่วไปทั้งประเทศดังที่กล่าวมา
ปัญหาจึงน่าจะมาจากความคลุมเครือของตัวหนังสือในประกาศต่างๆ ของทางราชการด้วยกันเอง ซึ่งเมื่อไม่ชัดเจน หน่วยงานของราชการผู้อนุญาตก็มักเซฟตัวเอง ไม่ทำการใดๆที่เสี่ยงต่อการตีความว่าผิดกฎหมาย
การเซฟตัวเอง (ที่เข้าใจได้) นี้สามารถก่อให้เกิดความล่าช้าและประสิทธิภาพต่ำของรัฐวิสาหกิจดังที่ยกมาเป็นตัวอย่างในย่อหน้าข้างต้น
สำหรับเรื่องที่กฤษฎีกาตีความ ว่า รัฐวิสาหกิจไม่ใช่หน่วยงานของทางราชการที่ดำเนินการโดยทางราชการเพื่อความปลอดภัยมั่นคงของประเทศนั้น ผมจะขอยกตัวอย่างในอดีตมาเล่าให้ฟังที่พอจะเป็นทางออกได้ คือ
ในปี พ.ศ.2531 (ซึ่งยังใช้ พ.ร.บ.โรงงาน 2512 แก้ไขเพิ่มเติม 2514 อยู่ ยังไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขเป็นฉบับ พ.ศ.2535) โรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ (ที่เรียกกันสั้นๆว่าโรงกษาปณ์) ของกรมธนารักษ์ ถูกเรียกให้ไปยื่นขอจัดตั้งและประกอบกิจการโรงงานจาก กรอ.
กระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย และได้มีการส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ สุดท้ายกฤษฎีกาวินิจฉัยออกมาในปี พ.ศ.2532 ว่ากิจการของรัฐเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ซึ่งจะอยู่ในข่ายยกเว้นไม่ต้องไปขออนุญาตจาก กรอ.นั้น
กินความครอบคลุมไม่เพียงเฉพาะความมั่นคงปลอดภัยทางการทหารเท่านั้น แต่ให้รวมถึงความมั่นคงด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น โรงกษาปณ์ซึ่งเป็นโรงงานของทางราชการดำเนินการโดยราชการ จึงไม่ต้องไปขออนุญาตจาก กรอ.
จากที่อธิบายมาทั้งหมดนี้ สรุปได้สั้นๆ ว่ารัฐวิสาหกิจทุกแห่งของเราดำเนินกิจการบริการสาธารณูปโภค ฯลฯ ได้ไม่ราบรื่นนักเพราะติดที่กรอ.ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ และที่กรอ.ไม่อนุญาตก็ด้วยติดที่การตีความตัวหนังสือของกฤษฎีกาและผังเมือง
ดังนั้นเพื่อที่จะแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ผมจึงขอเสนอแนะเพื่อหาทางออกร่วมกัน 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. รัฐวิสาหกิจต่างๆ ควรรวมตัวกันทำหนังสือขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องกิจการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยแห่งรัฐนั้นใหม่ ให้ชัดเจนและกว้างขึ้น
อันสามารถทำให้รัฐวิสาหกิจต่างๆของรัฐสามารถสร้าง ปรับปรุง ขยาย พัฒนากิจการใดๆได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยไม่ต้องมีการตีความและไม่ต้องไปขอขึ้นทะเบียนและขอประกอบกิจการโรงงานจาก กรอ.อีกต่อไป
ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นยังต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และกฎหมายเฉพาะเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งงานนั้นต้องไม่ใช่กิจการของตัวเองหรือของบริษัทลูก ที่ทำขึ้นเพื่อการค้าทำกำไร ที่ไม่ใช่ภารกิจหลักในการบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ
2. กรมโยธาธิการและการผังเมือง (ยผ.) โดยคณะกรรมการผังเมือง ควรบัญญัติข้อความใหม่ให้ชัดเจนกว่าเดิมสำหรับใช้ทั่วประเทศ กล่าวคือ
ยกเว้นให้แก่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานราชการในการที่จะดำเนินงานด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และเพื่อการบริการสาธารณะ ให้สามารถทำได้โดยไม่มีอุปสรรคด้านการตีความซึ่งกินเวลานานมากเกิน
3.กรอ.เองก็สามารถที่จะประกาศกฎกระทรวงเป็นของตัวเอง มีข้อกำหนดยกเว้นที่รอบคอบ รัดกุม แต่เปิดกว้างกว่าเดิม
ให้รัฐวิสาหกิจไทยสามารถจัดการโครงการบริการสาธารณะได้รวดเร็วและทันกับความเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนรู้ดีว่ามันเร็วกว่าอดีตอย่างมหาศาล
ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นยังต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการของ กรอ. รวมทั้งงานนั้นต้องไม่ใช่กิจการของตัวเองหรือของบริษัทลูก เพื่อการค้าที่ไม่ใช่ภารกิจหลักในการบริการสาธารณะ โดยใช้หลักที่ว่าบทบัญญัติทางกฎหมายของหน่วยงานราชการหนึ่งๆ นั้นมีศักดิ์ทางกฎหมายเหนือกว่าข้อวินิจฉัยของกฤษฎีกา
หากทำเช่นนี้ได้ปัญหาการตีความว่า รัฐวิสาหกิจมิใช่หน่วยงานของทางราชการที่ดำเนินงานโดยทางราชการเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และการติดปัญหาจากการผังเมือง ทั้งหมดก็จะหมดไป
ขอขอบคุณหน่วยงานที่ได้เอ่ยชื่อมาด้วยความเคารพที่จะมาช่วยแก้ปัญหาให้เรา ล่วงหน้าแทนประชาชนคนไทยทั้งปวง
ส่วนพรรคการเมืองจะเอาข้อเสนอแนะนี้ไปใช้ด้วยก็ยิ่งดีครับ
ขอบคุณนะครับ
หมายเหตุ 1) บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัว มิใช่ของภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2) electric train คือ รถไฟไฟฟ้า มิใช่รถไฟฟ้า หรือ รถยนต์ไฟฟ้า