เปิดวิสัยทัศน์ ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ ว่าที่ รมว.คลังหญิงคนแรกของไทย
เปิดแนวคิด-วิสัยทัศน์ "ศิริกัญญา ตันสกุล" ว่าที่ รมว.คลังหญิงคนแรกของไทย ที่ "พิธา" จองเก้าอี้รัฐมนตรีคลังให้ เล็งจัดงบฯสวัสดิการใหม่แทนบัตรสวัสดิการ กางแผนเพิ่มรายได้ 6.5 แสนล้านบาท นโยบายเร่งด่วน และที่มาของการขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวัน
หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค.ผ่านไปเข้าสู่โหมดของการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล โดยตำแหน่งสำคัญที่จะมาบริหารงานในรัฐบาลใหม่นอกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประกาศควบตำแหน่งนี้ด้วยตัวเอง
เก้าอี้ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ก็ได้รับการจับตามองเช่นกันว่าใครจะได้รับตำแหน่ง โดยในตำแหน่งนี้ พิธา เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าเป็นเก้าอี้ของ “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคด้วย
หากศิริกัญญาได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีคลังจริงตามที่พิธาได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนไว้ จะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ และเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งกระทรวงการคลังมา 147 ปีที่ประเทศไทยจะมี “ขุนคลัง” เป็นผู้หญิง
ประวัติ ศิริกัญญา ตันสกุล ว่าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ในส่วน ประวัติศิริกัญญา ปัจจุบัน ศิริกัญญา อายุ 42 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขา Economics, Market and Organization,Toulouse School of Economics และปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนเข้าสู่การเมืองมีประสบการณ์ทำงานด้านนโยบายสาธารณะทั้งที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอีอาร์ไอ) และสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) ที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เคยเป็นประธาน โดยศิริกัญญาทำงานร่วมกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ในช่วงเวลาที่เป็น ส.ส.ศิริกัญญา มีส่วนร่วมในกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่หลายปีงบประมาณ รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจสภาผู้แทนราษฎรด้วย
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมแนวคิดของศิริกัญญา จากการสัมภาษณ์ และเวทีสาธารณะที่น่าสนใจดังนี้
ศิริกัญญา กล่าวในการสัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าพรรคก้าวไกลมีเป้าหมายด้านเศรษฐกิจในการสร้างเศรษฐกิจไทยให้ “เติบโตแบบเป็นธรรม” คือมีทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีการกระจายดอกผลของการเติบโตอย่างอย่างเป็นธรรมด้วย หรือที่เรียกว่า “Inclusive Growth”
แก้ปัญหาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยสวัสดิการถ้วนหน้า
โดยในส่วนของการสร้างความเป็นธรรมของสังคมพรรคเห็นถึงจุดอ่อนของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จากข้อมูลยังมีคนที่ตกหล่นจากการสำรวจ หรือคนจนจริงๆที่ยังเข้าไม่สามารถเข้าถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 46% พรรคจึงเสนอนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้าที่จะดูแลคนไทยทุกคนตั้งเริ่มตั้งแต่เกิดจนตาย โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์รายได้ของครัวเรือน
สวัสดิการถ้วนหน้า จะเป็นการให้ความช่วยเหลือคนในแต่ละช่วงวัยตั้งแต่เกิด ทำงาน สูงวัย จนถึงเสียชีวิต เช่น การให้ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาทซึ่งแม่เด็กสามารถเลือกได้เอง ส่วนสวัสดิการเด็กแรกเกิด ถึง 6 ขวบจะได้เงินจากภาครัฐ 1,200 บาทต่อเดือน ส่วนแม่ที่ลาคลอดได้ 6 เดือนจะได้เงินช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคม 5,000 ต่อเดือนโดยจะผลักดันให้แรงงานนอกระบบเข้าระบบประกันสังคม ส่วนใครที่ไม่สามรถจ่ายประกันสังคมได้รัฐก็จะเตรียมงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งไว้สนับสนุนให้ทุกคนเข้าสู่ประกันสังคมแบบถ้วนหน้า ซึ่งส่วนนี้รัฐต้องใช้เงิน 3-4 หมื่นล้านบาท แต่ก็สามารถสร้างความคุ้มครองทางสังคมได้
เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือนเท่ากันแทนที่การให้แบบขั้นบันได ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นคนป่วยติดเตียงจะได้เงินค่าดูแล 9,000 บาทต่อเดือน และรวมทั้งค่าทำศพถ้วนหน้า จัดสรรเงินช่วยเหลือค่าจัดการศพ 10,000 บาท จากระบบประกันสังคมแบบถ้วนหน้า ที่รัฐบาลจะร่วมสมทบให้กับประชาชนทุกคน
ส่วนวัยทำงานที่ต้องการมีบ้านแต่เป็นผู้มีรายได้น้อย รัฐช่วยค่าเช่าบ้าน 1,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท และต้องการซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท รัฐบาลจะช่วยผ่อนบ้านให้ 2,500 บาทต่อเดือน ซึ่งในส่วนนี้รัฐต้องการให้เกิดการแข่งขันการสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงแต่คุณภาพดีเพื่อผู้มีรายได้น้อย
เปิดที่มารายได้ 6.5 แสนล้านใช้ดูแลคนไทย
อย่างไรก็ตามการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้ประชาชนเข้าถึงได้นั้นต้องใช้งบประมาณที่สูง คือประมาณปีละ 6.5 แสนล้านบาท แต่พรรคก็มีแนวทางในการทำงบประมาณเพื่อตอบโจทย์นโยบายโดยไม่เป็นภาระทางการคลังโดยใช้ทั้งการปรับลดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็น เพิ่มการใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ และการหารายได้เข้าประเทศมากขึ้น โดยที่มาของวงเงิน 6.5 แสนล้านบาทจะมาจาก
1) ลดขนาด เพิ่มประสิทธิภาพกองทัพ และเรียกคืนธุรกิจกองทัพ 5 หมื่นล้านบาท
2) ลดงบกลางฯ 3 หมื่นล้านบาท
3) ปรับลดโครงการที่ไม่จำเป็น 1 แสนล้านบาท
4) เงินปันผลที่รัฐจะได้จากรัฐวิสาหกิจเพิ่ม 1.3 หมื่นล้านบาท
5) เก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินโดยเก็บจากทรัพย์สินของคนที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้รายได้ 6 หมื่นล้านบาท
6) เก็บภาษีที่ดินรายแปลง รวมแปลง ซึ่งจะได้รายได้เพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท
7) เก็บภาษีนิติบุคคลทุนใหญ่วงเงินรวม 9.2 หมื่นล้านบาท
8) ปฏิรูปสิทธิประโยชน์บีโอไอให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกันกับ OECD คาดว่าได้เงินเข้ารัฐเพิ่มอีก 8,000 ล้านบาท
9) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีภาครัฐตั้งเป้าเพิ่มรายได้เข้ารัฐอีก 1 แสนล้านบาท
10) นโยบายหวยบนดินที่จะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี
“พรรคจะทำควบคู่ไปทั้งในเรื่องของการเพิ่มรายได้ ตัดลดรายจ่ายภาครัฐ และแก้กฎระเบียบที่ไม่ทันต่อยุคสมัยและเป็นอุปสรรคของภาคธุรกิจ ที่สำคัญคือต้องปฏิรูปภาครัฐเพื่อให้สามารถสนับสนุนให้ประเทศไทยแข่งขันได้ในยุคปัจจุบันเพราะทุกประเทศต้องการรัฐที่มีความสามารถมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นรัฐที่ใหญ่ขึ้น”
ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน
ก่อนหน้านี้ศริกัญญายังได้กล่าวในงานดีเบตนโยบายพรรคการเมืองจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆนี้ว่า นโยบายที่ประชาชนให้ความสำคัญเร่งด่วนคือการเพิ่มรายได้ การลดค่าใช้จ่าย และเรื่องของความมั่นคง นโยบายในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับประชาชนโดยการเพิ่มเป็น 450 บาทต่อวันถือว่ามีความเหมาะสมและทำได้ทันที
หัวใจคือการขึ้นอัตโนมัติทุกปีโดยดูจากค่าครองชีพ และการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นการขยับราคาค่าจ้างที่เหมาะสมเมื่อคิดจากช่วงที่ผ่านมาที่มีการปรับน้อยมาก
ส่วนการลดค่าใช้จ่ายในตอนนี้ ต้องทำในเรื่องของค่าไฟ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างราคา โดยทำโครงสร้างให้เป็นธรรม ซึ่งหากเราสามารถเอาราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมาเป็นหลักในการกำหนดราคาต้นทุนเชื้อเพลิง เชื่อว่าค่าไฟฟ้าจะสามารถลดลงได้ทันที 70 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ประชาชนสามารถแบ่งเบาภาระค่าครองชีพลงได้
ในเรื่องของความมั่นคง พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นในนโยบายรัฐสวัสดิการ โดยการจัดสวัสดิการให้กับคนไทยตั้งแต่ลืมตาเกิดจนตาย เช่น เงินเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แลกเกิด เงินบำนาญผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งทั้งหมดต้องใช้งบประมาณมากปีละ 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงแต่พรรคก้าวไกลมีแผนที่จะปรับปรุงงบประมาณโดยการตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส ปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเพื่อจัดเก็บภาษีให้ตรงกับเป้าหมาย
“ถ้าเราต้องการรัฐสวัสดิการ เราก็ต้องขอให้คนที่มั่งมีมาร่วมเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขกับเรา ทุกวันนี้เศรษฐีในประเทศรักการบริจาคอยู่แล้ว แต่อาจไม่ยินดีที่จะจ่ายภาษี เพราะไม่รู้ว่าภาษีจะถูกเอาไปใช้ทำอะไร คุ้มค่าหรือไม่ โดยพรรคก้าวไกลขอยืนยันว่าภาษีที่จะเก็บเพิ่มจากที่ดินรวมแปลง หรือภาษีความมั่งคั่งจะถูกใช้อย่างมีประโยชน์ อย่างคุ้มค่า เพื่อให้เกิดโอกาสอย่างเท่าเทียมไม่ว่าคุณจะเกิดจากครอบครัวไหนในประเทศนี้” ศิริกัญญา กล่าว