เศรษฐกิจไทยยังไปต่อ | ดอน นาครทรรพ
ไม่ว่าช่วงก่อนเลือกตั้ง แต่ละพรรคการเมืองจะพูดถึงเศรษฐกิจไทยอย่างไร คาดการณ์เศรษฐกิจไทยของทุกสำนักวิเคราะห์และทุกหน่วยงานภาครัฐบอกว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้สูงกว่าในปีที่แล้ว โดยบางสำนักคาดว่าจะขยายตัวได้สูงถึงเกือบร้อยละ 4 ต่อปี
ปลายปีที่แล้ว ผมเขียนบทความลงกรุงเทพธุรกิจ 2 ตอน ว่าด้วย 4 อุบัติเหตุหรือ 4 ฉากทัศน์ที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้สะดุดลงได้ (เศรษฐกิจไทยไปต่อ แต่ต้องระวังสามอุบัติเหตุ และ อุบัติเหตุที่ 4 ที่ต้องระวังของเศรษฐกิจไทย )
ผ่านมาครึ่งปี เรามาดูกันว่า ฉากทัศน์ไหนที่สามารถตัดทิ้งได้ ฉากทัศน์ไหนที่ยังวางใจไม่ได้ครับ
4 ฉากทัศน์ดังกล่าวได้แก่ 1.การส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศติดลบ 2.ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องทั้งปี 3.เงินเฟ้อไทยติดลมบน และ 4.เกิดวิกฤติในระบบการเงินโลก
เริ่มที่ฉากทัศน์แรก การส่งออกสินค้าติดลบ ต้องบอกว่าฉากทัศน์นี้เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วขยายตัวต่ำกว่าที่ทุกฝ่ายคาดไว้
อย่างไรก็ดี ในปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีตัวช่วยจากการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาดของจีน ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะช่วยดึงเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียขึ้นไปด้วย
แต่ที่สำคัญเป็นพิเศษสำหรับไทย คือ การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งทุกสำนักประเมินว่า แรงส่งทางเศรษฐกิจจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในปีนี้มีขนาดใหญ่กว่าแรงฉุดจากการส่งออกสินค้าที่หายไป
กอปรกับล่าสุดการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จึงเท่ากับว่าเราไม่ต้องกังวลกับฉากทัศน์นี้แล้ว
ต่อด้วยฉากทัศน์ที่ 2 เฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องทั้งปี ก่อนหน้านี้ ผมกังวลกับฉากทัศน์นี้มากที่สุด เพราะถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปเรื่อยๆ ธนาคารกลางทั่วโลกคงต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องตาม นำไปสู่การถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ดี หลังการประชุมเฟดครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดการเงินประเมินว่า เฟดจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งหลังของปี ตามการชะลอตัวที่ชัดเจนขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐ
แม้ท่านประธานเฟดจะให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า เฟดยังไม่ปิดประตูการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ปัญหาในระบบธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาทำให้ภาวะการเงินในสหรัฐตึงตัวขึ้นพอสมควร ถ้าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ ก็อาจจะอย่างมากอีกเพียงหนึ่งครั้ง
ดังนั้น ณ จุดนี้ น่าจะสามารถตัดทิ้งฉากทัศน์ที่เฟดและธนาคารกลางทั่วโลกจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปเรื่อยๆ จนเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงได้ ซึ่งต้องถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีมากๆ สำหรับเศรษฐกิจไทย
สำหรับฉากทัศน์ที่ 3 เงินเฟ้อไทยติดลมบน ซึ่งจะบีบให้ไทยต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากๆ เหมือนเฟด ณ จุดนี้ ฉากทัศน์นี้ก็สามารถตัดทิ้งได้เช่นกัน
ด้วยอัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดมาก โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน เม.ย. เหลือเพียงร้อยละ 2.67 ต่อปี เทียบกับร้อยละ 4.9 ต่อปี ในสหรัฐ
แม้จะยังมีความเสี่ยงว่า อัตราเงินเฟ้อไทยอาจจะกลับมาปรับสูงขึ้นได้ หากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องนำไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าของผู้ประกอบการในอัตราที่สูงกว่าที่เคยเป็นมา
แต่ผมเชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ร้อนแรงจริงๆ โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อของไทยจะกลับขึ้นไปร้อยละ 4-5 ต่อปี น่าจะมีน้อยมาก
มาที่ฉากทัศน์ที่ 4 ซึ่งเป็นฉากทัศน์สุดท้าย เกิดวิกฤติในระบบการเงินโลกแบบปี 2551 จากการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของต้นทุนทางการเงิน และสภาพคล่องที่ตึงตัวขึ้นในตลาดการเงินโลก
ที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเราโชคดีมาก ที่ไม่ว่าในกรณีกองทุนบำเหน็จบำนาญในอังกฤษ กรณีตลาดหุ้นกู้ระยะสั้นในเกาหลีใต้ กรณีธนาคาร SVB และธนาคาร First Republic ในสหรัฐ หรือกรณีธนาคารเครดิตสวิสในสวิตเซอร์แลนด์
ทางการของแต่ละประเทศสามารถจัดการได้อย่างทันท่วงที ไม่ให้ปัญหาเฉพาะจุดลุกลามไปสู่ปัญหาเชิงระบบ
มองไปข้างหน้า ผมเชื่อว่าจะมีเหยื่อของสภาพแวดล้อมทางการเงินที่เปลี่ยนไปโผล่มาอีก ทั้งนี้ ต้องบอกว่าในเรื่องของทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ
ผมเห็นต่างจากคาดการณ์ของตลาดที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปีนี้ โดยหากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐยังลดลงในอัตราที่ช้าแบบในปัจจุบัน เฟดน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายยาวข้ามปี
เพราะท่านประธานเฟดพูดแล้วพูดอีกว่า เฟดให้ความสำคัญสูงสุดกับการดูแลเงินเฟ้อ และยอมรับได้หากจำเป็นต้องแลกกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งถ้าเฟดยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารกลางอื่นก็คงยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นกัน
ผมเชื่อว่ากรณีเดียวที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ คือ เกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐ
ช่วงเวลาที่ต้องระวัง คือ ครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงชัดเจน แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ที่น่ากลัวคือไม่ได้มีเฉพาะสหรัฐที่เปราะบางต่ออัตราดอกเบี้ยสูง และไม่มีอะไรรับประกันว่าเราจะโชคดีเหมือน 5 กรณีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ถ้าโลกผ่านช่วงนี้ไปได้ ก็ไม่น่าจะมีปัจจัยภายนอกที่จะมาหยุดเศรษฐกิจไทยได้
โดยสรุป ผมมองว่าเส้นทางของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีค่อนข้างสดใส จาก 4 ฉากทัศน์ เหลือเพียงฉากทัศน์เดียวที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสะดุดลง
อย่างไรก็ตาม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไม่ควรประมาท และควรเตรียมแผนรองรับกรณีเลวร้ายไว้ เข้าทำนอง Hope for the best, prepare for the worst ครับ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด