การรถไฟฯ เตรียมชงงบ 2.4 พันล้านบาท จัดซื้อโบกี้รับดีมานด์ขนส่งสินค้า
บอร์ดรถไฟอนุมัติจัดซื้อรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า 946 คัน วงเงินกว่า 2.4 พันล้านบาท รับดีมานด์ขนส่งสินค้าจากเอกชนพุ่งต่อเนื่อง เตรียมเสนอคมนาคม คาดได้รถใหม่ภายใน 2 ปี
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วานนี้ (18 พ.ค.) โดยระบุว่า จากแนวโน้มการเติบโตของภาคขนส่งสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง และเป็นหน่วยธุรกิจที่ทำกำไรให้กับ ร.ฟ.ท.จำนวนมาก หากเทียบกับหน่วยธุรกิจประเภทอื่น ส่งผลให้ ร.ฟ.ท.ได้จัดทำแผนจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้า (บตท.) หรือ แคร่ขนสินค้า จำนวน 946 คัน วงเงิน 2,459 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้บอร์ดได้อนุมัติให้ ร.ฟ.ท.จัดหารถโบกี้ตามแผนที่ได้เสนอไว้
สำหรับแผนดำเนินงานหลังจากนี้ ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอแผนดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อนำพิจารณาอนุมัติ ก่อนเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยหากได้รับอนุมัติจาก ครม.แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาราว 6-7 เดือน ดำเนินการในขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง และคาดว่าภายในระยะเวลา 2 ปี จะทยอยได้รับรถโบกี้บรรทุกสินค้าใหม่ เพื่อนำเข้ามาเสริมบริการ จากปัจจุบันที่ ร.ฟ.ท.มีจำนวนรถโบกี้บรรทุกสินค้าในจำนวน 1,308 คัน
“บอร์ดอนุมัติให้เราจัดซื้อรถโบกี้บรรทุกสินค้า เพราะพิจารณาถึงความจำเป็นจากเส้นทางรถไฟที่ขยายเพิ่มขึ้น และดีมานด์ของภาคเอกชนที่ต้องการเช่ารถเพื่อขนส่งสินค้ามากขึ้น โดยที่ผ่านมาเราได้ขยายกลุ่มลูกค้าขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น เช่น ขนส่งทุเรียน เหล็ก เกลือ และยางพารา ซึ่งหลังจากนี้เราก็จะขยายกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก หากว่าเราสามารถเพิ่มจำนวนรถโบกี้บรรทุกสินค้าได้”
นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า นโยบายของประเทศไทยตอนนี้เร่งขยายการขนส่งทางรางให้เป็นการขนส่งหลัก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขยายเส้นทางรถไฟสายใหม่ และทางคู่อีกหลายเส้นทาง ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการขนส่งสินค้าทางรางก็เพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศ และขณะนี้ไม่เพียงการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังมีโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟไปยังมาเลเซีย และจีน
ทั้งนี้ การเพิ่มจำนวนรถโบกี้บรรทุกสินค้า นอกจากจะเพิ่มขีดความสามารถให้กับการขนส่งสินค้าทางรางแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้กับภาคเอกชน จากปัจจุบันที่มีจำนวนรถโบกี้บรรทุกสินค้าให้บริการจำนวนไม่มาก ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูง แต่หากมีจำนวนรถโบกี้ให้บริการเพียงพอต่อความต้องการ จะส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าของภาคเอกชนลดลง จากการขนส่งในเที่ยวเดียวที่สามารถบรรทุกสินค้าได้จำนวนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี สาเหตุที่ ร.ฟ.ท.เลือกจัดซื้อรถโบกี้บรรทุกสินค้า เนื่องจากเปรียบเทียบกับรูปแบบวิธีการเช่าพร้อมการซ่อมแซมบำรุงรักษา จำนวน 860 คัน พบว่ากรณีที่ ร.ฟ.ท.ดำเนินการจัดซื้อในราคาคันละเฉลี่ย 2,600,397 บาท จะมีงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านรถโบกี้บรรทุกสินค้า ตลอดระยะเวลา 30 ปี ซึ่งประกอบด้วย ค่าเงินลงทุน เป็นจำนวนเงิน 2,459,975,562 บาท ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นจำนวนเงิน 1,771,337,700 บาท และค่าซ่อมบำรุง 4,318,521,699 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นเท่ากับ 8,549,834,960 บาท หรือเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 244,280,999 บาท
แต่หาก ร.ฟ.ท.ดำเนินการเช่ารถโบกี้บรรทุกสินค้าพร้อมการซ่อมแซมบำรุงรักษาในอัตราค่าเช่าวันละ 1,300 บาทต่อคัน และ 2,250 บาทต่อคัน จะมีค่าใช้จ่ายตลอดโครงการระยะเวลาโครงการ 30 ปี ประมาณ 12,242,100,000 บาท และ 21,188,250,000 บาท ตามลำดับ หรือเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 360,061,765 บาท และ 623,183,824 บาท