สศช.ห่วง ‘หนี้ครัวเรือน’ ทะลุ 15 ล้านล้าน!
“สภาพัฒน์เผยหนี้สินครัวเรือนไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 15 ล้านล้านบาท สัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่ 86.9% เป็นหนี้เสียจากผลกระทบโควิด-19 มูลค่ากว่า 3.4 แสนล้านบาท ย้ำต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ แก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างยั่งยืน”
เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ดนุชา พิชยนันท์ ระบุ หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2565 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวมทรงตัว แต่ต้องติดตามสินเชื่อเพื่อยานยนต์ที่มีสินเชื่อเสี่ยงเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น และบัญชีหนี้เสียในสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเพิ่มขึ้น หนี้สินครัวเรือน มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัว 4 ไตรมาสติดต่อกัน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 86.9% ที่ปรับลงเล็กน้อยจาก 87% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนทรงตัว โดยสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.6% ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
สำหรับหนี้เสียจากสถานการณ์โควิดมีจำนวน 4.5 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลค่า 3.4 แสนล้านบาท ลดลงจาก 4 แสนล้านบาทในไตรมาสก่อน แต่หนี้เสียที่มาจากสินเชื่อส่วนบุคคลยังมีมูลค่าสูงถึง 7.6 หมื่นล้านบาท และมีบัญชีหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านบัญชี
อย่างไรก็ตาม ความสามารถชำระหนี้ยังมีความเสี่ยงในสินเชื่อรถยนต์ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากโควิดยังมีมูลค่าสูงและมีบัญชีหนี้เสียเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการเร่งรัดแก้ไขปัญหา เนื่องจากระดับหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย
ท่องเที่ยวฟื้นดันจ้างงานเพิ่ม
ขณะที่สถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาส 1 ปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของการจ้างงานภาคเกษตรกรรม อัตราการว่างงานปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ แรงงานทำงานล่วงเวลามากขึ้นและได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น
ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัว 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1.6% จากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2.7% จากการขยายตัวของ
จ้างงานสาขาการค้าส่งและค้าปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไปคือ การขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลและไอที จากการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ในแต่ละปีมีความต้องการแรงงานสายงานไอทีประมาณ 2 - 3 หมี่นตำแหน่ง
แต่กลับมีผู้จบการศึกษาในด้านนี้ไม่เพียงพอ รายได้และการจ้างงานของแรงงานภาคเกษตรกรรมจากผลกระทบปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลต่อการเพาะปลูกและผลผลิตของเกษตรกร และพฤติกรรมการเลือกงานโดยคำนึงถึงค่าตอบแทนที่สูงและสมดุลในชีวิตของคนรุ่นใหม่