จับตาสถานการณ์ยางแนวโน้มราคาพุ่ง 'เอลนีโญ' ปัจจัยหนุนจากอุตสาหกรรมรถยนต์
จับตาสถานการณ์ราคายาง กยท.มั่นใจแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ปัจจัยหนุนจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มียอดการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตลดลงจากการระบาดของโรคใบร่วง และปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ที่เกิดในปีนี้ ฝนตกน้อย อากาศร้อน ทำให้หลายพื้นที่ไม่สามารถกรีดยางได้
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ยางในไตรมาส 2/2566 ว่า ราคายังคงเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆแต่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งใช้ยางเป็นวัตถุดิบมากที่สุด
โดยยอดขายรถยนต์ (Light Vehicle) ทั่วโลกในเดือนมีนาคม 2566 สูงกว่าเดือนมีนาคม 2565 ถึงร้อยละ 11.6 เนื่องจากการผ่อนคลายของห่วงโซ่การผลิต และการเร่งซื้อรถในจีนก่อน สิ้นสุดระยะโครงการช่วยเหลือด้านภาษี
ขณะเดียวกันยอดการประกอบรถยนต์ของโลกในช่วงที่ผ่านมายังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงร้อยละ 7.1 อีกด้วย โดยอินเดียเพิ่มสูงสุดร้อยละ 23.1 ประเทศเยอรมนี เพิ่มร้อยละ 10.8 และสหรัฐอเมริกาเพิ่มร้อยละ 9.7 ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อราคายาง
สำหรับความต้องการยางธรรมชาติในปี 2566 สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) ได้คาดการณ์ล่าสุดว่าทั่วโลกมีความต้องการประมาณ 14.912 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม 173,000 ตัน
นอกจากนี้ LMC Rubber Bulletin ฉบับเดือนเมษายน 2566 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ยางจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น แต่การผลิตทั่วโลกยังเติบโตน้อย เช่นเดียวกับสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา (USTMA) ได้คาดการณ์ยอดจัดส่งยางรถยนต์ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นในปี 2566 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่อราคายางในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ส่วนผลผลิตยางพาราโลกในปี 2565 อยู่ที่ 14.53 ล้านตัน และในไตรมาสแรกของปี 2566 ผลผลิตยางพาราโลกอยู่ที่ 3.312 ล้านตัน ส่วนคาดการณ์ผลผลิตทั้งปีมีแนวโน้มลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องการระบาดของโรคใบร่วง โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย มีสวนยางได้ผลกระทบจากการระบาดของโลกดังกล่าวกว่า 2 ล้านไร่ รวมทั้งประเทศไทย และมาเลเซียก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคใบร่วงเช่นกัน ในขณะที่ประเทศจีนมณฑลยูนาน ที่การปลูกยางก็ได้รับผลกระทบจากโรคราแป้ง
นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ที่จะเกิดในปีนี้ จะส่งผลให้ปริมาณฝนน้อยกว่าทุกปี อากาศแล้งและร้อน จะทำให้หลายพื้นที่ไม่สามารถเปิดกรีดยางได้ ผลผลิตก็จะออกสู่ตลาดน้อยลงอย่างแน่นอน
“หากพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานที่เกื้อหนุนดังกล่าวแล้ว แนวโน้มราคายางตั้งแต่กลางปีนี้ เป็นต้นไปน่าจะค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนสาเหตุสำคัญราคายางในปัจจุบันราคายังคงทรงตัวโดย ยางแผ่นมควัน ชั้น 3 ราคาอยู่ในระดับ 50 บาทต่อกิโลกรัม และยางแผ่นดิบ ราคา 48 บาทต่อกิโลกรัม และน้ำยางสดราคา 43 บาทต่อกิโลกรัมนั้น
ส่วนหนึ่งมาจากสต๊อกยางเก่าของประเทศผู้นำเข้าต่างๆ ยังคงไม่มีอยู่ ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตามจากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ ยอดขายรถยนต์ และการผลิตล้อยางทำให้ความต้องการใช้ยางยางโลกที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตยางทั่วโลกยังคงเติบโตน้อย และมีปริมาณลดลง จะส่งผลดีต่อยางในระยะยาว ราคาน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” ผู้ว่าการ กยท.กล่าวยืนยัน
ด้านนางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. กล่าวว่า สถานการณ์ยางในไตรมาสแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ผลผลิตยางโลกอยู่ที่ 3.312 ล้านตัน น้อยกว่าความต้องใช้ยางพาราโลก ซึ่งสูงถึง 3.73 ล้านตัน ดังนั้นโลกยังคงมีความต้องการใช้ยางที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่มีอัตราการใช้ยางเติบโตสูงสุด เนื่องจากการลงทุนมีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยางต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการส่งออก คาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกยางอยู่ที่ 4.275 ล้านตันโดยมกราคมและกุมภาพันธ์ 2566 ไทยส่งออกยางเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้นำเข้ายางจากไทยสูงสุดยังคงเป็นจีน คิดเป็น 55% ตามด้วย มาเลเซีย 13% และสหรัฐอเมริกา 4%