พาณิชย์ เผย EEC - FDI ปัจจัยหนุนส่งออกไทย
สนค. เผย การลงทุนต่างประเทศ หนุนส่งอออกไทย เผยต่างประเทศลงทุนในพื้นที่ EEC ดันมูลค่าส่งออกจากพื้นที่ EEC ขยายตัวเฉลี่ย 5.5% ต่อปี
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยว่าปัจจัยสำคัญหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการสนับสนุนการส่งออกของไทย คือ “การลงทุนจากต่างประเทศ” หรือ FDI สอดคล้องกับที่ธนาคารโลกได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การลงทุนจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน เทคโนโลยี และตลาดใหม่ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มผลผลิตและความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกและการส่งออกสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ถือว่าเป็นโครงการสำคัญหนึ่งของภาครัฐ ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 มีเป้าหมายเพื่อเป็นพื้นที่นำร่องพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (First S-Curve และ New S-Curve) โดยการดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การให้แรงจูงใจเพื่อดึงดูดการลงทุน และการอำนวยความสะดวกในการลงทุน
จากการดำเนินการที่ผ่านมา ทำให้ EEC เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนทั่วโลก มีบรรยากาศการลงทุนที่เป็นมิตร จากแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงการควบคุมจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทำให้มีจำนวนการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 เพิ่มขึ้น 40.6% เป็น 637 โครงการ และมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 62.7% เป็น 358,830 ล้านบาท
ขณะที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 จำนวนการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น 92 โครงการ และมูลค่าเงินลงทุนมากถึง 90,305 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และยานยนต์และชิ้นส่วน
การลงทุนที่ขยายตัวในพื้นที่ EEC นั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าส่งออกจากพื้นที่ EEC ที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2561 – 2565) มูลค่าส่งออกจากพื้นที่ EEC ขยายตัวเฉลี่ย 5.5% ต่อปี มีส่วนสำคัญในการผลักดันการส่งออกในภาพรวมของประเทศ โดยมูลค่าส่งออกจากพื้นที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งประเทศ (เฉลี่ยประมาณ 23.3% ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งประเทศ) และในปี 2565 การส่งออกจากพื้นที่ EEC มีมูลค่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์คิดเป็นสัดส่วน 24.4% ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งประเทศ ขยายตัว 7.7% จากปีก่อน
โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ 1. แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 4.3 พันล้านดอลลาร์ สัดส่วน 6.1%
ของมูลค่าส่งออก EEC ขยายตัว 10.3%
2.ยางยานพาหนะ มูลค่า 4.2 พันล้านดอลลาร์ สัดส่วน 6.0% ขยายตัว 6.2%
3.เครื่องปรับอากาศ มูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์เหรียญสัดส่วน 4.8% ขยายตัว 17.8%
ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2566 การส่งออกจากพื้นที่ EEC มีมูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 25.5% ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งประเทศ (มูลค่าส่งออกรวมทั้งประเทศ ไตรมาสแรกของปี 2566 อยู่ที่ 7.0 หมื่นล้านดอลลาร์) ขยายตัว 4.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด คือ แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ สัดส่วน 6.2% ของมูลค่าส่งออก EEC คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งหรือ 48.6% ของมูลค่าส่งออกแผงวงจรไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ ขยายตัว 6.2% (มูลค่าส่งออกแผงวงจรไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ ไตรมาสแรกของปี 2566 อยู่ที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์)
นอกจากการลงทุนจะช่วยสนับสนุนมูลค่าการส่งออกของประเทศและการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่แล้ว ยังส่งผลดีต่อการขยายตัวของชุมชนเมืองโดยรอบด้วย สะท้อนได้จากจำนวนนิติบุคคลในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด เฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (2561 – 2565) มีนิติบุคคลเพิ่มขึ้น 4.8% ต่อปี และในไตรมาสแรกของปี 2566 นิติบุคคลในพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 33.09 % ซึ่งมากกว่า 98% เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เข้ามาจัดตั้งธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการด้านที่อยู่อาศัยและภาคบริการอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แม้ว่าการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติจะทำให้เกิดการจ้างงาน เชื่อมโยงไทยเข้ากับห่วงโซ่การผลิตของโลก และทำให้ไทยกลายเป็นประเทศส่งออกรายใหญ่ในเอเชีย แต่การจะพัฒนา EEC ให้เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืน ยังมีประเด็นที่ควรมุ่งเน้นต่อไป อาทิ การยกระดับทักษะแรงงานไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศผู้ลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงการเร่งรัดการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการดึงดูดการลงทุนแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ชุมชนโดยรอบได้ประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ด้วย