“เวิลด์แบงก์” เผยวิธีเพิ่มรายได้ภาษี เพื่อเสถียรภาพการคลังในระยะยาว

“เวิลด์แบงก์” เผยวิธีเพิ่มรายได้ภาษี เพื่อเสถียรภาพการคลังในระยะยาว

วรันธร ภู่ทอง นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย รายงานการวิเคราะห์แนวทางจัดเก็บภาษีของไทย พร้อมแนะนำวิธีการจัดเก็บรายได้ภาษีเพิ่ม เพื่อสร้างเสถียรภาพการคลังให้พร้อมรับมือกับภาระรายจ่ายในระยะยาว

วรันธร เผยว่า การจัดเก็บภาษีของไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขัดกับรายได้ประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้น ประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีไทยยังคงต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจ ประชากร การจ้างงาน และเศรษฐกิจนอกระบบคล้ายกัน ธนาคารโลกจึงสรุปได้ว่า ประเทศไทยยังมีโอกาสจัดเก็บภาษีเพิ่มได้ 5.6% ต่อจีดีพี

ซึ่งธนาคารโลกมีหลักการในการจัดเก็บภาษีอยู่ 4 ประการ 

1.จัดเก็บภาษีให้เพียงพอ เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในระยะยาว

2.การจัดเก็บภาษีต้องมีประสิทธิภาพ 

3.คำนึงถึงความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี 

4.วิธีจัดเก็บภาษีต้องมีความง่าย

โดยธนาคารโลกได้ประเมินเครื่องมือจัดเก็บภาษีที่คาดว่ารัฐบาลไทยยังสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มได้อีก ได้แก่ การปฏิรูปภาษี อาทิ ปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10%, การเก็บภาษีสินค้าที่ได้รับยกเว้น, ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ทั้งการขยายฐานภาษี และลดการลดหย่อนภาษีบางประเภท ที่ส่วนใหญ่เอื้อให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้สูงมากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อย, ปรับปรุงภาษีบนความมั่งคั่ง โดยเฉพาะภาษีที่ดิน ซึ่งธนาคารโลกมองว่า การเก็บภาษีส่วนนี้มีความสำคัญในการช่วยเพิ่มรายได้ และช่วยกระจายอำนาจให้กับรัฐบาลท้องถิ่น และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นมากขึ้น

 

 

 

 

 

สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามกฎหมายไทยแล้วมีอัตราการเก็บอยู่ที่ 10% แต่ปรับลดอัตราภาษีเหลือ 7% ตั้งแต่ปี 2542 แล้ว หากดูโครงสร้างภาษีมูลค่าเพิ่มของไทย พบว่า การจัดเก็บอยู่ในระดับที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังต่ำกว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจคล้ายกันในเอเชีย-แปซิฟิกตะวันออก และประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ที่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเฉลี่ย 15% ดังนั้น ไทยยังมีโอกาสทยอยขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มได้

นอกจากนี้ ฐานภาษีแคบ ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อย  เนื่องจากการบริโภคในไทยเติบโตช้า  เศรษฐกิจนอกระบบจำนวนมากจึงยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการเสียภาษี อีกทั้งยังส่งผลกระทบในแนวราบ คือ กลุ่มคนที่มีรายได้เท่ากันมีภาระการเสียภาษีที่ไม่เท่ากัน โดยบางกลุ่มอาจมีการเลี่ยงภาษีหรือรายงานรายได้น้อยกว่าความเป็นจริง ซึ่งเห็นได้ว่า มีแรงงานไทยทั้งหมดที่ต้องเสียภาษี 40 ล้านคน แต่ยื่นภาษีเพียง 11 ล้านคน และเสียภาษีเพียง 4 ล้านคน และมากกว่า 80% ของคนเสียภาษีมาจากแรงงานพนักงานเงินเดือน สะท้อนให้เห็นว่า บรรดาเจ้าของธุรกิจหรือคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ สามารถเลี่ยงภาษีได้มากกว่า

ดังนั้น ธนาคารโลกจึงแนะนำว่า ไทยควรมีระบบจัดเก็บภาษีที่ง่าย และสะดวก โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเอื้อผู้เสียภาษีโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) เพื่อให้เข้าสู่ระบบเสียภาษีได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อกังวลว่า การเก็บภาษีเพิ่มอาจกระทบกับผู้มีรายได้น้อย ธนาคารโลกกล่าวว่า มาตรการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นควรปฏิบัติไปพร้อมกับมาตรการปกป้องทางสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย จะทำให้นโยบายภาษีโดยรวมมีความเป็นธรรม และยังสามารถเอื้อต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

“เวิลด์แบงก์” เผยวิธีเพิ่มรายได้ภาษี เพื่อเสถียรภาพการคลังในระยะยาว

วรันธร ภู่ทอง นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย

สำหรับการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ธนาคารโลกมองว่า ไทยมีประสิทธิภาพจัดเก็บภาษีดี แต่การเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีมาตรการลดหย่อนภาษีที่ส่งผลให้อัตราภาษีที่แท้จริงของไทยอยู่ระดับต่ำ เช่น มาตรการลดหย่อนประกันชีวิต มาตรการช้อปช่วยชาติที่มีทุกปี ซึ่งเป็นการเอื้อให้กับบุคคลที่มีรายได้สูงมากกว่าบุคคลที่มีรายได้ต่ำ ทำให้การจัดเก็บภาษีมีความเป็นธรรมลดลง

ส่วนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของไทยอยู่ในระดับต่ำ สาเหตุหลักมาจากการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูง เพื่อลดภาระของประชาชน ทำให้มีภาครัฐมีภาระเพิ่มขึ้น แต่มาตรการดังกล่าวเอื้อต่อคนที่มีรายได้สูงมากกว่าคนที่มีรายได้น้อย และไม่ได้เป็นมาตรการที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มลดลง รัฐบาลควรพิจารณาจัดเก็บภาษีน้ำมันอีกครั้ง

จากคำแนะนำดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีโอกาสเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้นได้ หากไทยนำมาตรการปฏิรูปภาษีของธนาคารโลกไปปรับใช้ จะสามารถทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 3.5% ต่อจีดีพี ซึ่งจะเพียงพอต่อการสนับสนุนรายจ่ายที่จำเป็นในระยะยาว เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางการคลังในอนาคต

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์