ส่งออกทรุดยาวติดลบ 7 เดือน ภารกิจท้าทายรัฐบาล “ก้าวไกล”
ส่งออก เม.ย.ติดลบ 7.6% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 หลังเศรษฐกิจโลกไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ตลาดส่งออกหลักของไทยติดลบเกือบหมด ยกเว้นจีนที่ขยายตัวสูง สรท.มั่นใจการส่งออกครึ่งปีหลังกลับมาฟื้นตัวได้ แนะรัฐบาลใหม่เร่งแผนลดต้นทุนผู้ผลิตสินค้า
การส่งออกเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 เป็นต้นมาถึงเดือน เม.ย.2566 การส่งออกติดลบต่อเนื่องรวม 7 เดือน จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะมารับผิดชอบบริหารประเทศตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้่
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนเม.ย. 2566 มีมูลค่า 21,723 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.6% ซึ่งเป็นการติดลลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ติดลบ 6.8% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,195 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.3 % ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,471 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 92,003.3 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 5.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 96,519.3 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 2.2% ขาดดุลการค้า 4,516 ล้านดอลลาร์
ปัจจัยหลักมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกกดดันอุปสงค์ด้านการส่งออก หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียยังคงเผชิญกับการส่งออกที่ชะลอตัว แม้ว่าปัจจัยด้านเงินเฟ้อจะชะลอลง แต่ความเปราะบางของภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรป กดดันให้เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น
“การส่งออกเดือน เม.ย.ที่ติดลบ 7.6% ส่วนหนึ่งมาจากฐานปีที่แล้วที่สูงมากทำให้ตัวเลขเดือน เม.ย.ติดลบสูง นอกจากนี้ประเทศคู่ค้ายังมีสินค้าในสต๊อกสูง (Over Stock) ทำให้ชะลอคำสั่งซื้อแทบทุกกลุ่มสินค้า แต่ถือว่าติดลบดีกว่าที่คาดไว้ว่าจะติดลบตัวเลข 2 ตัว ซึ่งในเดือนถัดไป ก็คาดว่าการส่งออกไทยยังคงติดลบอยู่และจะค่อยดีขึ้นเป็นบวกในไตรมาส 3 เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป”นายกีรติ กล่าว
สำหรับการส่งออกเดือน เม.ย.2566 ที่ลดลงมาจากการลดลงของสินค้าอุตสาหกรรมที่ติดลบ 11.2 % ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาพลังงาน โดยสินค้าสำคัญที่ติดลบ เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลด 23.5% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลดลง 19.0 % เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลดลง 11.5% อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ลดลง 27.0% รวมถึงเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ลดลง 27.1%
ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 7.1% แม้ว่าการส่งออกภาพรวมจะติดลบ แต่ก็ยังมีสินค้าสำคัญขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 3.4% เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 55.0 % อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัว 107.8% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัว 25.5% เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ขยายตัว 28.2%
ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัว 23.8 % โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงข้าว ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึง ผักกระป๋องและผักแปรรูป นมและผลิตภัณฑ์นม ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารสัตว์เลี้ยง
ด้านการส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่กลับมาหดตัว โดยตลาดหลัก ลดลง 6.2% จากการลดลงของตลาดสหรัฐที่ติดลบ 9.6% ญี่ปุ่น ติดลบ 8.1% อาเซียน (5 ประเทศ) ติดลบ 17.7% CLMV ติดลบ 17% และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ติดลบ 8.2% ขณะที่ตลาดจีนกลับมาขยายตัว 23%
ส่วนตลาดรอง ลดลง 14.9% โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ ลดลง 25.9% ตะวันออกกลาง ลดลง 16.7% แอฟริกา ลดลง 26.9% ลาตินอเมริกา ลดลง 9.4% แต่ขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 4.4% ตลาดรัสเซียและกลุ่ม CIS 155.4% และสหราชอาณาจักร 49%
ขณะที่การค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในตัวเลขการส่งออกรวมในเดือน เม.ย.2566 การค้ารวมมีมูลค่า 149,810 ล้านบาท เพิ่ม 14.2% แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 90,783 ล้านบาท เพิ่ม 22.3% และนำเข้ามูลค่า 59,027 ล้านบาท เพิ่ม 3.57% โดยส่งออกชายแดนไปสปป.ลาว เพิ่มขึ้น แต่ส่งออกไปมาเลเซีย เมียนมาและกัมพูชาลดลง และการส่งออกผ่านแดนไปจีน สิงคโปร์และเวียดนาม เพิ่มขึ้นทุกตลาด
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.2566 กับประเทศเพื่อบ้านซึ่งเป็นผู้ส่งออกสำคัญพบว่า การส่งออกของไทยหดตัวน้อยกว่าหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย หดตัว 29 % เวียดนาม หดตัว 16.2% สิงคโปร์ หดตัว 16% เกาหลีใต้ หดตัว 14.3% และไต้หวัน หดตัว 13.3 %
ส่วนแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายประเทศยังคงใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวด ขณะที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ปัญหาวิกฤตการเงินของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐและยุโรป และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของตลาดจีนในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณบวกต่อการส่งออกไทย ขณะที่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นในหลายประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยปีนี้
ส่วนปัจจัยที่ยังช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทย คือ 1. ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสำรองไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภค 2.นโยบายการพัฒนาพลังงานสะอาดเชิงรุกของประเทศคู่ค้า โดยยังมีปัจจัยท้าทายที่สำคัญ คือ ภาคธุรกิจทั่วโลกลดการสั่งซื้อสินค้าวัตถุดิบสำหรับใช้ในภาคการผลิต
กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าส่งออกทั้งปีที่ 1-2% ซึ่งจะต้องส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 24,000 ล้านดอลลาร์ การส่งออกจะขยายตัวเป็นบวกได้ แต่ก็ยอมรับว่า การส่งออกมีหลายปัจจัยจากภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็จะพยายามทำให้เต็มที่อย่างที่สุด
ส่วนข้อเสนอที่ภาคเอกชนเสนอมานั้น จะได้มีการพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาและอุปสรรคร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนการผลิต หรือปัญหาค่าแรง โดยการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะหารือกับผู้ส่งออกเป็นราย sector อีกครั้ง เพื่อร่วมกันพิจารณาแก้ปัญหาอุปสรรค และอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ เพื่อทำให้การส่งออกมีความคล่องตัว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเร่งขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกทั้ง 350 กิจกรรม ที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกในปีนี้เพิ่มขึ้นได้อีก 20,000 ล้านบาท
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า หากดูตัวเลขการส่งออกรวม 4 เดือนที่ติดลบ 5.2% โดยเฉลี่ยส่งออกเดือนละ 23,000 ล้านดอลลาร์ ก็ถือว่ายังดี และดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม โดยสินค้าที่เป็นเรือธงคือ สินค้ากลุ่มอาหาร ผักผลไม้ โต 100 % ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีมากๆ แต่ในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดไดรฟ์ ที่ส่งออกไปยังสหรัฐมีปัญหาทำให้ดึงตัวเลขส่งออกลง อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงนี้ส่งผลต่อการต่อการส่งออกของไทย ซึ่งผู้ประกอบการต้องเร่งส่งออกให้มากขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า
“แม้ตัวเลขส่งออกเม.ย.จะติดลบ 7.6 % แต่ก็ดีกว่าตัวเลขการส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านที่ติดลบมากกว่า และก็ยังเชื่อว่าในครึ่งปีหลังการส่งออกของไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ ซึ่งน่าจะเริ่มตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไป ซึ่งดูจากทิศทางและแนวโน้มในรายสินค้าหลายตัวที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น ประกอบกับภาครัฐและเอกชน วางแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผลักดันการส่งออกเชื่อว่า ตัวเลขส่งออกของไทยจะปิดเป็นบวกได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”นายชัยชาญ กล่าว
สำหรับรัฐบาลใหม่ทางภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลเรื่องต้นทุนการผลิต ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน ค่าแรง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย พร้อมกับสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนแผนงานการส่งออกของภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นเพราะความเชื่อมั่นเป็นเรื่องที่สำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและการส่งออก