ค่าไฟงวดก.ย.-ธ.ค. 66 'รัฐบาลก้าวไกล' ต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย ทำได้หรือไม่
“พลังงาน” ระบุ ลดค่าไฟตามนโยบาย “รัฐบาลก้าวไกล” อีก 10 สตางค์ทำได้ หากรัฐบาลยื่นมือมาช่วยอย่างจริงจัง ลุยบี้กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้เป็นไปตามสัญญาโดยเร็ว หวั่นสิ้นปีมรสุมเข้าฉุดกำลังการผลิต ป่วนคณะทำงานคิดค่าเอฟทีสะดุด
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรณีที่ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ระบุถึงภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลก้าวไกลโดยเฉพาะการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้า ว่า ค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 จะลดลงได้โดยรวมระดับ 80 สตางค์ จากแนวโน้มราคางวดปัจจุบัน 4.70 บาทต่อหน่วย มาอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย ตามแนวโน้มของราคาเชื้อเพลิงที่ลดลง รวมทั้งการเพิ่มการนำเอาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ผลิตไฟฟ้ามากขึ้น
นอกจากนี้ จากการที่นางสาวศิริกัญญา ระบุว่าจะสามารถลดค่าไฟลงได้อีกประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 3.90 บาทต่อหน่วย ซึ่งมาจากการบริหารหนี้สินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) โดยออกพันธบัตรระยะยาว และรัฐบาลจะไปช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนในส่วนนี้ จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ได้ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเรื่องการหาเงินมาใช้หนี้ที่กฟผ.แบกรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ระดับ 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปนั้น
แหล่งข่าว กล่าวว่า จากตัวเลขการคำนวณค่าเอฟทีงวดปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค. 2566) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยประชาชนต้องจ่ายคืนค่าเอฟให้กฟผ.ที่ระดับ 28 สตางค์ต่อหน่วย (ประมาณงวดละ 20,000 ล้านบาท) หรือจ่ายค่าไฟฟ้าที่ 4.70 บาทต่อหน่วย ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน ดังนั้น หากจะคำนวณค่าไฟผ่านนโยบายของว่าที่รัฐบาลพรรคก้าวไกลต้องการที่จะลดค่าไฟฟ้าลงอีก 10 สตางค์ดังกล่าวนั้น ก็สามารถทำได้ โดยรัฐบาลเอง ที่การออกพันธบัตร และลดการจ่ายคืนค่าเอฟทีให้กฟผ.เหลือ 18 สตางค์ต่อหน่วย และยืดหนี้กฟผ. ออกไปอีกระยะหนึ่ง เป็นต้น
“การที่รัฐบาลจะลดค่าไฟฟ้าจะใช้วิธีอะไรก็ตามสามารถทำได้หมด หากรัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วย โดยเฉพาะการใช้เงิน เพราะภาระตรงนี้ประชาชนไม่ควรจะรับเพิ่มจากสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นนั้น มาจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยแหล่งเอราวัณในส่วนที่หายไปจากสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือระดับ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหากเกิดจากภาวะราคาก๊าซธรรมชาติตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ก็ต้องยอมรับเพราะประเทศไทยนำเข้าปริมาณที่มาก ยิ่งก๊าซในอ่าวไทยหายไปเยอะก็ต้องนำเข้าเยอะ ถือเป็นต้นทุน ส่งผลให้กฟผ.ต้องแบกรับภาวะค่าเอฟทีตลอด 2 ปีที่ผ่านมา”
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่กระทรวงพลังงานได้รับจากกกพ. นั้น ผลกระทบจากปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่หายไปถือว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งที่เป็นปัญหา เพราะถ้าปริมาณไม่หายไปมากมายระดับ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ค่าไฟฟ้าก็จะไม่ขึ้นมามากขนาดนี้ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องลงมาดูแลและไปไล่บี้กับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ดำเนินการผลิตรายใหม่่ในสัญญาPSC ไม่ใช่มาโยนภาระตรงนี้ให้กฟผ. หรือประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า อีกอย่าง ต้องเข้าใจว่าข้าราชการกระทรวงบางครั้งก็ทำงานลำบาก หากภาคนโยบายไม่เห็นด้วยกับแผนที่นำเสนอ
“ส่วนตัวไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะถ้าพูดไปก็จะเข้าตัวรัฐบาล เพราะปัญหานี้ก็มาจากภาครัฐ เพราะถ้าเป็นปัญหาตลาดโลก เช่นราคาน้ำมันที่เป็นปัญหาธรรมชาติ ดังนั้น หากรัฐยิ่นมือมาช่วยโดยจะออกพันธบัตรก็ออกได้โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน เรื่องนี้มีข้อดีแลัะข้อเสีย ถ้าออกแล้วอยู่อย่างนี้ไปยาว ๆ ก็ไม่ดี ก็เท่ากับว่าค่าไฟไม่สะท้อนกับต้นทุน ทำให้เป็นเครื่องมือของการเมือง ที่จะลดหรือเพิ่มก็เอามาลงตรงนี้ สุดท้ายก็เป็นหนี้ของประเทศอยู่ดี ดังนั้น หากปล่อยไปตามธรรมชาติ คือต้นทุนที่แท้จริงจะพบว่ากรณีก๊าซฯ ในอ่าวไทยถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นปัญหาการบริหารจัดการ ถ้ารัฐจะลงมาดูตรงนี้อย่างจริงจังก็จะดี ถือเป็นสปิริตด้วย”
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังมีความกังวลถึงตัวเลขปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามที่ปตท.สผ. หรือแม้แต่ที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนยกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาให้สัมภาษณ์ ว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตปลายปีนี้ที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเดือนเม.ย. 2567 จะเป็นไปตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้จริง ๆ เนื่องจากขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว มีมรสุมจะกระทบต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ภาคสนาม ส่วนตัวจึงยังไม่ไว้วางใจในตัวเลขดังกล่าวว่าจะกลับมาผลิตได้ เพราะโดยหลักความเป็นจริงการขุดเจาก๊าซฯ ปริเวณดังกล่าวมาเป็นเวลานาน ปริมาณก๊าซลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้น จะกระทบต่อคณะทำงานประเมิณค่าเอฟทีงวดต่อไป
แหล่งข่าว กล่าวว่า โชคดีที่ราคานำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ลดลงมาที่ระดับ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จึงช่วยลดทอนปัญหาปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่หายไปได้บางส่วน แต่ก็ต้องจับตาราคานำเข้าในฤดูหนาวที่ปกติราคาจะปรับขึ้นตามกลไกความต้องการใช้แอลเอ็นจีในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ในช่วงเดือน เดือนก.ค. 2566 ทั้ง กฟผ. และ ปตท. จะต้องเตรียมข้อมูลราคานำเข้าก๊าซฯ เพื่อส่งคณะทำงานค่าเอฟทีของ กกพ. เพื่อประกาศค่าเอฟทีงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ต่อไป