นักวิชาการชี้ภาษีที่ดินจำเป็น แนะ 'ชัชชาติ' เพิ่มภาษี แก้ปัญหารายได้ กทม.ลด

นักวิชาการชี้ภาษีที่ดินจำเป็น  แนะ 'ชัชชาติ' เพิ่มภาษี แก้ปัญหารายได้ กทม.ลด

นักวิชาการ ยืนยัน ภาษีที่ดินยังจำเป็น ลดการใช้ดุลพินิจ แนะ "ชัชชาติ" ผู้ว่า กทม.เพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีบางกิจการ ลดปัญหาเก็บได้ลดลง ระบุ อปท.ต้องสำรวจที่ดินให้ครบทุกแปลง เชื่อมข้อมูลหน่วยงานออกเอกสารสิทธิ์ เพิ่มโอกาสเก็บรายได้

Key Points

  • พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2562 และมีข้อเสนอให้ยกเลิกการจัดมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
  • "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาเสนอให้รัฐบาลใหม่ทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ดิน
  • กรุงเทพมหานครอ้างว่าจัดเก็บรายได้จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภทลดลง เช่น ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า
  • นักวิชาการ เสนอให้กรุงเทพมหาเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีบางธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาจัดเก็บภาษีได้ลดลง

การจัดทำ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ผ่านมาเป็นหนึ่งในกฎหมายที่มีการเปิดรับฟังความเห็นเป็นวงกว้างเพราะมีผู้ได้รับผลกระทบมาก และสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2562 ซึ่งเป็นการยกเลิก พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมานานแล้ว 

รวมทั้งการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน  โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้รับผิดชอบการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งทางการคลังให้ อปท.เพราะภาษีที่จัดเก็บได้ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดให้เป็นรายได้ของ อปท.นั้น

ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เปิดเผยว่า ในระหว่างการยกร่างกฎหมายฉบับได้กล่าวได้มีเวทีรับฟังความเห็นที่หลากหลาย โดยมีการรับฟังความเห็นจากทั้งภาคเอกชน ประชาชนและ อปท.จนสามารถออกมาเป็นกฎหมายได้

สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือว่ามีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยและควรบังคับใช้ต่อไป เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการกำหนดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภท เพราะมีการกำหนดอัตราภาษีที่ชัดเจนไว้ โดยต่างจากภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เจ้าหน้าที่จะมีการคำนวณอัตราภาษีจากรายได้ของทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่า

แนะเพิ่มอัตราภาษีบางกิจการ

ในขณะที่ปัญหาการจัดเก็บรายได้จากภาษีที่ดินของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาระบุถึงผลกระทบของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จัดเก็บได้ลดลง เช่น การจัดเก็บภาษีกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า โดยเป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้เพราะ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้ประกาศอัตราภาษีสำหรับกิจการที่เห็นควรว่าควรจะเก็บเพิ่ม

“เมื่อบังคับใช้ภาษีที่ดินมาได้ 2-3 ปี จะเห็นผลกระทบจากการจัดเก็บภาษี จึงทำให้มีการกำหนดใน พ.ร.บว่าสามารถเปลี่ยนอัตราการจัดเก็บภาษีได้ แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดใน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”

ทั้งนี้ ในกรณีห้างสรรพสินค้าที่กรุงเทพมหานครออกมาระบุว่าเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลง ซึ่งในหลักการแล้วเมื่อผู้ประกอบการมีต้นทุนธุรกิจที่ลดลงควรที่จะลดค่าเช่าหรือค่าบริหารเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ด้วย แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากที่ผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากภาระภาษีที่ลดลงแล้วจะลดค่าเช้าหรือค่าบริการ

นอกจากนี้ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งมีการนำเสนอนโยบายการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยพรรคก้าวไกลที่กำลังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีข้อเสนอการจัดเก็บแบบรวมแปลงและคำนวณภาษีแบบก้าวกระโดดสำหรับที่ดินรวมของทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีมูลค่า 300 ล้านบาท ขึ้นไป

เก็บรวมแปลงขึ้นกับนโยบายรัฐบาล

ในประเด็นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเคยมีข้อเสนอให้จัดเก็บแบบรวมแปลง รวมถึงข้อเสนอในช่วงยกร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพียงแต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป เช่น การเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าสำหรับที่ดินรวม 50 ไร่ขึ้นไป

ในประเด็นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในรูปแบบรวมแปลงจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลใดมีนโยบายเก็บภาษีแบบรวมแปลง 

“แนวทางการเก็บภาษีแบบรวมแปลงจะไม่กระทบกับผู้ที่มีที่ดินไม่มากเพราะเสียภาษีในอัตราปกติ แต่ผู้ที่มีที่ดินจำนวนมากจะเสียอัตราสูงที่สูงขึ้น”

สำหรับอีกประเด็นที่พรรคก้าวไกลเสนอเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยในประเด็นนี้เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลควรดำเนินการ ซึ่ง อปท.ควรสำรวจที่ดินที่อยู่ในเขตปกครองให้ครบทุกแปลง เพื่อให้ทราบจำนวนที่ดินและข้อมูลผู้ถือครองที่ดิน

รวมทั้ง อปท.ควรมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดินที่มีหลายหน่วยงาน

ทั้งนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดินเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีผลต่อการประเมินภาษีและการจัดเก็บภาษีขององค์กรกครองส่วนท้องถิ่น โดยรายได้ อปท.จะขึ้นกับการวางกำลังคนสำหรับจัดเก็บภาษีที่ดิน รวมถึงจำนวนแปลงที่ดินที่อยู่ในเขตปกครองแต่ละแห่ง

ส่วนประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำของการถือครองที่ดินเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา โดยหลังากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาประเมินผลจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

รวมทั้งต้องทำให้เจ้าของที่ดินสนใจข้อมูลการถือครองที่ดินของตัวเองว่ามีมากน้อยเพียงใด และเป็นภาระภาษีแค่ไหน โดยถ้าเจ้าของที่ดินไม่มีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ถือครองจะทำอย่างไร โดยที่ผ่านมาเคยมีข้อเสนอในการจัดการที่ดินดังกล่าวผ่านธนาคารที่ดิน

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะถือครองที่ดินของผู้ไม่มีที่ดิน ซึ่งอาจใช้กลไกของธนาคารที่ดินเพื่อบริหารจัดการที่ดินที่ถูกปล่อยออกมา

มั่นใจรัฐบาลใหม่ไม่ยกเลิกภาษีที่ดิน

นายชินภัทร วิสุทธิแพทย์ ที่ปรึกษากฎหมายและภาษีธุรกิจครอบครัว กล่าวว่า ผลของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขึ้นกับการทำงาน 3 ส่วน ประกอบด้วย

1.เจ้าพนักงานสำรวจ ที่จะสำรวจแปลงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2.เจ้าพนักงานประเมิน ที่ทำหน้าที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินตามอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนด

3.เจ้าพนักงานจัดเก็บภาษี

ทั้งนี้ หากส่วนหนึ่งส่วนใดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพก็จะมีผลต่อการจัดเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การมีฐานข้อมูลผู้เสียภาษีที่ยังไม่สมบูรณ์

สำหรับการจัดเก็บรายได้จากภาษีที่ดินที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับภาษีโรงเร่ือนและที่ดิน เพราะอัตราภาษีโรงเรือนและที่ดินถือว่าสูงกว่าภาษีที่ดินปัจจุบัน โดยมีอัตราจัดเก็บที่ 12.5%

รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมามีการลดหย่อนอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงปี 2563-2564 แต่ในระยะยาว อปท.จะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เพิ่มมากขึ้นจากราคาประเมินที่ดินของภาครัฐที่สูงขึ้น และการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากที่ดินรกร้างที่ไม่เคยจัดเก็บได้มาก่อน

"ถึงแม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้มีการยกเลิกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้กับไปใช้ภาษีโรงเรือนและที่ดิน เชื่อว่าคงเป็นไปไม่ได้"

ทั้งนี้ เพราะพรรคก้าวไกลที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบันยังคงมีนโยบายผลักดันการใช้กฎหมายฉบับนี้ เพียงแต่อาจจะมีการปรับปรุงในรายละเอียด โดยเฉพาะการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยง เพราะถ้าฝ่ายจัดเก็บภาษีทำงานได้ไม่เต็มที่ก็จะมีผลต่อรายได้ที่จัดเก็บได้น้อยลง