'เงินเฟ้อ’ครึ่งปีหลังเสี่ยงหดตัว ชี้ยังไม่ปิดประตู‘ขึ้นดอกเบี้ย’

'เงินเฟ้อ’ครึ่งปีหลังเสี่ยงหดตัว  ชี้ยังไม่ปิดประตู‘ขึ้นดอกเบี้ย’

“เงินเฟ้อ” พ.ค.ชะลอลงมาที่ 0.53% ลดต่อเนื่องเดือนที่ 5 ต่ำสุดรอบ 21 เดือน หลังราคาน้ำมัน อาหาร ค่าไฟลด คงเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 1.7-2.7% คาดชะลอตัวต่อเนื่อง “นักเศรษฐศาสตร์” ชี้เงินเฟ้อโตต่ำคาด หลังราคา “พลังงาน-อาหาร” ลดลงเร็ว แต่เชื่อยังไม่ปิดประตู กนง.ขึ้นดอกเบี้ย

Key Points

  • อัตราเงินเฟ้อ พ.ค.2566 ขยายตัว 0.53% ต่ำที่สุดในรอบ 21 เดือน หลังจากราคาน้ำมันและอาหารลดลง
  • กระทรวงพาณิชย์ ยังคงอัตราเงินเฟ้อปีนี้ 1.7-2.7% แต่อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.นี้ มีแนวโน้มหดตัว
  • นักเศรษฐศาสตร์ CIMBT เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อล่าสุดต่ำกว่าที่หลายฝ่ายเคยประมาณการณ์ไว้
  • ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ แต่เชื่อว่าไม่ปิดที่ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน พ.ค.2566 เท่ากับ 107.19 เทียบกับ เม.ย.2566 ลดลง 0.71% เทียบกับเดือน พ.ค.2565 เพิ่มขึ้น 0.53% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ย.2564 ที่“เงินเฟ้อ”อยู่ที่ 1.68% ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้น 2.96% 

ทั้งนี้ ในส่วนของ เงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ค.2566 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.2566 ถือว่าราคาค่อนข้างนิ่ง และเพิ่มขึ้น 1.55% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.2565 รวม 5 เดือนเพิ่มขึ้น 1.98%

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อปรับลดลงมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่ากระแสไฟฟ้า รวมทั้งราคาสินค้าหมวดอาหารชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือน พ.ค.2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวค่อนข้างมาก 

\'เงินเฟ้อ’ครึ่งปีหลังเสี่ยงหดตัว  ชี้ยังไม่ปิดประตู‘ขึ้นดอกเบี้ย’

อัตราเงินเฟ้อไทยเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือน เม.ย.2566) พบว่า ไทยอยู่กลุ่มที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และต่ำสุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนาม

ทั้งนี้ เงินเฟ้อเดือนพ.ค.2566 ที่สูงขึ้น 0.53% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 3.99% ชะลอตัวจากเดือนเม.ย.2566 ที่สูงขึ้น 4.53% โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ผักและผลไม้  มะนาว ต้นหอม มะเขือ แตงโม เงาะ ไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดไม่มากนัก 

ประกอบกับความต้องการเพิ่มขึ้นจากการเปิดภาคเรียน เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหารบริโภคในบ้าน เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร ปลาช่อน น้ำมันพืช มะขามเปียก มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) กล้วยน้ำว้า ทุเรียนและชมพู่

สำหรับ หมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.83% ตามการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ และเบนซิน ค่ากระแสไฟฟ้า เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า แป้งผัดหน้า หน้ากากอนามัย และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี 

ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ เครื่องบิน แท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์เล็ก สองแถว เรือ ค่าการศึกษา สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด สารกำจัดแมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ และค่าบริการส่วนบุคคล ค่าแต่งผมชาย สตรี ค่าทำเล็บ

 

คาดแนวโน้มเงินเฟ้อชะลอตัว

นายวิชานัน กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.2566 คาดว่าชะลอต่อเนื่องหรือมีโอกาสหดตัว ซึ่งตัวเลขอาจต่ำกว่าเดือน พ.ค.หรือสูงกว่าเล็กน้อย หรือบางเดือนหลังจากนี้อาจจะใกล้ 0 โดยมีปัจจัยจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มลดลงและต่ำกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว แต่ต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้งเพราะล่าสุดโอเปกประกาศลดกำลังการผลิต ซึ่งไม่รู้ว่าราคาจะขึ้นหรือลงแรงและยังไม่ชัดเจน แต่ยังมีภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะฉุดความต้องการใช้ ซึ่งเชื่อว่าราคาจะไม่แรงกว่าปีที่แล้ว และน่าจะอยู่ในกรอบที่คาดไว้

นอกจากนี้ค่าไฟฟ้าที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.2565 ค่อนข้างสูง ประกอบกับมาตรการลดค่าครองชีพ และการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินการต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มีปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น คือ ภัยแล้ง จะกระทบสินค้าเกษตรและอาหารสูงขึ้น อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ต้นทุนสินค้าและบริการยังสูง ทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ค่าแรง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจทำให้เงินเฟ้อมีโอกาสผันผวน

ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาท กระทบเงินเฟ้อทางอ้อมต่อค่าบริการและอาหาร แต่ขณะนี้ยังไม่ปรับขึ้น และหากปรับขึ้น ขึ้นทีเดียวคงมีผลกระทบแรง หรือจะปรับตามขั้นบันได โดยเป็นไปตามคณะกรรมการไตรภาคี คงต้องรอดูความชัดเจนก่อน

เตรียมลดประมาณการณ์เงินเฟ้อ

“เดือน เม.ย.เงินเฟ้ออยู่ที่ 2.67 % แต่มาเดือน พ.ค.ลงแรงมาอยู่ที่ 0.53% ถือว่าดรอปแรง จากนี้ไปเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงทรงๆ อาจจะเห็นต่ำกว่านี้หรือสูงกกว่านี้หากราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่วนความจำเป็นของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็คงอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะการขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่มาจากเรื่องเงินเฟ้อเพียงเรื่องเดียว ยังมีเรื่องอื่นอีกทั้งเศรษฐกิจไทยก็อยู่ในช่วงขาขึ้น

 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ที่ระหว่าง 1.7-2.7% ค่ากลาง 2.2% ภายใต้สมมติฐานจีดีขยายตัว 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์ 

รวมทั้งจากสถานการณ์ปัจจุบันคาดว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับลดลง โดยไตรมาส 1 เงินเฟ้อ 3.88% ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าอยู่ที่ 1% เศษ ขณะที่ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เฉลี่ยไม่เกิน 1% ทำให้ทั้งปีน่าจะลดลง จึงขอดูความชัดเจนในเดือน มิ.ย.2566 ก่อน และจะพิจารณาปรับเป้าหมายอีกครั้ง แต่มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดลง

CIMBT ชี้เงินเฟ้อโตต่ำคาด

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ที่ออกมา ถือว่าต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยหากเทียบเดือนต่อเดือนติดลบไปราว 0.71% ซึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ลดลงค่อนข้างมาก

“การลดลงอย่างรวดเร็วของเงินเฟ้อต้องติดตามว่า จะมีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) หรือไม่ เพราะเดิม กนง.ห่วงว่าจะเห็นการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้า และกังวลว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจะกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น”

ทั้งนี้ แม้ “เงินเฟ้อ” ที่ออกมา จะคลายความกังวลลงไปบ้าง แต่สถานการณ์ข้างหน้า ยังมีความไม่แน่นอนอีกมาก โดยเฉพาะ กว่าจะถึงรอบการประชุม กนง. ในช่วงเดือนส.ค. ซึ่งใช้ระยะเวลาอีก 2 เดือน ที่อาจมีสถานการณ์ใหม่ๆเกิดขึ้น ดังนั้น ยังต้องติดตามการดำเนินนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า ยังไม่จบรอบการขึ้นดอกเบี้ย แต่อาจเห็นการขึ้นดอกเบี้ยถูกทิ้งระยะ อาจไม่ได้มีการขึ้นต่อเนื่อง อาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรอดูสถานการณ์และกลับมาขึ้นดอกเบี้ยใหม่อีกครั้งได้ เหมือนการดำเนินนโยบายการเงินในต่างประเทศ

“ภาพวันนี้ สะท้อนให้เราเห็นว่า Demand pull inflation หรือเงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ ไม่ได้ร้อนแรงอย่างที่คิด ดังนั้นเรายังคงไม่ปรับมุมมอง และยังเชื่อว่ากนง. ยังจะขึ้นดอกเบี้ยได้อยู่ แต่อาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยติดกัน เพราะแรงกดดันเงินเฟ้ออาจไม่ใช่ตัวหลัก หลังจากนี้ ธปท. อาจดูน้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น และสุญญากาศจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่เป็นหลักได้

ยังไม่ปิดประตู กนง.ขึ้นดอกเบี้ย

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า เงินเฟ้อที่ออกมาถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก สะท้อนว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ มีน้อยลงกว่าที่คาดไว้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากฐานสูงจากปีก่อน ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลงเร็ว และหากดูเดือนต่อเดือน พบว่าเงินเฟ้อไม่ขยับขึ้น หรือขึ้นต่ำมากเพียง 0.1%ต่อเดือนเท่านั้น ดังนั้นหากเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง เชื่อว่าท้ายที่สุดอาจส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงไปอยู่ระดับต่ำเพียงระดับ 1% ต้นๆได้

อย่างไรก็ตาม แม้เงินเฟ้อปรับตัวลดลง แต่บนความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย เชื่อว่า กนง.อาจต้องการเก็บกระสุน หรือ ต้องการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าจะขึ้นได้อีก 1 ครั้ง ที่ 0.25% ไปสู่ 2.25% ในปีนี้

“จากการแถลง กนง.ล่าสุดเชื่อว่า กนง.อยากขึ้นดอกเบี้ย แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จนถึงรอบประชุม ส.ค.และหากเงินเฟ้อลงมาเรื่อยๆ ตรงนี้อาจต้องมาช่างน้ำหนักว่า การขึ้นดอกเบี้ยยังจำเป็นอยู่หรือไม่ แต่ท่าที กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังดี การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการยังคงมีอยู่ ดังนั้นเรายังมองว่าโอกาสที่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่แค่1ครั้งในปีนี้ เพราะสิ่งที่ ธปท.อยากเห็นก็คืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก”