ปรับพอร์ตกลางปี

ปรับพอร์ตกลางปี

ภาพรวมการลงทุนทั้งในตลาดทุนและตลาดเงิน ถ้าพูดกันแบบสวยๆก็คือ ปรับฐาน แต่ถ้าว่ากันตรงๆ ก็คือเหมือนเดิม ต้นร้ายปลายไม่สวย ทำไมมันเป็นแบบนั้นแล้วมันเกิดอะไรขึ้นในโลกนี้และในประเทศไทย ผมขอเริ่มจาก ต่างประเทศแล้วขยับเข้ามาในประเทศครับ

ปัญหากดดันในสังคมโลกตอนนี้มีไม่กี่ประเด็น แต่ว่าประเด็นมันใหญ่เอาเรื่องทั้งนั้น 

เริ่มเรื่องแรก ก็ต้องยกให้พี่ใหญ่อย่างเช่นสหรัฐฯ ที่ยังคงโหมดต่อสู้กับทั้งภาวะเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศ และปัญหาการเมือง ที่ทั้ง 'เดโมแครต และ รีพับลิกัน ต่างก็เล่นแง่กัน เรื่องเพดานหนี้สาธารณะ จนทำให้ตลาดการลงทุนผันผวนอย่างรุนแรง มาพูดแบบสรุปกันเลย คือ FED คงต้องเดินหน้าสู้กับเงินเฟ้อต่อ และอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกสักครั้ง 

พอไม่พอคงต้องดูกันตอนนั้นละครับ( Data Dependence) เรื่องเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นและแห่กันไปถอนเงินจนทำธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กไปไม่รอด สุดท้าย รัฐก็เข้ามาอุ้ม ทำไมต้องอุ้มประเด็นนี้ผมว่าจากกรณี เรย์แมนด์ เมื่อหลายปีก่อน น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีของฝั่งสหรัฐฯ ว่าอุ้มไว้ดีกว่าปล่อยให้ล้มแล้วค่อยๆมาสอยผู้บริหารที่หลังเป็นต้นทุนที่ถูกกว่าการปล่อยให้ล้ม ดังนั้นก็คงไม่น่ามีประเด็นเรื่องล้ม แต่อาจจะมีประเด็นเรื่องการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐฯ ออกมาเป็นข่าวไปเรื่อยๆตลอดปี ละครับ 

แล้วก็มาถึงประเด็นร้อนเรื่องสุดท้ายคือ เรื่องเพดานหนี้ หรือ Debt Ceiling ประเด็นที่ไม่ควรเป็นประเด็น ทำไมผมถึงพูดแบบนั้น ก็เพราะว่าเรื่องงบประมาณประจำปีและแผนการลงทุนได้รับการอนุมัติไปหมดแล้ว แต่ก็มาติดเรื่องเพดานหนี้ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือหรือเป็นการต่อรองทางการเมืองล้วนๆ 

ซึ่งในสมัยรัฐบาล คุณ โอบามา ก็ เกิดเหตการณ์ Government Shutdown อันลือลั่นที่ทำให้ข้าราชการไม่มีเงินเดือนพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องหน้าแตกที่สุดของสหรัฐฯ และปัญหาที่เกิดขึ้น ยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงอีกรัฐบาลถัดไปสรุป คือ ผลกระบบจาก Government Shutdown ทำให้ระบบการบริหารงานถูกปิด การใช้งบประมาณล่าช้า โครงการลงทุนถูกค่าปรับ ทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นทั้งรัฐและเอกชน อันนี้ไม่นับรวมเรื่องปวดหัวของตลาดเงินกับตลาดทุนนะครับ โดยสรุป เอาเป็นว่าเรื่อง Debt Ceiling ก็เลยเป็นเรื่องที่ทำให้ภาพการลงทุนทั่วโลกปวดหัวตัวร้อนกันไป

ตามมาติดๆก็น่าจะเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์(Geo-Political) พูดกันตรงๆ คือ เรื่องของ ยูเครน รัสเซีย ซึ่งยูเครน ถือเป็นตัวแทนซีกโลกตะวันตก ในขณะที่บทบาทสำคัญของ สหรัฐ ก็คือ ลูกพี่ใหญ่ของ ยูเครน และที่ตะลึงคือการปรากฎตัวของ คุณ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครนทั้งในรัฐสภาสหรัฐ และในที่ประชุม G7 รวมทั้งวาทะกรรมของคุณ เซเลนสกี้ ก็ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะทางสหรัฐฯ ก็มีความพยายามที่จะสร้างแรงกดดันไปที่ประเทศจีน

 โดยมองว่าจีนอาจจะเป็นภัยคุกคามใหม่ต่อโลก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในระดับโลก อย่างไรก็ตามประเทศแถบเอเชียส่วนใหญ่ไม่ได้คิดแบบนั้นและยังดำรงความเป็นกลางซึ่งรวมไปถึงกรณี ยูเครน รัสเซีย ทำให้ สหรัฐฯ เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องสยายปีกมาทางเอเชียมากขึ้น เพราะมีแค่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเร็วๆนี้ ก็มีฟิลิปปินส์ ดูแล้วยังไม่ใช่ตัวแทนของเอเชีย ดังนั้นภาวะการตึงเครียดทางการเมืองระดับประเทศเริ่มใกล้เข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใด้ซึ่งมีประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลาง

คราวนี้ก็มาถึงประเทศไทยก็ต้องบอกว่า เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนคนไทยได้แสดงความเป็นเจ้าของประเทศ โดยการออกมาเลือกตัวแทนเพื่อเข้าไปในสภาจะเป็นฝ่ายค้าน หรือรัฐบาลก็ได้ แต่ผลที่ออกมาก็ชื่นใจตรงที่ประชาชนคนไทยออกมาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เกิน 70% ผลเป็นยังไงคงไม่ต้องกล่าวถึงนะครับ 

แต่ภาพการลงทุนในรอบนี้ ปากกาผมก็หักไปตามระเบียบ เพราะไม่มี election rally ดัชนีตลาดหุ้นก็ ลุ่มๆดอนๆ มีหลุด ระดับ 1,500 จุด ไปแว่บหนึ่งทำเอาใจไม่ดีกันทั้งตลาดหุ้น ต่างชาติก็เดินหน้าขายสุทธิ ทั้งหุ้นและตราสารหนี้ อยู่ในระดับเป็นหมื่นล้านบาท จะบอกว่ามาจากปัจจัยต่างประเทศก็ส่วนนึงแต่ตั้งแต่กลางเดือนมาจนถึงปลายเดือน ปะเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่เงินไหลออก อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปิส์ เงินไหลเข้าหมด เรามาดูซิว่าเป็นเพราะอะไร ดูแบบไม่คิดลึกคือพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มีการปรับปรุงเรื่องของการจัดเก็บภาษีของผู้มีรายได้สูงและธุรกิจที่มีรายได้สูง

 รวมทั้งลดการผูกขาดของกลุ่มทุน รวมทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันที ดูแล้วก็ดีมากๆครับ แต่บังเอิญที่มันไม่เอื้อต่อตลาดทุนและตลาดเงิน เพราะไม่มีตัวช่วยเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มต้นทุนการผลิต รวมทั้งช่วยเพิ่มอัตราเงินเฟ้อท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยจะแข็งแรงมากนัก ส่วนอีกมุมมองหนึ่งก็ไม่ต่างกัน คือโอกาสที่จะเกิดความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลมีมาก และอาจจะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าไปจนทำให้การใช้งบประมาณปี 2566 มีเวลาใช้ไม่ถึง 9 เดือน ก็ย่อมเป็นตัวกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

เดือนมิ.ย.จะเป็นอย่างไร มองกันเร็วๆ Debt Ceiling ควรจบแล้ว การประชุม FED ช่วงกลางเดือน จะคงอัตราเดิม หรือ จะขึ้นอีก 0.25% ก็ไม่น่าจะมีอะไรแตกต่างเป็นพิเศษ เพราะช่วงครึ่งหลังของปี อัตราเงินเฟ้อก็จะลดลงเพราะฐานสูงแต่สิ่งที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องเผชิญคือความผันผวนของระบบสถาบันการเงิน และความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยจะมาเยือนอีกครั้ง หาก FED ยังเดินหน้าขึ้นอัตรดอกเบี้ยต่อไปอีก ทางฝั่งยุโรปอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 

ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในสมการที่เป็นไปได้ หันมาที่ญี่ปุ่นดูแล้วน่าจะคงระดับ Yield Curve Control ไว้ระดับเดิม เนื่องจากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนทางเศรษฐกิจมากนักเพราะการฟื้นตัวของ Supply Chain โดยเฉพาะในกลุ่ม Electronic และ Technology เป็นตัวช่วยที่ดีต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ทางด้านระดับราคาพลังงานมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงตามการแข็งค่าขึ้นของเงินสกุลดอลล่าร์ หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง

พอร์ตการลงทุนลงทุนในเดือน มิ.ย. มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย คือ น้ำหนักการลงทุนในหุ้นจะปรับลดลงจาก 50% เป็น 45% โดยแบ่งเป็น สหรัฐฯและ จีน รวมกันไม่เกิน 15% เนื่องจากประเด็นเรื่อง ภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความตึงเครียดมากขึ้น ญี่ปุ่น คงน้ำหนักไว้ที่ 10% เพราะการฟื้นตัวของ Supply Chain ในกลุ่ม Technology น่าจะสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ประเทศไทย 20% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 20% เป็นตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade ประมาณ 10% ตลาดเงิน 10% ทอง น้ำมัน และกองรีท รวมกันประมาณ 15% โดยเน้นไปที่ กองรีท เพราะผลตอบแทนเริ่มดีขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดประเทศและการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว