10 ประเด็นสำคัญ ครม.แก้สัญญา ‘เมืองการบินอู่ตะเภา’ ดันฮับการบินเอเชีย
เปิดสาระสำคัญแก้สัญญาเมืองการบินภาคตะวันออก 10 ข้อ หลังผ่าน ครม. ผ่อนผันให้เอกชนแก้สัญญา หลังรับผลกระทบจากโควิด-19 ให้เริ่มนับอายุสัมปทานตั้งแต่จำนวนผู้โดยสารถึง 5.6 ล้านคน ผ่อนผันจ่ายเงินช่วงแรกลดลง เปิดช่องขยายสัมปทานได้หากรายได้ส่งรัฐรวมไม่ถึง1.3 ล้านล้าน
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงการนี้เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP net Cost) โดยมีคู่สัญญาคือคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) มีมูลค่าการลงทุนในโครงการ 204,240 ล้านบาท โดยเอกชนที่รับสัมปทานได้รับสิทธิ์ในการบริหารโครงการ 50 ปี ประกอบไปด้วยระยะเวลาในการก่อสร้างและพัฒนาพื้นที่ 3 ปี และการให้บริการ และการบำรุงรักษาโครงการฯอีก 47 ปี
ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งผลกระทบจากสงครามยูเครน และรัสเซีย ซึ่งเข้าเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุนที่ระบุว่าหากเกิด “เหตุสุดวิสัย” หมายถึงเหตุการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นโดยมิใช่ความผิดของคู่สัญญาเหตุการณ์นั้นเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ว่าคู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยจะระมัดระวัง ป้องกันตามสมควรแล้วก็ตาม
โดยสัญญาเปิดช่องให้คู่สัญญาทั้งภาครัฐ และเอกชนสามารถเจรจาเรื่องสัญญาร่วมกันเพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆเพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าไปได้โดยการแก้ไขสัญญาให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อเป้าหมายในการผลักดันเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) เกิดขึ้นและสามารถเป็นศูนย์การบิน การท่องเที่ยว และธุรกิจ สามารถแข่งขันได้ในภูมิภาคตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ และทำให้โครงการฯ สามารถชำระรายได้ขั้นต่ำของรัฐครบตามจำนวน 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่กำหนดไว้ตามสัญญา
ทั้งนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมาเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการเพื่อให้โครงการยังเดินหน้าต่อไปได้ “กรุงเทพธุรกิจ” สรุป 10 ประเด็นสำคัญในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในครั้งนี้
1.เอกชนลงผู้รับสัมปทานตกลงทุนเพิ่มเติมในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) ประมาณ 40,000 ล้านบาท (จากเดิมประมาณ 4,500 ล้านบาท) โดยเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ กรรมสิทธิ์ในงานพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกทั้งหมดจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ
2.เลื่อนการเริ่มนับระยะเวลาสัมปทาน ต่อจากช่วงอายุการให้บริการและการบำรุงรักษาโครงการฯ โดยเริ่มนับปีที่ 1 จาก 47 ปีของการให้บริการและการบำรุงรักษาโครงการฯ ในปีที่มีปริมาณผู้โดยสารต่อปี จำนวน 5.6 ล้านคน หากจำนวนผู้โดยสารยังไม่ถึง 5.6 ล้านคนจะยังไม่เริ่มนับอายุสัมปทาน
3.ในระยะแรกผู้รับสัมปทานจะพัฒนาให้งานหลักฯ มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 12 ล้านคนต่อปี และจะลงทุนในระยะถัดไป (ระยะที่ 2 - 6) เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารถึง 80% ของขีดความสามารถในการรองรับ โดยเปลี่ยนจาก 4 ระยะเป็น 6 ระยะ โดยระยะที่จะมีการขยายสนามบินคือมีผู้โดยสารถึง 15.9 ล้านคน ซึ่งเดิมกำหนดไว้ในปี 2570
4.การชำระเงินค่าเช่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างแก่รัฐ ในช่วงที่ยังไม่นับอายุสัมปทาน ให้เอกชนชำระเงินจำนวน 100 ล้านบาทต่อปี (จากเดิม จำนวน 820 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีแรกของการให้บริการและการบำรุงรักษาโครงการฯ และเพิ่มขึ้นทุก ๆ 3 ปี จนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ)
5.การชำระรายได้ของรัฐ ให้เอกชนคู่สัญญาชำระเงินในช่วงที่ยังไม่นับอายุสัมปทาน จำนวน 100 ล้านบาทต่อปี (จากเดิม จำนวน 1,300 ล้านบาท ในปีที่ 1 และเพิ่มขึ้นในปีถัดไปทุกปีจนสิ้นสุดระยะโครงการฯ)
6.การชำระรายได้ของรัฐแก่ สกพอ. ให้เอกชนคู่สัญญาชำระเงินในช่วงที่ยังไม่นับอายุสัมปทาน ให้เอกชนชำระเงินเท่ากับกระแสเงินสดคงเหลือจากการดำเนินโครงการฯ ภายหลังการชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นที่จำเป็นต้องชำระตามสัญญาเงินกู้แล้ว ทั้งนี้ ไม่เกิน 5% ของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในปีนั้น ๆ ของเอกชนคู่สัญญา
7.การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ของเอกชนคู่สัญญา โดยให้นำรายได้ของเอกชนคู่สัญญาในแต่ละปีไปชำระรายการดังต่อไปนี้ตามลำดับ โดยรัฐต้องสามารถตรวจสอบได้ โดยจัดลำดับความสำคัญ ได้แก่
ลำดับที่ 1 ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินโครงการ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ค่าจ้างพนักงาน ค่าจัดซื้อและจ้างบริการ (Supplier) และค่าธรรมเนียมและภาษีต่าง ๆ (เช่น ภาษีที่ดิน ค่าเบี้ยประกันภัยสิ่งปลูกสร้าง)
ลำดับที่ 2 ค่าเช่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างให้แก่รัฐ ลำดับที่ 3 ค่าใช้จ่ายในการชำระคืนดอกเบี้ยและเงินต้นของเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่จำเป็นต้องชำระคืนตามสัญญาเงินกู้ในสถานะปกติ (No Default) ซึ่งไม่มีกรณีที่ผู้ให้กู้เงินเริ่มใช้สิทธิเร่งรัดชำระหนี้เงินกู้ (Accelerate Loan) ภายใต้สัญญาเงินกู้ที่รัฐได้รับทราบและได้เข้าตรวจสอบสัญญาเงินกู้ที่เอกชนคู่สัญญาเข้าทำกับผู้ให้เงินกู้แล้ว ลำดับที่ 4 เงินสดสำรอง Debt Service Reserve Account (DSRA) และ Major Maintenance Reserve Account (MMRA) ซึ่งต้องเป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของธนาคารหรือสถาบันการเงินในการให้เงินกู้แบบสินเชื่อโครงการ (Project Finance) ลำดับที่ 5 รายได้ของรัฐเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 5 ของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในปีนั้นของเอกชนคู่สัญญาและผู้ประกอบการโดยแท้
และ ลำดับที่ 6 เงินคงเหลือจากการจัดสรรรายได้ของเอกชนคู่สัญญาตามลำดับก่อนหน้า ให้นำไปชำระรายได้ขั้นต่ำของรัฐในปีนั้นตามที่ระบุไว้ในสัญญาร่วมลงทุนและรายได้ของรัฐที่ค้างชำระ (ถ้ามี) และผลตอบแทนของเอกชนคู่สัญญาตามหลักเกณฑ์ที่คู่สัญญาตกลงกันอย่างเหมาะสม เป็นธรรม บทพื้นฐานการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน
ในกรณีที่รายได้ของเอกชนคู่สัญญาในปีใดไม่เพียงพอต่อการชำระรายได้ของรัฐตามลำดับที่ 5 และ 6 ให้นำรายได้ของรัฐในส่วนที่ไม่ได้รับชำระดังกล่าวมารวมเป็นรายได้ของรัฐที่ค้างชำระ และคำนวณต้นทุนค่าเสียโอกาสของรัฐ พร้อมกำหนดวิธีการชำระอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อไป
8.ขยายระยะเวลาโครงการได้หากรายได้ที่ส่งให้รัฐยังไม่ถึง 1.3 ล้านล้านบาท เมื่อครบระยะเวลาการให้บริการและบำรุงรักษาโครงการฯ แล้ว และ สกพอ. ยังไม่ได้รับชำระรายได้ของรัฐครบ 1.3 ล้านล้านบาท และ/หรือเอกชนยังไม่ได้รับผลตอบแทนการลงทุนในอัตราที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของโครงการฯ และภาระการลงทุนและการเงินเพิ่มเติมของเอกชน คู่สัญญาตกลงขยายระยะเวลาโครงการฯ เพื่อให้โครงการฯ สามารถชำระรายได้ของรัฐได้ครบ 1.3 ล้านล้านบาท และทำให้เอกชนได้รับผลตอบแทนการลงทุนในอัตราที่เหมาะสมดังกล่าว
9.ให้คู่สัญญาทบทวนขนาดของการพัฒนางานหลักฯ ในแต่ละระยะทุก ๆ 10 ปี โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่เริ่มนับระยะเวลาการให้บริการงานหลักฯ ระยะแรก เมื่อเริ่มต้นปีที่ระยะเวลาโครงการฯ เหลือ 10 ปีสุดท้าย หากปรากฏว่าปริมาณผู้โดยสารไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องมีการพัฒนางานหลักฯ ครบทุกระยะ
โดยไม่ใช่ความผิดของเอกชนคู่สัญญา ให้คู่สัญญาหารือการพัฒนางานหลักฯ ในระยะที่เหลือร่วมกัน และให้ สกพอ. กำหนดโดยคำนึงถึงปริมาณและอัตราการเติบโตของผู้โดยสาร ภาวะทางเศรษฐกิจ และความคุ้มค่าทางการเงินและการลงทุน โดยในกรณีที่ให้พัฒนางานหลักฯ ในระยะที่เหลือ จะมีการแก้ไขปัญหาความคุ้มค่าทางการเงินและการลงทุนและความเป็นไปได้ในการจัดหาแหล่งเงินทุนของโครงการฯ
และ 10.สกพอ. จัดให้มีมาตรการสนับสนุนโครงการฯ ทั้งในด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี สำหรับการประกอบกิจการการทำงาน และการอุปโภค บริโภค และในด้านการบินและโลจิสติกส์ ให้มีผลใช้บังคับและสามารถเริ่มใช้ประโยชน์ในมาตรการสนับสนุนทั้งหมดดังกล่าวได้ภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่เริ่มนับระยะเวลาโครงการฯ ทั้งนี้ จะมีการทบทวนพัฒนามาตรการสนับสนุนดังกล่าวทุก ๆ 10 ปี
ในกรณีที่โครงการฯ ไม่ได้รับการส่งเสริมในมาตรการสนับสนุนโครงการฯ ภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่เริ่มนับระยะเวลาโครงการฯ หรือไม่บรรลุเป้าหมายของเมืองการบินภาคตะวันออกตามที่จะกำหนดไว้เพื่อเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการท่องเที่ยว ธุรกิจ การบิน และโลจิสติกส์ของประเทศคู่สัญญาจะร่วมกันแก้ไขปัญหาเหตุผ่อนผันวิกฤติเศรษฐกิจและโควิด 19 ต่อไปตามวิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือหลายวิธีการ เพื่อแก้ไขผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
หากภาครัฐมีการดำเนินการส่งเสริมเขตพื้นที่อื่นที่อาจจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อฐานะทางการเงินของโครงการฯ และเอกชนคู่สัญญา สกพอ. และเอกชนคู่สัญญาจะร่วมกันดำเนินการทำให้โครงการฯ และเมืองการบินภาคตะวันออกได้รับการส่งเสริมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันกับเขตพื้นที่หรือเขตส่งเสริมอื่นนั้น เพื่อแก้ไขผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม