“ปลัดพาณิชย์” ชี้ อย่าไปกลัวกติกาการค้าโลกใหม่

“ปลัดพาณิชย์” ชี้ อย่าไปกลัวกติกาการค้าโลกใหม่

ปลัดพาณิชย์ เผย กติกาการค้าโลกใหม่ มีมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันปัญหา Climate change ชี้เป็นโอกาสผู้ประกอบการไทยพัฒนาสู่เทรนด์การค้าโลก

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา "Innovation Keeping the World นวัตกรรมรักษ์โลก ไทยอยู่จุดไหน?" หัวข้อ "กติกาการค้าโลกใหม่ ไทยรับมืออย่างไร " ว่า การค้าก็ต้องพูดถึงเรื่องของการส่งออก เพราะการส่งออกเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ล่าสุดตัวเลขส่งออกเดือนเม.ย.ติดลบ 7.6% มูลค่า  21,723.2 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ช่วง 4 เดือน (ม.ค.- เม.ย.) ปี 66 การส่งออกอยู่ที่ 92,003.3 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 5.2% แต่ก็สินค้าไทยที่ส่งออกได้ดีคือ สินค้าเกษตรขยายตัวถึง 23% โดยเฉพาะผลไม้ เช่น มังคุด ทุเรียน แต่สินค้าอุตสาหกรรมติดลบ 11.2 % แต่ยังเชื่อว่าในครึ่งปีหลังการส่งออกของไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ แม้จะมีปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

นอกเหนือจากปัจจัยลบที่กระทบต่อการส่งออกของไทยแล้ว ประเทศผู้นำเข้ากำหนดมาตรการการค้าออกมาเพื่อให้ผู้ส่งออกสินค้าต้องปฏิบัติเพราะเป็นกติกาที่เราต้องทำตามเนื่องจากเราเป็นประเทศผู้ส่งออก ที่ผ่านมามาตรการที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นเรื่องสุขอนามัย  คุณภาพมาตรฐาน  สวัสดิภาพสัตว์ มาตรฐานแรงงาน การค้ามนุษย์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวก็อาจมีเรื่องของการกีดกันทางการค้าแฝงมาด้วย ปัจจุบันมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมก็เริ่มออกมามากขึ้นในทุกๆ ปี ส่วนหนึ่งก็เพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change)

หากเจาะลึกลงไปในแต่ละประเทศที่ใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้า 10 อันดับแรก เช่น อียู สหรัฐ ออสเตรเลีย  เป็นต้น ทั้งนี้มาตรการที่ออกมาต้องไม่เลือกปฏิบัติด้วยการบังคับการผลิตสินค้าในประเทศ และต่างประเทศด้วย เพื่อประโยชน์ในเรื่อง climate change ไม่ใช่นำมาเพื่อนเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า และต้องคำนึงถึงบริบทของแต่ละประเทศด้วย ซึ่งหากมาตรการดังกล่าวไม่เป็นธรรมก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องเข้าไปชี้แจง

อย่างไรก็ตาม หากมองว่ามาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ซีแบม อาจมองได้ว่าเป็นการกีดกันทางการค้า แต่ในทางกลับกัน มองว่า เป็นโอกาสของไทย ซึ่งวัตถุประสงค์ของมาตรการที่ออกมาจะทำให้โลกเราดีขึ้นก็ต้องทำ แต่หากเราไม่ทำก็ไม่ต้องค้ากับเขา สุดท้ายเราต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว เพราะปัจจุบันการแข่งขันทางการค้าสูงมาก จำเป็นที่เราต้องทำเพราะเราเป็นประเทศผู้ส่งออก ซึ่งผู้ประกอบการอย่าได้ตกใจหรือกลัวกับมาตรการที่ออกมาเพราะกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมเข้าไปช่วยดูแล

กรณีมาตรการซีแบม ที่กำหนด 6 กลุ่มสินค้าที่ส่งออกไปยังกลุ่มอียู เริ่มบังคับ  1 ต.ค.66 โดยไทยส่งออกไปมูลค่า 425 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 8% ของการส่งสินค้าไปอียู ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดไปอียูมูลค่า 22,7000 ล้านดอลลาร์ ในอนาคตอาจเพิ่มกลุ่มสินค้าอื่นๆ อีกต้องติดตามต่อไป แต่ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยจะปรับตัวได้แม้จะทำให้เพิ่มต้นทุนการผลิต

นายกีรติ กล่าวว่า   ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่เฉพาะซีแบมเท่านั้น คือ 1.การปรับตัว โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการนำโมเดลBCG ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้า ซึ่งเข้ากับเทรนด์ของโลกและสอดคล้องกับกติกาการค้าของโลกใหม่

2.เตรียมพร้อมในด้านข้อมูล  เช่น เรื่องการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร และผลิตภัณฑ์  แหล่งที่มาของวัตถุดิบ การตรวจสอบย้อนกลับ เป็นต้น

3.ใช้ความพยายามเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นจุดขายเพื่อช่วยดึงดูดผู้บริโภค  พร้อมทั้งติดตามข่าวสาร กติกาการค้าใหม่ๆ

 “เราไม่รู้ว่าอีก 5 ปี 10 ปี จะมีมาตรการใดๆ ออกมาอีก ดังนั้นอย่าคิดว่ากติกาใหม่เป็นปัญหา และอุปสรรค แต่มันเป็นเกมที่เราต้องเล่น เพราะต้องค้าขายกับทั่วโลก แต่ขอให้มองเป็นโอกาส อย่าไปกลัว ที่จะเจอกติกาใหม่ เราต้องรู้ สุดท้ายเราก็ต้องอยู่ให้ได้ในเวทีโลก โดยเฉพาะกติกาด้านสิ่งแวดล้อมที่ออกมาเพื่อโลกเพราะหากเราไม่ทำเราก็จะเจอสภาพแวดล้อมที่ลำบาก “นายกีรติ กล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์