หมดเวลา ‘ประกันรายได้ 4 ปี’ สินค้าเกษตรรัฐบาลใหม่ส่งสัญญาณไม่เดินต่อ
เปิดผลสรุปโครงการประกันรายได้เกษตรกร 4 ปี จ่ายส่วนต่างให้เกษตรกรกว่า 218,158 ล้านบาท น้อยกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ 298,679 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกร รวม 8.13 ล้านครัวเรือน ดันราคาสินค้าเกษตรพุ่ง เกษตรกรทำใจ”ประกันรายได้"ไม่ได้ไปต่อ ลุ้นรัฐบาลใหม่คลอดโครงการช่วยเกษตรกร
“โครงการประกันรายได้เกษตรกร” คลอบคลุมพืช 5 ชนิดประกอบด้วย ข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลัง เกิดขึ้นจากพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยหมวกอีก 1 ใบคือหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้ผลักดันโครงการประกันรายได้ให้เป็นนโยบายรัฐบาลจนสำเร็จ
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตร ด้วยการจ่ายส่วนต่างของราคาประกันและราคาตลาด ประกาศใช้ปีแรก คือปี 2562 และดำเนินโครงการมาต่อเนื่องจนครบ 4 ปีตามวาระของรัฐบาล ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 63-66 รัฐบาลใช้งบประมาณในโครงการประกันรายได้ และจ่ายส่วนต่างให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 218,158 ล้านบาท น้อยกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ 298,679 ล้านบาท และช่วยเหลือให้ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ได้รวม 8.13 ล้านครัวเรือน
ทั้งนี้ แยกเป็นโครงการประกันรายได้ข้าว จ่ายส่วนต่าง 161,631 ล้านบาท น้อยกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ 179,553 ล้านบาท, มันสำปะหลัง ใช้งบ 12,689 ล้านบาท น้อยกว่างบที่ตั้งไว้ 29,890 ล้านบาท, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้งบ 2,287 ล้านบาท ต่ำกว่างบที่ตั้งไว้ 6,083 ล้านบาท, ปาล์มน้ำมัน ใช้งบ 7,221 ล้านบาท ต่ำกว่างบที่ตั้งไว้ 28,773 ล้านบาท ส่วนยางพาราคา ขณะนี้โครงการปีสุดท้ายยังไม่สิ้นสุด แต่ล่าสุดถึงวันที่ 24 พ.ค.66 ใช้งบรวมแล้ว 34,328 ล้านบาท
ภาพรวมโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร ถือว่าประสบความสำเร็จ และใช้งบประมาณต่ำกว่าที่ตั้งไว้มาก แม้ว่าช่วงเริ่มปีแรก มีการจ่ายส่วนต่างประกันให้สินค้าเกษตรครบทั้ง 5 ชนิด แต่ต่อมาในปีที่ 2-4 ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้จ่ายเงินส่วนต่างลดลง เช่น ปาล์มน้ำมัน ราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน จนไม่ต้องจ่ายส่วนแม้แต่บาทเดียวติดกันถึง 3 ปี
ขณะที่มันสำปะหลัง และข้าวโพด จ่ายส่วนต่างเพียง 2 ปีแรก หลังจากนั้นไม่ต้องจ่ายส่วนต่างราคาเลย เพราะราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน อย่างปีล่าสุด ข้าวเปลือก ราคาสูงกว่ารายได้ที่ประกันเกือบทุกตัว, มันสำปะหลัง เฉลี่ย 3.35-3.80 บาท/กก. สูงกว่าประกันรายได้ที่ 2.50 บาท/กก., ปาล์มน้ำมัน เฉลี่ย 5-5.50 บาท/กก. สูงกว่าประกันรายได้ที่ 4 บาท/กก. และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 12 บาท/กก. สูงกว่าประกันรายได้ที่ 8.50 บาท/กก.
“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ “ บอกว่า โครงการประกันรายได้ เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ไม่ได้ผูกพันกับรัฐบาลต่อไป ดังนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะทำนโยบายนี้ต่อหรือไม่ แต่จากการสำรวจ พบว่า ช่วง 4 ปีที่ทำโครงการนี้ เกษตรกรพึงพอใจ ที่สำคัญไม่มีการทุจริต ถ้ารัฐบาลใหม่ทำต่อได้ก็ดี เป็นประโยชน์กับเกษตรกรเห็นๆ อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีโครงการประกันรายได้ และสินค้าเกษตรอยู่ในช่วงราคาดี ก็ไม่มีปัญหาอะไร เกษตรกรยังขายผลผลิตได้ราคาสูง แต่ถ้าราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเมื่อไร มีปัญหาแน่ เพราะรายได้ของเกษตรกรจะลดลง และไม่มีการชดเชยส่วนต่างรายได้ให้เกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้ทางเดียวจากการขายสินค้าราคาต่ำ
ขณะที่กรมการค้าภายใน ที่มีหน้าที่ดูราคาสินค้าเกษตร โดยนายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า แม้ไม่มีโครงการประกันรายได้ แต่กรม มีมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยมาตรการหลัก ๆ เช่น ช่วยเหลือให้ “เกษตรกร” และ “กลุ่มเกษตรกร” เก็บผลผลิตในสต็อกและ “ชะลอการขาย” ในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก การ “ผลักดันส่งออก” ในช่วงที่ราคาตลาดโลกปรับเพิ่ม และการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ “เข้าไปรับซื้อ” ผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง เป็นต้น
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการถอดนโยบายประกันรายได้ก็จะเป็นช่วงที่ราคาสินค้าเกษตกรปรับสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม
โครงการประกันรายได้เกษตรกร ถือเป็น 1 ในนโยบายหลักของรัฐบาล”บิ๊กตู่” เมื่อรัฐบาลไม่ได้ไปต่อ ก็เชื่อว่า นโยบายนี้จะไม่ได้กลับมาอีก เท่ากับว่า”ปิดฉากไปพร้อมกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้งไม่ได้รับเลือกเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งต้องจับตาว่า รัฐบาลชุดใหม่จะมีนโยบายอะไรที่จะเข้ามาดูแลสินค้าเกษตร