3 การไฟฟ้า ร่วมโชว์นวัตกรรม ตอบโจทย์ผู้ใช้ไฟ ดันรายได้องค์กรโตยั่งยืน

3 การไฟฟ้า ร่วมโชว์นวัตกรรม ตอบโจทย์ผู้ใช้ไฟ ดันรายได้องค์กรโตยั่งยืน

ครั้งแรกในไทย! "กฟผ.-กฟน.-กฟภ." จัด "งานแสดงนวัตกรรม 3 การไฟฟ้า" ร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มนวัตกรรมโดยคนไทย ลดการนำเข้าเทคโนโลยีดิจิทัลจากต่างประเทศ ขับเคลื่อนองค์กรเติบโตยั่งยืน 

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านคร (กฟน.) กล่าวว่า กฟน.ให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมอย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนองค์กร ที่ผ่านมา กฟน. ได้จัดประกวดนวัตกรรมภายในองค์กร เพื่อเกิดแนวคิดตอบรับความต้องการของลูกค้า ส่งต่อไปสู่กระบวนการในการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งภายหลังจากกฟน.รับไฟฟ้ามาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้น กฟน. จะกลั่นกรองการจำหน่ายไปไปยังผู้ใช้ไฟกว่า 4 ล้านครัวเรือน โดยใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน ผ่านนวัตกรของกฟน.

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมเกิดขึ้นจาก อาทิ นโยบาย เทคโนโลยี ดิสรัปชัน หรือแม้แต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะพลังงานสีเขียว ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนเมืองหลวงที่องการใช้พลังงานที่เป็นสมาร์ทมากขึ้น และสิ่งสำคัญที่สุด คือการมีเมืองที่สวยงาม ทำให้ผู้ใช้ไฟในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ มีภาพลักษณ์ของเมืองมหานครแห่งอาเซียน 

"เราจะต้องทำในเรื่องของสายไฟใต้ดิน ที่ไม่ใช่จะตั้งใจให้เป็นพลังงานสะอาดอย่างเดียว แต่ต้องเตรียมพร้อมระบบไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า ความปลอดภัย ความเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ซึ่งตั้งเป้าระยะทาง 1,500 กิโลเมตร ของคนในเมืองหลวงจะได้เห็นสายลงใต้ดิน ส่วนระบบไฟฟ้าเป็นจะต้อง Smart Metro Grid แก้ปัญหาไฟดับแบบเรียลไทม์"

นายวิลาศ กล่าวว่า นวัตกรรมด้านพลังงานแห่งอนาคตนั้นหม้อแปลงไฟฟ้าจะต้องฉลาดมากขึ้น โดยระบบสามารถรองรับการเชื่อมต่อพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 40% ขณะที่ การชาร์จรถไฟฟ้า จะต้องไปชาร์จได้แบบอัตโนมัติ ส่วนการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาเรือนมองว่าหากระบบสมบูรณ์เทคโนโลยีดีขึ้น โซลาร์และแบตเตอรี่ก็จะถูกลง ระบบรองรับก็ต้องพัฒนามากขึ้น ซึ่งทั้ง 3 การไฟฟ้าก็เตรียมแผนรองรับนี่เช่นกัน

"ที่ผ่านมานวัตกรรมที่เข้ามาใช้ในประเทศไทยแทบจะไม่ใช่ของคนไทย ดังนั้น จะต้องนำผลงานอินโนเวชันในเวทีของเรามาพัฒนาต่อ ซึ่ง กฟน.มีศูนย์สร้างสรรนวัตกรรมแล้วมูลค่าทั้งหมดจะส่งมาสู่คนไทยทั้ง 3 การไฟฟ้าจะมีความร่วมมือต่อไปอีก และผู้ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป จะเข้ามาเห็นทิศทางของประเทศไทยว่าเราเตรียมอย่างไร ดังนั้นจึงอยากให้ความมั่นใจกับผู้ใช้ไฟฟ้าว่าไม่ว่าจะเป็นดิสรัปชันขนาดไหนเข้ามาเรารับได้หมด"

นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า กฟภ.มีแผนระยะสั้นถึงระยะยาว มองว่า Energy ที่ต้องการจะเป็น smart Energy solution ลูกค้าสามารถเลือกใช้พลังงานสะอาดได้ อาทิ การติดตั้งโซลาร์ หรือการใช้รถ EV ความเป็นสมาร์ทจะเกิดขึ้น หลังจากนั้นเป้าหมายระยะกลางและสุดท้ายคือความยั่งยืนขององค์กรโดย ปี 2580 การไม่สร้างภาระให้กับสังคมและโลก

อย่างไรก็ตาม ลูกค้ากฟภ.มีทั่วประเทศกว่า 22 ล้านครัวเรือน ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมต้องปรับเปลี่ยน เพราะด้วยสภาพพื้นที่ที่มีหลากหลาย ความต้องการก็หลากหลาย ดังนั้นแผนยุทธศาสตร์ต้องชัดเจน นวัตกรรมไม่เพียงแค่สิ่งประดิษฐ์ ถ้าต้องการพัฒนาลดต้นทุนหรือเพิ่มรายได้องค์กร เพราะที่ผ่านมาความคิดพนักงานทำเพื่อแก้ไขปัญหางานของตัวเอง 

"ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว การต้องแก้ปัญหาจึงเห็นสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น เกิดการแข่งขันระดับประเทศ และได้รางวัลมากมาย แต่สิ่งที่อยากจะต่อยอดคือเมื่อไหร่จะเป็น commercial ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของเรา ดังนั้น เราจึงตั้งศูนย์ innovation Hub สร้างสตาร์ทอัปในแต่ละเรื่อง โดยการพัฒนากระบวนการหรือธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับองค์กร" 

นอกจากนี้ การจะมุ่งสู่ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้ไฟต่อไปอาจจะสามารถเป็นผู้ขายได้ด้วย ซึ่งระบบจำหน่ายไฟฟ้าจึงต้องมั่นคง ความเป็นไฟฟ้าอัจฉริยะต้องรู้บทบาทหน้าที่ของเอง ตั้งแต่สถานีไฟฟ้า การจ่ายผ่านหม้อแปลง และดาวน์ไปสู่บ้าน อนาคตต้องสมาร์ททั้งหมด ซึ่งพลังงานหมุนเวียนมีเฉพาะบางช่วง จึงต้องมีแบตเตอรี่เพื่อเก็บไว้ใช้กลางคืน เพื่อสร้างความมั่นคงมั่นใจของผู้ใช้ไฟ กฟน.ได้นำร่องระบบกักเกบพลังงานที่จังหวัดเชียงใหม่ และเกาะสมุย เพื่อแก้ปัญหาระบบไฟฟ้าขัดข้อง ถือเป็นการใช้พลังงานในอนาคต 

สำหรับทิศทางความร่วมมือของ 3 การไฟฟ้า คือ 1. การบูรณาการ EV platform Application 2. ศึกษาพัฒนาโรงงานรีไซเคิลและกำจัดซากโซลาร์เซลและแบตเตอรี่ การตั้งโรงงานรีไซเคิลจะมีกฎหมายบังคับจะต้องใช้เวลาศึกษาพอสมควร 3. ศึกษาและพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการตลาดและจัดหาพลังงานสะอาดรองรับ RE100 รองรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีที่น่าจะเกิดในเมืองไทย ทั้ง 3 การไฟฟ้าได้มีการเตรียมพร้อมรองรับไว้

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 38 ปี ที่ทำงาน ถือเป็นครั้งแรกที่ 3 การไฟฟ้าร่วมจัดงาน ดังนั้น ในบทบาทของกฟผ. โดยช่วงแรก Energy Solution provider จากเดิมมีหน้าที่ผลิตไฟฟ้าแล้วก็ถือว่าจบกระบวนการ แต่เมื่อ solution เข้ามา การทำงานที่ใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น จะทราบว่าลูกค้าต้องการอะไร และทำทุกอย่างให้เป็น Solution 

นอกจากนี้ เมื่อพลังงานสะอาดกำลังเป็นที่ต้องการเพราะเป็นเทรนด์ ทั่วโลก ประเทศไทยถือว่าอยู่ตรงกลางมีระบบสายส่ง ดังนั้น ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีนวัตกรรม กฟผ. มีแผนยุทธศาสตร์นวัตกรรมปี 2560-2570 โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกทั้งไทยและต่างประเทศ

"นวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาจากผู้เชี่ยวชาญของกฟผ.ที่เจอกับปัญหา และเห็นช่องว่างของลูกค้าที่จะมาเติมเต็มได้ เกิดเป็นค่านิยมที่ฝังใน DNA ของพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมามีบางบริษัทมาติดต่อขอใช้พลังงานสีเขียว 24 ชั่วโมง 7 วัน กฟผ. ได้ออกใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อไฟว่าพลังงานที่ใช้อยู่เป็นพลังงานสีเขียว ถือเป็นสิ่งที่ต้องใช้แพลตฟอร์ม ในการดำเนินการ"

นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงาน ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการความยั่งยืน ที่โลกกำลังมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ประเทศไทยประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 ดังนั้น นวัตกรรมจึงสำคัญเพื่อขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียน จากต้นทุนเริ่มต่ำลง ประสิทธิภาพสูงขึ้น จะสนับสนุนประชาชนให้ติดตั้งไฟจากโซลาร์บนหลังคาเรือนได้มากขึ้น ถือเป็นเรื่องดี ดังนั้น 3 การไฟฟ้าต้องเปลี่ยนแปลงรับการเติบโต นอกจากนี้ อนาคตการเติบโตของรถ EV จะก้าวกระโดด ดังนั้น การใช้ไฟพร้อมกันในเวลากลางคืนจะเพิ่มมากขึ้น ทั้ง 3 การไฟฟ้าจะต้องเตรียมการรองรับ

"ทั้ง 3 การไฟฟ้าได้ร่วมกับผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถ EV โดย Roaming การใช้แอพพลิเคชั่น ซึ่งลูกค้าจะสามารถมองเห็นสถานีของทุกราย และอนาคตจะสามารถจะจ่ายเงินผ่านแอปไหนก็ได้ จะคล้ายกับการใช้ตู้ atm และสุดท้ายจะทำแพลตฟอร์มข้อมูลเชื่อมโยง EV กับศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานแห่งชาติ เพื่อเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าของประเทศด้วย"