ทตอ.เก็บอากรเอดีเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนต่ออีก 5ปี
คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดพลิกมติ สั่งเก็บอากรเอดีเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน จากบราซิล อิหร่าน ตุรกี ต่ออีก 5 ปีจนถึงปี 71 อ้างไม่เก็บอาจทำให้การทุ่มตลาดกลับมาได้อีก จากก่อนหน้านี้ ออกมีมติให้เลิกเก็บแล้ว แต่กลุ่มผู้ผลิตเหล็กในประเทศรุมค้านหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.66 ราชกิจจานุเบกษาลงประกาศคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) เรื่อง ผลการพิจารณาทบทวนความจำเป็นในการบังคับอากรตอบโต้การทุ่มตลาดต่อไป ตามมาตรา 57 พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าต่างประเทศพ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน จากบราซิล อิหร่าน และตุรกี ซึ่งหลังจากประกาศแล้ว มีผลให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) เหล็กดังกล่าว ความหนา 0.9-100 มิลลิเมตร (มม.) และความกว้าง 100-3,200 มม. รวม 126 พิกัดภาษีศุลกากร จาก 3 ประเทศในอัตราเดิม เป็นเวลา 5 ปีจนถึงเดือนมิ.ย.71 โดยสินค้าจากบราซิล ถูกเก็บอากรเอดี 34.40% ของราคาซี ไอ เอฟ (ราคาสินค้ารวมค่าประกันและค่าขนส่ง) ส่วนอิหร่าน 7.25-38.27% และตุรกี 6.88-38.23%
สำหรับประกาศของทตอ.ครั้งนี้ เป็นการกลับมติจากก่อนหน้านี้ ทตอ.ได้พิจารณาความจำเป็นของการเก็บอากรเอดีสินค้าดังกล่าวจาก 3 ประเทศต่อหรือไม่ หลังจากเก็บมาแล้วตั้งแต่ปี 59-64 และมีคำวินิจฉัยเบื้องต้น ให้ยุติเก็บอากร เพราะเห็นว่า ในปี 64 การนำเข้าเหล็กดังกล่าวจาก 3 ประเทศลดลง และไม่พบการทุ่มตลาดในไทย พร้อมส่งคำวินิจฉัยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความเห็น
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ทั้งสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คัดค้านคำวินิจฉัย เพราะยุติเก็บอากรเอดี อาจทำให้ 3 ประเทศกลับมาทุ่มตลาดไทยได้อีก (ขายสินค้าในประเทศผู้ผลิตในราคาต่ำกว่าที่ขายในไทย) โดยเฉพาะบราซิล และตุรกีที่มีเป้าหมายผลิตเหล็กเพื่อส่งออก และทำให้ความเสียหายของผู้ผลิตเหล็กในประเทศกลับมา หรือฟื้นคืนได้อีก
ขณะที่กลุ่มผู้ใช้ อ้างว่า ได้รับผลกระทบจากการต้องเสียภาษีเอดีสำหรับกรนำเข้าเหล็กจาก 3 ประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้น และนำมาสู่การปรับขึ้นราคาสินค้า จนผู้บริโภคได้รับผลกระทบ หรือบางราย สู้ต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว ก็ไม่ได้นำเข้า และกระทบต่อยอดขาย โดยเหล็กดังกล่าวใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากทตอ.นำความเห็นทั้งหมดมาพิจารณาใหม่ ได้ออกคำวินิจฉัยใหม่เมื่อวันที่ 8 พ.ค.66 ว่า การยุติเรียกเก็บอากรเอดีจะทำให้มีการทุ่มตลาด และความเสียหายต่อไป หรือฟื้นคืนมาได้อีก จึงให้เรียกเก็บอากรเอดีอัตราเดิมต่ออีก 5 ปี แต่ให้ยกเว้นกับ 1.ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบพาณิชยกรรม ที่นำเข้าสินค้าไปในเขตประกอบการเสรี เพื่อใช้ผลิตหรือเพื่อส่งออก ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2.ผู้ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ที่นำเข้ามาผลิตเพื่อการส่งออก และ3.การนำเข้ามาผลิตเพื่อการส่งออกภายใต้กฎหมายว่าด้วยศุลกากร
ส่วนเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีนและมาเลเซีย ที่ไทยเก็บอากรเอดีมาตั้งแต่ปี 54-59 และต่ออายุเก็บอีกครั้งในปี 59-64 โดยสินค้าจากมาเลเซีย เก็บอากร 23.57-42.51% และจีน เก็บที่ 30.91% และกรมการค้าต่างประเทศ ได้พิจารณาทบทวนความจำเป็นของการเก็บอากรเอดีต่อหรือไม่มาตั้งแต่ปี 65 ตามที่ผู้ผลิตเหล็กในประเทศยื่นเรื่องขอให้ทบทวนนั้น จนถึงขณะนี้ยังพิจารณาไม่เสร็จ แต่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กในไทยต้องการให้เก็บอากรเอดีต่อไปอีก เพราะหากยกเลิกเก็บอากรเอดี อาจทำให้เกิดการทุ่มตลาด และความเสียหายฟื้นคืนมาได้อีก ที่สำคัญปัจจุบัน การใช้เหล็กในประเทศของจีนชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้จีนส่งออกเหล็กราคาต่ำไปทั่วโลก