อคส. ยื่น ป.ป.ช. เอาผิดรักษาการ.ผอ.อคส.เอื้อประโยชน์ลานมัน
อคส. ยื่น ป.ป.ช. เมื่อเดือนมี.ค.66 ตรวจสอบและเอาผิด “อดีตรักษาการ ผอ.อคส.” ของมาคืนจนครบ แต่เป็นมันราคาถูก ทำราคาหายไปกว่า 50 เท่าจากราคาจำนำ และเอามาประมูลหายได้เงินเข้าหลวงแค่ 6 ล้านบาท จากความเสียหายรวมค่าปรับกว่า 1 พันล้านบาท
นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า เมื่อเดือนมี.ค.66 อคส.ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สืบสวนสอบสวน กรณีที่อดีตรักษาการ ผู้อำนวยการอคส. ในช่วงปี 63 ออกหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์ทางการชดใช้ความเสียหาย และทางคดีให้ผู้ประกอบการลานมันสำปะหลัง ที่มีคดียักยอกมันในโครงการรับจำนำมัน ปี 51/52, ปี 54/55 และปี 55/56 รวมกว่า 30,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าที่อคส.เสียหายเฉพาะมัน 30,000 ตันกว่า 210 ล้านบาท หากรวมความเสียหายอื่นๆ และค่าปรับแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท
“การออกหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์ให้ลานมันนี้ คณะกรรมการสืบสวนของ อคส.ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า มีเหตุอันควรสงสัยว่า อดีตรักษาการผู้อำนวยการรายนี้ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทำให้รัฐเสียหาย เพราะได้กำหนดหลักเกณฑ์โดยมิชอบ เป็นการเปิดโอกาสให้ลานมัน ที่ยักยอกมันออกกจากคลังที่ฝากเก็บนั้น นำมันราคาถูก ตันละไม่เกิน 200 บาท มาคืนแทนมันที่รับจำนำมาตันละกว่า 7,000 บาท ทำให้ราคาที่รัฐได้รับการชดใช้น้อยลงกว่า 50 เท่าจากราคาเดิม”
นายเกรียงศักดิ์ นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าว ยังเป็นเหตุให้ลานมันนำมาอ้างเป็นประเด็นต่อสู้ทางคดีกับ อคส.และนำมาร้องเรียนผู้บริหารปัจจุบันว่า ลานมันไม่ได้ยักยอกมันออกจากคลังเก็บ และต่อสู้คดีกับอคส. ซึ่งหาก อคส.แพ้คดี นอกจากจะไม่สามารถเรียกให้ผู้ยักยอก ชดใช้ความเสียหายได้แล้ว อคส.อาจต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่างๆ รวมทั้งค่าฝากเก็บระหว่างที่มันหายไปประมาณ 5 ปีให้กับผู้ยักยอกด้วย
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 63 อดีตรักษาผู้อำนวยการอคส.รายนี้ ได้พยายามช่วยเหลือลานมันที่อคส.ฝากเก็บมันจากโครงการรับจำนำ และทำมันหายไปรวม 30,000 ตัน เพื่อให้ลานมันนำมันมาคืนได้ครบตามจำนวนที่หายไป จากก่อนหน้านี้ เมื่อปี 57 คณะกรรมการสายตรวจเฉพาะกิจ ประกอบด้วย อคส. กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ และมีเจ้าของคลัง ได้ตรวจนับสินค้าในคลัง และพบว่า มันหายไปจากคลังเก็บ 12 แห่ง รวม 30,000 ตัน ความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท ทำให้อคส.ต้องฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง และอาญา รวมถึงไม่จ่ายค่าฝากเก็บให้ลานมันด้วยรวมเวลาประมาณ 5 ปี
สำหรับการออกหลักเกณฑ์ช่วยเหลือลานมันในปี 63 นั้น ส่งผลให้ผู้ที่ยักยอกมันออกจากคลังเก็บ นำมาคืนในภายหลังจนครบทั้ง 12 คลังเพื่อยุติคดีอาญา แต่เป็นการนำมันราคาถูกตันละไม่เกิน 200 บาทมาคืน ขณะที่มันในคลังเก็บ รับจำนำมาตันละประมาณ 7,000 บาท ทำให้มูลค่ามันของรัฐน้อยลงจากราคารับจำนำกว่า 50 เท่า ซึ่งคณะกรรมการสืบสวนของอคส.เห็นว่า การนำมันราคาถูกมาคืนแทนนั้น อาจนำมาซึ่งการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และการถอนคดี ซึ่งสอดคล้องกับ การตรวจสอบของคณะกรรมการสืบสวนของอคส. ที่พบว่า เจ้าของคลัง 6 แห่งจาก 12 แห่ง ยอมรับว่าเอามันออกไปและนำมาคืนจริง และอคส.ในยุคอดีตรักษาการผู้อำนวยการได้ถอนคำร้องทุกข์ไป 5 เรื่อง เหลือ 1 เรื่อง ส่วนมันที่นำมาคืนครบนั้น ภายหลังอคส.นำมาเปิดประมูลขายได้ไม่ถึง 6 ล้านบาท
เมื่อ อคส.พบความผิดปกติ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ซึ่งผลการสืบสวน พบว่า การกระทำของอดีตผู้บริหารดังกล่าว มีเหตุควรสงสัยว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และทำให้รัฐเสียหาย อีกทั้งพฤติการณ์ดังกล่าวหากไม่มีการดำเนินการตามกฎหมาย อาจทำให้เสียหายต่อรูปคดี ทั้งทางแพ่ง และอาญา ที่อคส.ได้ดำเนินคดีไปแล้วกับผู้ยักยอก อคส.จึงได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริตต่อไป