'พีทีจี' ชู ระบบจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ หนุนบริการลูกค้าตรงความต้องการ
"พีทีจี" ระบุ สินค้าทั่วไปไม่แตกต่าง ชูการใช้ระบบข้อมูลตอบโจทย์ความต้องการ - สร้างความยั่งยืนลูกค้าสำคัญ หากล่าช้า ลูกค้าจะเป็นผู้เลือกเอง
นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กล่าวบรรยายในเวทีสัมมนา "CxO Coffee Club Series Digital Empowerment - Turning Challenges into Opportunities" จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ และ บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หัวข้อ Digital Next 2025: Embracing Change and Challenges with Cloud Strategy ว่า ธุรกิจน้ำมันกำลังจะเปลี่ยนไปสู่พลังงานที่สะอาดขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทจะไม่เน้นว่าธุรกิจจะเป็นสถานีบริการน้ำมัน แต่มองว่าเป็นบริการ ดังนั้น ธุรกิจรีเทลจึงต้องปรับตัว โดยในแง่ของสถานีจะเป็นจุดบริการผ่านความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนสมาชิกเกือบ 20 ล้านราย จำนวนสถานีบริการน้ำมันที่ 2,200 สถานีทั่วประเทศ ตัวธุรกิจเองมองว่าอะไรก็ตามที่จะสามารถวางในจุดที่ลูกค้าจะมาใช้บริการได้จึงนำเอาฐานข้อมูลสมาชิกมาตอบสนองความต้องการลูกค้า ผ่านการใช้เทคโนโลยีมาช่วย
"ก่อนจะส่งมอบอะไรออกไป ต้องหาข้อมูลตามความต้องการลูกค้าเป็นหลัก ประสานชุมชนในจุดนั้น ซึ่งหากมองในอนาคตโดย 3 ปีต่อจากนี้ โอกาสที่เข้ามาต้องมองจากลูกค้า เรามองว่าเราสามารถดูแลลูกค้า รถที่เข้ามาทานอาหารคือ น้ำมันหรือไฟฟ้า หรือทำธุระ หรือดิจิทัล จึงต้องเปลี่ยนไปตามสมัย ดังนั้น ข้อมูลของแต่ละช่วงสำคัญ"
อย่างไรก็ตาม การที่สาขากระจายทั่วประเทศ แน่นอนว่าต้องเกิดความยุ่งยาก เพราะถ้าระบบเกิดล้มเหลวก็จบ ซึ่งพีทีจี มีแอปพลิเคชันเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับทั้งกลุ่มพีทีจีและลูกค้า อาทิ ระบบสะสมแต้ม หากระบบดาวน์อาจแก้ไขไม่ทันจะมีปัญหาแน่นอน โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ หรือลองวีคเอ็นที่มีการเดินทางสูง ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีบนระบบคลาวด์จึงสำคัญ ซึ่งจะสามารถประมวลผลดาต้าโดยไม่ต้องลงทุน ซึ่งปัจจุบันคลาวด์แต่ละรายมีมาตรฐาน
ทั้งนี้ กลุ่มพีทีจีเริ่มปรับระบบเซอร์วิสลูกค้าโดยใช้คลาวด์ 100% แล้ว ทั้งระบบบริหารจัดการลูกค้า ระบบสะสมแต้มและชำระเงินภายใน รวมถึงระบบการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นหลัก เครื่องมือที่อยู่บนคลาวด์ช่วยวิเคราะห์ได้เร็ว มีความเสถียร ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา อาจมีบ้างบางค่ายมีปัญหา บริษัทจึงกระจายไปใช้หลายพาร์ทเนอร์ โดยเฉพาะที่ต้องเกี่ยวข้องกับเงินลูกค้าที่จะให้ระบบล่มไม่ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญของคลาวด์คือ สร้างความสะดวก เสถียร ต้นทุนที่ต้องแข่งขันได้ ไม่ว่าจะขนาดเล็ก-กลางต้องเข้าถึงได้ง่าย
"การจะปรับเปลี่ยนโปรแกรม จะต้องมีไอทีเข้ามาช่วย เชื่อว่าไม่นานจะมีการปรับเปลี่ยน อนาคตองค์กรต่างๆ จะใช้คลาวด์มากขึ้นจากปัจจุบันที่ยังน้อย เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทำงานได้ดีมากขึ้น ถือเป็นแบ็คออฟฟิศ อนาคตต้องปรับระบบซัพพอร์ตทั้งหลาย โดยนำเอาเอไอมาช่วย ลดกำลังคน"
นายรังสรรค์ กล่าวว่า กลุ่มพีทีจี ได้จัดเทรนนิ่งและคัดเลือกพนักงานที่มีความรู้ไปข้างหน้าในเรื่องของดาต้าและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล โดยการปรับเปลี่ยนความคิดคนที่อยู่ในองค์กรมากขึ้น ซึ่งคนเก่านั้นมีความแข็งแกร่งในความรู้ด้านธุรกิจอยู่แล้ว เมื่อเพิ่มเติมเทคโนโลยีเข้าไปจะทำให้เรียนรู้เร็ว ส่วนน้องใหม่ ๆ อาจขาดความรู้ธุรกิจ จึงต้องนำทั้ง 2 เจนมาเติมเต็มกันและกัน ซึ่งการเทรนนิ่งจะอาศัยพาร์ทเนอร์ โดยเฉพาะการนำเครื่องมือมาพัฒนา รวมถึงเปิดเวทีการแสดงให้เด็กรุ่นใหม่ได้แข่งขัน เพราะคนกลุ่มนี้มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีอยู่แล้วเพียงแค่มาฟิชชิ่งประยุคใช้ในธุรกิจพีทีจี
สำหรับการรักษาพนังงานฝีมือเยี่ยมนั้น จริง ๆ แล้วคนกลุ่มนี้ค่าตัวสูงอยู่แล้ว หากแข่งในเรื่องของค่าตัวตลอดไปคงไม่ได้ ส่วนตัวมองว่าคนกลุ่มนี้ต้องการโชว์ศักยภาพ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ พฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนทุกวัน หากพยายามประยุกต์ใช้ทุกวันจะเพิ่มมูลค่าเพิ่มในตัวเอง กลุ่มพีทีจีไม่บังคับเรื่องเวลาทำงาน เพราะคนกลุ่มนี้จัดสรรเวลาได้เอง เพียงแค่บอกโจทย์ไปว่าอยากเห็นอะไร ดังนั้น การให้ความสบายใจ ไม่บังคับจึงสำคัญ และเป็นตัวช่วยในการดึงพนักงานกลุ่มนี้ไว้
"งานที่ซัพพอร์ตทั้งหมดจะเป็นงานประจำ ที่เข้ามามีข้อมูลมหาศาล การถามตอบจะมีคำถามที่ใช่แตกต่างกันไป ซึ่งเอไอเข้ามาช่วย ซึ่งงานของเราจะต้องสัมผัสกับลูกค้าเยอะ ศักยภาพคนธรรมดาบางงานเกินลิมิตและมีเรื่องอารมณ์มาเกี่ยวข้อง อาจจะส่งผลกระทบได้ จึงควรเอาระบบคลาวด์เข้ามาช่วยจะเพิ่ม หรือลดสเกลได้ง่าย เพราะมีความรวดเร็ว เสถียรภาพ สะดวก ต้องอย่าลืมว่าทุกอย่างอยู่บนมือลูกค้า หากไม่สามารถตอบสนองได้เขาก็เปลี่ยน อนาคตนสินค้าไม่แต่กต่าง แต่ความเร็วความสะดวกจะให้เซอรวิสลูกค้า และอีกสิ่งสำคัญคือความยั่งยืน"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์