IMD ขยับ 'ขีดแข่งขันไทย' ดีขึ้น 3 อันด้บ สศช.แนะยกเครื่องศึกษา - ลดเหลื่อมล้ำ
“รัฐบาล” ปลื้ม IMD จัดอันดับขีดสามารถแข่งขันไทยดีขึ้น 3 อันดับจากปีก่อน อยู่ที่ 30 จาก 64 ประเทศทั่วโลก โดยสมรรถนะทางเศรษฐกิจขยับดีขึ้น18 อันดับ ดีขึ้นในรอบ 3 ปี สศช.ชี้อันดับที่ดีขึ้นช่วยดึงการลงทุนและความเชื่อมั่น แนะเร่งพัฒนาการศึกษา วิทยาศาสตร์ สปีดหนีประเทศคู่แข่ง
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เปิดเผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2566 โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ประจำปี 2566 และผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยในภาพดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 33 มาอยู่ที่อันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก
ภาพรวมอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยปี 2566 มีการปรับอันดับดีขึ้นในหลายตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ 1.สมรรถนะทางเศรษฐกิจ อยู่ที่อันดับ 16 ขัยบดีขึ้นถึง 18 อันดับ 2.ประสิทธิภาพภาครัฐ อยู่ที่อันดับ 24 ดีขึ้น 7 อันดับ 3.ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ อยู่ที่อันดับ 23 ดีขึ้น 7 อันดับ และ โครงสร้างพื้นฐาน อยู่ที่อันดับ 43 ดีขึ้น 1 อันดับ
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบขีดความสามารถของไทยกับประเทศอื่นในอาเซียนพบว่าไทยอยู่อันดับ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่อยู่อันดับดีกว่าหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนิเซีย และเวียดนาม
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าได้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทราบรายงานการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันที่ IMD ได้ประกาศล่าสุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้นำผลการจัดอันดังกล่าวไปแจ้งให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ
ทั้งนี้การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยปี 2566 ส่วนที่อันดับขยับดีขึ้นมาก คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจดีขึ้นถึง 18 อันดับ เนื่องจากปัจจัยความมีเสถียรภาพทางการคลัง (Fiscal stability) การลงทุนระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ ทุกส่วนปรับตัวดีขึ้นทั้งหมด ทำให้เกิดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น
ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองหน่วยงานที่วัดขีดความสามารถในการแข่งขันจะวัดว่ารัฐบาลมีสเถียรภาพหรือไม่ เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วการจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วหรือไม่ แต่ไม่ได้ดูว่าการเมืองในประเทศไหนเป็นขั้วไหนการเมืองใด
“ครม.ได้คุยกันในเรื่องอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันว่าอะไรที่ทำได้ดีแล้วก็ต้องรักษาอันดับเอาไว้ ส่วนอะไรที่ยังไม่ดีประเทศก็ต้องมีการทำให้ดีขึ้นในทุกตัวชี้วัด เพราะว่าการจัดอันดับในส่วนนี้เป็นการจัดอันดับโดยเปรียบเทียบหากเราทำไม่ดีก็จะทำให้คู่แข่งขยับอันดับขึ้นมาใกล้เราหรือแซงไทยไปได้ ไทยเราต้องทำให้ดีขึ้น”
ส่วนปัจจัยที่ฉุดขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย คือ การศึกษาและสิ่งแวดล้อม โดยในเรื่องของอันดับการศึกษาของไทยอยู่ที่ 54 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงจากปีที่แล้ว 1 อันดับ
ส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Infrastructure) อยู่ที่ 38 ลดลง 1 อันดับจากปีก่อนก็ต้องมีการแก้ปัญหาให้ปรับตัวดีขึ้น ส่วนเรื่องของ สุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Health and Environment) ที่ลดลง 2 อันดับ ซึ่งมาจากผลกระทบฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องสุขภาพและเรื่องเศรษฐกิจ
ส่วนการกระจายรายได้ที่ต้องมีการปรับปรุง ขณะที่เรื่องของตัวชี้วัดเรื่องของนโยบายภาษี (Tax policy) ที่ต้องมีการปรับปรุงเรื่องการขยายฐานภาษีให้มากขึ้น
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า อันดับขีดความสามารถของไทยที่ IMD ประกาศมาสะท้อนการทำงานของรัฐบาล ทั้งในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ การลงทุนที่รัฐบาลทำงานต่อเนื่องมาโดยตลอด ตัวเลขที่ออกมาจึงสะท้อนชัดเจนโดยเฉพาะในเรื่องของอันดับสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นถึง 18 อันดับซึ่งเป็นการทำงานในปีที่ผ่านมา
นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี รับทราบผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในรายงานของ IMD ที่ได้รับการจัดอันดับดีขึ้น 3 อันดับ
โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกส่วนที่ช่วยให้อันดับของไทยดีขึ้น โดยเฉพาะสมรรถนะทางเศรษฐกิจขยับขึ้นถึง 18 อันดับ ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากปัจจัยย่อยทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจในประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การลงทุน การจ้างงาน และระดับราคามีอันดับดีขึ้น จึงส่งผลให้อันดับสมรรถนะทางเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ