ทุนไทยดิ้นหนี "เมียนมา" ผวาสหรัฐฯ จ่อคว่ำบาตรรอบใหม่

ทุนไทยดิ้นหนี  "เมียนมา" ผวาสหรัฐฯ จ่อคว่ำบาตรรอบใหม่

ทุนไทยจับตา “สหรัฐ” เพิ่มมาตรการคว่ำบาตร 2 แบงก์ของเมียนมา ทำให้บริษัทต่างชาติทำธุรกรรมการเงินยากขึ้น ห่วงลามถึงธนาคารไทย บริษัทขนาดกลาง-เล็กแห่ขนเงินออก บริษัทใหญ่ยังปักหลักต่อ แต่พับแผนลงทุนใหม่ “ทูตพาณิชย์” เผย ธนาคารใหญ่ของเมียนมา 3 แห่ง ยังไม่มีรายชื่อคว่ำบาตร

Key Points

  • สหรัฐเตรียมออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับธนาคารของเมียนมา 2 แห่ง ภายในสัปดาห์นี้
  • การคว่ำบาตรเพิ่มเติมจะทำให้บริษัทต่างชาติทำธุกรรมการเงินยากลำบากมากขึ้น
  • บริษัทไทยในเมียนมาได้วางแผนรับมือ โดยบริษัทขนาดกลางและเล็กเริ่มโอนเงินออกตั้งแต่รัฐประหาร
  • มีความกังวลว่าถ้าสหรัฐยกระดับการคว่ำบาตรอีกอาจครอบคลุมถึงธนาคารพาณิชย์ต่างชาติรวมถึงธนาคารไทย

สหรัฐกำลังที่จะยกระดับการคว่ำบาตรเมียนมาขึ้น หลังจากที่ผ่านมาหลายชาติออกมาตรการคว่ำบาตรมาต่อเนื่องนับตั้งแต่มีรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 โดยล่าสุดในเดือน มิ.ย.2566 สหรัฐมีแผนที่จะคว่ำบาตรธนาคารการค้าต่างประเทศเมียนมา (Myanmar Foreign Trade Bank) และธนาคารลงทุนและพาณิชย์เมียนมา (Myanmar Investment and Commercial Bank) 

การคว่ำบาตรดังกล่าวเป็นการจำกัดการเข้าถึงการเงินของรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลลดความสามารถในการปราบปรามประชาชนและทำสงครามในประเทศ

ในช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในเมียนมาได้มีการปรับแผนธุรกิจภายหลังการเกิดรัฐประหาร เนื่องจากการทำธุรกิจมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ในช่วงเปิดประเทศหลังการปฏิรูปประเทศเมื่อปี 2551 ได้มีการแก้ไขกฎหมายการลงทุนและทำให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปเมียนมาจำนวนมาก

ที่ผ่านมาบริษัทไทยทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีเข้าไปลงทุนในเมียนมา โดยรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุน เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.เข้าไปลงทุนสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ , SCG ลงทุนธุรกิจขายวัสดุก่อสร้างและโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ , เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ลงทุนธุรกิจอาหาร

ทุนไทยดิ้นหนี  \"เมียนมา\" ผวาสหรัฐฯ จ่อคว่ำบาตรรอบใหม่

นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ในเครือบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การที่สหรัฐจะออกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมารอบใหม่ โดยพุ่งเป้าที่ Myanmar Foreign Trade Bank และ Myanmar Investment and Commercial Bank ซึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้เพราะสหรัฐพยายามยกระดับการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมา จากเดิมที่คว่ำบาตรธนาคารกลางเมียนมา ซึ่งดำเนินการตามหลักการคว่ำบาตรทั่วไปที่ธนาคารกลางชาติจะถูกคว่ำบาตรก่อนเพื่อเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่ใช้กดดันก่อนยกระดับคว่ำบาตรเพิ่ม

ทั้งนี้ หากมีการแทรกแซงธนาคาร 2 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนของเมียนมา จะมีเป้าหมายให้การทำธุรกรรมของคู่ค้าทำได้ยากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการนำเข้า การส่งออกและการลงทุน โดยบริษัทต่างชาติจะทำธุกรรมทางตรงและทางอ้อมยากขึ้น โดยจะกระทบเอกชนไทยที่นำเข้า ส่งออก และลงทุน ซึ่งมีหลายประเทศเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาจะได้รับผลกระทบ เช่น สิงคโปร์ จีน ไทย อินเดีย

ห่วงธนาคารไทยโดนด้วย

นอกจากนี้ ต้องจับตาว่าการเข้ามาแทรกแซงภาคธนาคารครั้งนี้ จะนำไปสู่ผลกระทบถึงธนาคารไทยที่เข้าไปตั้งสำนักงานในเมียนมา เพื่อรองรับการทำธุกรรมของบริษัทไทยหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายธนาคารของไทยเปิดสาขาหรือได้ใบอนุญาตทำธุรกรรมการเงินในเมียนมา

“การแทรกแซงธนาคารที่เกี่ยวกับการค้าต่างประเทศและการลงทุน เป็นการยกระดับการคว่ำบาตรจากเดิมที่คว่ำบาตรธนาคารกลางอย่าเดียว เรียกว่าปิดทุกรูหายใจของรัฐบาลเมียนมาให้ภายนอกทำธุรกรรมกับเมียนมายากมากขึ้น" 

รวมทั้งภาคธนาคารถือเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจโดยตรง โดยหากภาคการเงินถูกคว่ำบาตรหมดอาจส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย การกำหนดสัดส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ การกำหนดสัดส่วนการใช้เงินสกุลในท้องถิ่นในประเทศ หรือการกำหนดให้ใช้สกุลเงินต่างประเทศในการทำธุรกรรม

สำหรับกรณีที่นายดอน ปรมัติวินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จัดประชุมประเทศในอาเซียนและนอกอาเซียนเพื่อหารือประเด็นเมียนมา ซึ่งเข้าใจถึงความเร่งด่วนที่รัฐบาลปัจจุบันที่ต้องเร่งหาทางแก้ไข เพราะมีประเด็นที่ไทยได้รับผลกระทบมาก โดเฉพาะการสู้รบชายแดน การอพยพข้ามชายแดนของชนกลุ่มน้อย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องที่รัฐบาลปัจจุบันต้องแก้ปัญหา ขณะที่รัฐบาลต่อไปก็ต้องเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน

3 ธนาคารใหญ่ยังไม่มีชื่อคว่ำบาตร

นายธนวุฒิ นัยโกวิท ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา กล่าวว่า ถึงแม้ว่าสหรัฐจะมีแผนคว่ำบาตรธนาคารเมียนมา 2 แห่งแต่ธนาคารใหญ่ในเมียนมายังเปิดทำธุรกรรมทางการเงินเป็นปกติ เช่น ธนาคาร KBZ ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่สุดของเมียนมา รวมถึงธนาคาร CB และธนาคาร AYA ซึ่ง 3 ธนาคารใหญ่นี้ยังไม่ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐ และยังไม่กระทบจากมาตรการแซงชั่นของสหรัฐนัก แต่ถือเป็นสัญญาณเตือนเท่านั้นไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ในตลาดการเงิน เพียงแต่เป็นแรงกดดันต่อธนาคารที่สหรัฐมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้านการเงินของรัฐบาลทหารเมียนมา

การคว่ำบาตรธนาคารไม่ใช่รอบแรก เกิดมาตั้งแต่สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งนักธุรกิจ นักลงทุนไทย และต่างประเทศทราบถึงข้อจำกัดด้านธุรกรรมการเงินและความเสี่ยง จึงมีความพร้อมและปรับตัวได้พอสมควร”นายธนวุฒิ กล่าว

นอกจากนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เงินจ๊าดอ่อนค่าลง 3-5 % แต่ธนาคารกลางเมียนมาประกาศปรับอัตราอ้างอิงระหว่างเงินจ๊าดและเงินดอลลาร์ เพื่อไม่ให้มีการลอยตัวค่าเงิน โดยยึดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 2,100 จ๊าดต่อ 1 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นอัตราสำหรับการทำธุรกรรมการเงิน อย่างไรก็ตามเมียนมาจะมีตลาดการเงินรอง โดยล่าสุดอัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าดต่อดอลลาร์ขยับขึ้นเป็น 2,960 จ๊าดต่อ 1 ดอลลาร์ เพิ่มจากเดิม 2,800 ต่อดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 3-5 % และร้านแลกเปลี่ยนเงินในเมียนมาขณะนี้ประกาศหยุดแลกเปลี่ยนเงินชั่วคราว

บริษัทขนาดกลางทยอยขนเงินออก

แหล่งข่าวจากนักลงทุนไทยในเมียนมา กล่าวว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.2564 ทำให้บริษัทไทยในเมียนมาได้ปรับแผนธุรกิจ โดยเฉพาะในการทำธุรกรรมทางการเงินที่แบ่งได้ 2 ระดับ คือ 

1.บริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่เข้ามาลงทุนในเมียนมานานและมีวงเงินสูงทำให้ต้องเดินหน้าโอเปอเรทธุรกิจต่อ ส่วนการลงทุนใหม่ได้ชะลอไว้ ในขณะที่การทำธุรกิจกรรมทางการเงินยังดำเนินการผ่านสถาบันการเงิน

2.บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น ธุรกิจนำเข้าส่งออก ธุรกิจโลจิสติกส์ บางส่วนยังคงสถานะบริษัทในเมียนมาไว้ แต่มีการถอนเงินกลับไทย โดยการจำกัดการโอนเงินผ่านธนาคารทำให้ต้องโอนเงินนอกระบบธนาคาร เช่น โพยก๊วน

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาของบริษัทประเทศอื่น พบว่ามีบริษัทสัญชาติสิงคโปร์บางแห่งใช้วิธีการโอนเงินผ่านบริษัทตัวแทนที่ไม่ได้จดทะเบียนในสิงคโปร์ หลังจากนั้นจึงโอนเงินจากบริษัทตัวแทนไปที่สิงคโปร์

แหล่งข่าว กล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้บริษัทต่างชาติหลายรายพิจารณาถอนการลงทุนจากเมียนมา เช่น ญี่ปุ่น โดยการถอนการลงทุนที่ส่งผลต่อบริษัทไทย คือ กรณีที่บริษัท Mitsui Oil Exploration Company Limited (MOECO) ผู้ร่วมทุนในโครงการเมียนมาเอ็ม 3 ในสัดส่วน 20% ร่วมกับ ปตท.สผ.ในสัดส่วน 80% ได้ยุติการลงทุนตามสัญญาร่วมทุน

ทั้งนี้ ปตท.สผ.ยังคงเดินหน้าโครงการต่อทำให้ ปตท.สผ.มีสัดส่วนการลงทุนเพิ่มเป็น 100% และได้รับอนุมัติโครงการจากรัฐบาลเมียนมาไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย.2565

การลงทุนของกลุ่ม ปตท.เป็นการลงทุนในลักษณะรัฐต่อรัฐ (G to G) ซึ่งอาจทำให้จำเป็นต้องมีการเจรจาของภาครัฐ 2 ฝ่าย เมื่อมีปัญหาที่อาจกระทบการลงทุน รวมทั้งบริษัทขนาดใหญ่ของไทยหลายแห่งคงเตรียมแผนไว้แล้วหากมีการคว่ำบาตรเพิ่ม เพราะช่วงที่ผ่านมาได้ลงทุนเป็นวงเงินสูง” แหล่งข่าว กล่าว

สหรัฐหวังตัดท่อน้ำเลี้ยงเมียนมา

สำนักข่าวรอยเตอร์ตรวจสอบแหล่งข่าววงใน 2 รายถึงรายงานข่าวที่กรุงเทพธุรกิจรายงานก่อนหน้านี้ว่าสหรัฐจะออกมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมารอบใหม่พุ่งเป้าไปที่ธนาคาร 2 แห่ง เร็วสุดวันพุธ (21 มิ.ย.) เพื่อจำกัดการเข้าถึงการเงินของรัฐบาลทหารเมียนมา

แหล่งข่าวยืนยันกับรอยเตอร์ว่า รายงานข่าวดังกล่าวถูกต้อง ขณะเดียวกันสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยแถลงว่า สหรัฐ "เดินหน้าหาทางทำให้ผู้ที่ทำรัฐประหารและความรุนแรงที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ เช่น พยายามตัดท่อน้ำเลี้ยงของรัฐบาลทหาร

เป้าหมายที่ต้องทำสิ่งเหล่านี้คือเพื่อสกัดรัฐบาลไม่ให้เข้าถึงเงินดอลลาร์และทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบในฐานะที่ยังกระทำความรุนแรงน่าสะพึงกลัวอย่างต่อเนื่อง"

ที่ผ่านมาสหรัฐและชาติตะวันตกคว่ำบาตรผู้นำทหารเมียนมาไปแล้วหลายรอบ นับตั้งแต่รัฐประหารเดือน ก.พ.2564 โค่นรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งนำโดยนางอองซาน ซูจี และสังหารผู้ต่อต้านหลายพันคน

ด้านนายจ่อ มินทุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาเผยกับสถานีโทรทัศน์เอ็มดับเบิลยูดีของรัฐบาล เมื่อค่ำวันอังคาร (20 มิ.ย.) ว่า ไม่กังวลหากโดนคว่ำบาตรรอบใหม่ เพราะเคยโดนมาแล้วหลายรอบ ถ้ารอบนี้ทำกับธนาคารของรัฐก็จะไม่เสียหาย

การที่สหรัฐทำแบบนี้ “ก็แค่สร้างความยุ่งยากให้กับเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้เกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็น ขณะที่เราเดินหน้าสู่ระบบประชาธิปไตยหลายพรรค” โฆษกรัฐบาลเมียนมา กล่าว

ขณะที่สถานทูตสหรัฐกล่าวด้วยว่า ได้คุยกับรัฐบาลไทยเรื่องเมียนมาเสมอ รวมถึงวิธี “ลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรที่จะมีต่อประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ”

ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ (19 มิ.ย.) รัฐบาลรักษาการของไทยจัดหารือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในเมียนมาเป้าหมายเพื่อกลับไปข้องเกี่ยวกับทหารเมียนมาอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องหารือเพื่อพิทักษ์พรมแดนไทย-เมียนมา แม้ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศจากเพื่อนบ้านอาเซียนประเทศสำคัญไม่ร่วมประชุม

นักวิจารณ์กล่าวว่า การหารือที่พัฒนาบั่นทอนแนวทางการแก้วิกฤติเมียนมาของอาเซียน ซึ่งยึดแผนสันติภาพที่คณะทหารเมียนมาเห็นชอบด้วยเมื่อ 2 ปีก่อน แต่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยรัฐประหารในปี 2557 กล่าวว่า จำเป็นต้องเจรจากันโดยตรงเพื่อปกป้องประเทศไทย

คาดจีนอยู่เบื้องหลังจัดประชุม

แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนรายหนึ่งเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่าการที่รัฐบาลไทยจัดประชุมโดยอ้างว่าเพื่อรับมือการถูกคว่ำบาตรเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

“ถ้ากลัวคว่ำบาตร ต้องไปคุยกับสิงคโปร์เขามีธุรกิจในเมียนมามากกว่าไทยอีก การที่เราไปชักชวนเมียนมามานี่ กลายเป็นผู้สนับสนุนจะโดนคว่ำบาตรไปด้วย” แหล่งข่าวรายนี้มองว่า การจัดประชุมของไทยทั้งๆ ที่คาดการณ์ได้ว่าจะถูกวิจารณ์หนัก เป็นรูปแบบของ “การสร้างวงประชุมใหม่สำหรับพวก like-minded เป็นความริเริ่มและผลักดันของจีนที่ใช้ไทยออกหน้า” การกระทำดังกล่าวสร้างความแตกแยกให้กับอาเซียน ทำให้นางเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนโกรธมาก