‘Apple’ ย้ายฐานผลิตแค่ฝัน? ‘จีน’ ครองอำนาจผลิตอย่างน้อย 20 ปี!
ครองอำนาจผลิตอย่างน้อย 20 ปี! “Apple” ผูกปิ่นโตโรงงานจีนยาว แม้พยายามกระจายฐานผลิต พบ อินเดีย-เวียดนาม อ่อนทักษะ คุณภาพโรงงานไม่ถึง ทำ “Apple” ติดวังวน “ห่วงโซ่อุปทานสีแดง” ท่ามกลางความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่อเนื่อง
Key Points:
- ที่ผ่านมา แม้จะมีข่าวคราวการย้ายฐานการผลิตของ “Apple” ไปยังประเทศอื่นๆ แต่หากดูจากข้อมูลเชิงสถิติย้อนหลังจะพบว่า “จีน” ยังครองส่วนแบ่งการผลิตของ Apple ไว้เกือบทั้งหมด และจะยังคงเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน
- “Apple” วางรากฐานการผลิตในจีนแบบครบวงจร กินขนาดพื้นที่เท่ากับ 1 จังหวัด แรงงานมีความรู้ ความเข้าใจ มากกว่าประเทศโรงงานเกิดใหม่ รวมถึงนโยบายทางเศรษฐกิจได้เอื้อให้จีนเป็นฐานที่มั่นสำคัญด้วย
- สำหรับ “อินเดีย” และ “เวียดนาม” ขณะนี้เป็นเพียงปลายทางการประกอบชิ้นส่วน “จีน” ยังเป็นต้นน้ำของการส่งมอบอุปกรณ์และการประกอบชิ้นส่วนสำคัญๆ โดยอดีตพนักงาน Apple มองว่า หาก Apple ต้องการย้ายฐานผลิตจริงๆ คงต้องใช้เวลาอีก 20 ปี
ข่าวคราวการย้ายโรงงาน-ฐานผลิตของ “Apple” ยักษ์เทคระดับโลกยังคงมีกระแสต่อเนื่อง โดย “Apple” เริ่มต้นวางแผนย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่างๆ ตั้งแต่ปี 2014 โดยมี “เวียดนาม” “อินเดีย” รวมถึงประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหมุดหมายของโรงงานหลังต่อไป สืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่าง “จีน-สหรัฐ” รวมถึงแรงกดดันจากนักการเมือง-นักลงทุน ที่ต้องการให้บริษัทลดการพึ่งพาประเทศแผ่นดินใหญ่
แม้ที่ผ่านมา “Apple” จะทยอยย้ายฐานผลิตบางส่วนออกจากจีนแล้ว ทั้งไอโฟน (iPhone) ไอแพด (iPad) แอร์พอด (Airpods) และเครื่องแมค (Mac) แต่หากดูจากภาพรวมการผลิตในปัจจุบันแล้วจะพบว่า สัดส่วนตัวเลขการผลิตในจีนยังสูงต่อเนื่องติดต่อกันทุกปี
รายงานจาก “Counterpoint Research” บริษัทวิเคราะห์การตลาดให้ข้อมูลว่า สัดส่วนการผลิตสินค้า “Apple” ในจีนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2020-2024 สำหรับผลิตภัณฑ์ “Core Product” ทั้ง 4 อย่าง ได้แก่ iPhone, AirPods, Mac และ iPad มีการผลิตในโรงงานนอกประเทศจีนสูงสุดเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยมี Mac เป็นสินค้าที่มีการผลิตในจีนมากที่สุด สอดคล้องกับความเห็นจากสำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทมส์ที่ระบุว่า Apple ยังต้องพึ่งพาจีนไปอีกนาน และไม่สามารถหลุดพ้นจาก “The red supply chain” หรือ “ห่วงโซ่อุปทานสีแดง” ได้
- รากฐานการผลิต “Apple” ในจีน ถูกวางระบบแบบ “End-to-end”
เค้าลางในการขยับขยายฐานผลิตเริ่มเด่นชัดขึ้นในช่วงที่จีนคุมเข้มโควิด-19 ด้วยนโยบายขีดเส้นตายอย่าง “Zero Covid” ขณะนั้นห่วงโซ่อุปทานการนำเข้า-ส่งออกของจีนต้องหยุดลงกะทันหัน เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า จีนคือประเทศที่ได้รับการขนานนามว่า “โรงงานโลก” เป็นที่ตั้ง-แหล่งผลิตของแบรนด์ยักษ์ใหญ่มากมายรวมถึง “Apple” ด้วย
โรงงานฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) เมืองเจิ้งโจว หรือที่รู้จักกันในชื่อ “iPhone City” แหล่งผลิต iPhone มายาวนานร่วมสองทศวรรษ มีขนาดโรงงานเท่ากับ 1 เมือง หรือ 1 จังหวัด โดย “ไบอัน แบลร์” (Brian Blair) อดีตนักวิเคราะห์เทคโนโลยีที่เคยมีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานแห่งนี้บอกว่า คุณไม่สามารถเข้าใจขนาดการผลิตของโรงงานฟ็อกซ์คอนน์ได้เลยจนกว่าจะมาเห็นด้วยตาของตัวเอง ขนาดการผลิตของจีนทำให้โรงงานแห่งนี้สร้างมูลค่าได้สูงถึงปีละ 316 พันล้านดอลลาร์
การสร้างโรงงาน “iPhone City” แห่งนี้ขึ้นมา Apple ต้องใช้เวลาก่อร่างนานกว่าสองทศวรรษ ปฏิเสธไม่ได้ว่า โรงงานแห่งนี้คือรากฐานแห่งความสำเร็จ เพราะในอดีตการสร้าง “Ecosystem” ในโรงงานฟ็อกซ์คอนน์ถูกเนรมิตขึ้นภายใต้เหตุผลเรื่องการลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว
ขณะนั้นจีนเป็นประเทศที่มีค่าแรงราคาถูกเมื่อเทียบกับสหรัฐ มีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจเอกชน มีนโยบายการค้า-การลงทุน และการแบ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เอื้อให้ทุนข้ามชาติ รวมถึงทักษะของพนักงานในท้องถิ่นเองก็มีประสิทธิภาพเช่นกัน ทำให้ Apple วางโรงงานแห่งนี้เป็นแม่น้ำสายหลัก เปลี่ยนระบบการจัดการให้เป็นแบบ “End-to-end” คือ ควบคุมการผลิต การขาย การตลาดแบบครบวงจร
แต่แล้วโจทย์ก็เปลี่ยนไปเมื่อการเป็นโรงงานโลกของจีนเริ่มขยับสู่ความต้องการเป็นผู้ผลิต โดยมีชื่อของนักธุรกิจจีนในฐานะผู้ก่อตั้งแบรนด์ดังมากมาย เปลี่ยนจาก “คู่ค้า” เป็น “คู่แข่ง” มากขึ้น สหรัฐอเมริกาไม่ใช่มหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไป แต่ยังมี “ผู้ท้าชิง” จากชาติตะวันออกที่มีความเชี่ยวชาญและทรัพยากรถึงพร้อม
นั่นจึงเป็นที่มาของ “Trade Protectionism” นโยบายที่มุ่งเน้นการกีดกันและปกป้องทางการค้า จำกัดการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ด้วยการตั้งกำแพงภาษีซึ่งเริ่มปรากฏชัดมากขึ้นในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) กระทั่ง โจ ไบเดน (Joe Biden) เองก็มีมุมมองในเรื่องนี้คล้ายคลึงกัน
จาก “จุดแข็ง” เป็น “ช่องโหว่” จากข้อได้เปรียบกลายเป็นเป้าโจมตี และถูกมองว่า “Apple” ไม่สามารถกระจายความหลากหลายได้ โดยอดีตวิศวกร Apple ให้ข้อมูลกับไฟแนนเชียล ไทมส์ ว่า เขาเคยได้รับมอบหมายให้หาวิธีผลิตด้วยระบบ Automation เพื่อเอาชนะต้นทุนเรื่องค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ
Apple มีความพยายามที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ปี 2014 แต่ก็อย่างที่ทราบจากข้อมูลว่า จนถึงปัจจุบัน (ปี 2023) ผ่านมาเกือบ 10 ปี กลับมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จากตัวเลขดังกล่าวจึงได้มีการประเมินว่า จีนจะครองอำนาจ แรงงาน และเทคโนโลยีการผลิตไปอีก 20 ปี
- “อินเดีย-เวียดนาม” ไม่ใช่ผู้ท้าชิงหลัก
ไม่มี “Big Tech” เจ้าไหนพึ่งพาประเทศจีนเต็มกำลังเหมือนกับ “Apple” ยกตัวอย่างเช่น “เมตา” (Meta) และ “อัลฟาเบท” (Alphabet) ที่มีรายได้หลักจากการขายพื้นที่โฆษณาบนแพลตฟอร์ม ขณะที่ “แอมะซอน” (Amazon) ยักษ์อีคอมเมิร์ซก็ไม่ได้มุ่งเน้นทำการตลาดในจีนมากนัก ส่วน “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) แม้จะมีฐานการผลิตบางส่วนในจีน แต่ก็คิดเป็นตัวเลขเพียง 6 เปอร์เซ็นต์
หรือคู่แข่งคนสำคัญของ iPhone อย่าง “ซัมซุง” (Samsung) ยักษ์เทคจากเกาหลีใต้ที่ตัดสินใจปิดโรงงานผลิตในจีนไปเมื่อปี 2562 หลังพบว่า ส่วนแบ่งตลาดในจีนลดลงเหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีคู่แข่งผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือในประเทศผุดขึ้นมากมาย ทั้งหัวเว่ย (Huawei) ออปโป (Oppo) และเสียวหมี่ (Xiaomi) ตามรายงานของ “Counterpoint Research” ระบุว่า ปัจจุบันซัมซุงมีซัพพลายเออร์แหล่งผลิตใน 6 ประเทศ โดยมีชื่อของอาร์เจนตินาและเวียดนามเป็นโรงงานหลัก
ที่ผ่านมา Apple มีความพยายามในการโยกย้ายศูนย์กลางการผลิตไปที่ประเทศเนื้อหอมอย่าง “อินเดีย” และ “เวียดนาม” มากขึ้น โดยอินเดียมีปัจจัยดึงดูดนักลงทุนหลายอย่าง มีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์น้อยกว่า มีกำลังซื้อในประเทศที่น่าสนใจ ชนชั้นกลางในประเทศเพิ่มขึ้น และมีการคาดการณ์ว่า ในอนาคตอินเดียจะทะยานสู่การเป็นตลาดขนาดใหญ่ในทศวรรษต่อๆ ไป
“เจพีมอร์แกน” (JP Morgan) บริษัทให้บริการการเงินการลงทุนชื่อดังประมาณการว่า ภายในปี 2568 อินเดียจะกลายเป็นแหล่งผลิต iPhone มากขึ้น โดยคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของการผลิต
อย่างไรก็ตามมีผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตออกมาโต้แย้งว่า ตัวเลขของเจพีมอร์แกนนั้นดูจะเกินจริงไปสักหน่อย เพราะหากดูรายละเอียดกระบวนการผลิตในเชิงลึกจะพบว่า โรงงานอินเดียเป็นการรับช่วงส่วนประกอบมาจากจีนอีกทีหนึ่ง โดยบริษัทที่ทำหน้าที่ประกอบอุปกรณ์ยังคงเป็นซัพพลายเออร์จากไต้หวัน นักวิเคราะห์จาก “Bloomberg Intelligence” มองว่า ขณะนี้ “ไม่มีห่วงโซ่อุปทานในอินเดีย” การผลิตในโรงงานยังต้องนำเข้าทุกอย่างจากจีนแทบทั้งหมด
และแม้ว่าจะมี iPhone มากถึง 200 ล้านเครื่องที่ใช้กำลังการผลิตในอินเดีย แต่โทรศัพท์เหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ใน “ลีก” เดียวกันกับ iPhone ที่ผลิตในโรงงานจีน โดย “Apple” เคยออกมายอมรับว่า iPhone ที่ผลิตในอินเดียสามารถขายได้ในราคาที่ต่ำกว่ากำหนด
โดยปกติ ราคาเฉลี่ยของ iPhone จะอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์ หรือราว 35,000 บาท ขณะที่ iPhone จากอินเดียจะอยู่ที่ 250 ดอลลาร์ หรือประมาณ 8,750 บาท ด้วยการยอมลดสเปคบางอย่างลง รวมถึงกระบวนการผลิตในอินเดียที่ยังไม่มีระบบ Automation ซับซ้อนเท่ากับโรงงานในประเทศจีน
อุปกรณ์การผลิตของ Apple มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน กระบวนการผลิตจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ขณะนี้อินเดียยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด บวกกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนจากภาครัฐที่ยังน่าสนใจน้อยกว่าจีนอยู่ดี
ส่วน “เวียดนาม” แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศเนื้อหอมและถูกคาดการณ์ว่า จะเป็น “โรงงานโลก” รายต่อไป เพราะมีปัจจัยบวกที่น่าสนใจหลายอย่าง ทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐเกี่ยวกับนโยบายการค้าเสรีอย่างเต็มที่เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ที่สำคัญ แรงงานในเวียดนามยังเต็มไปด้วยคนหนุ่มสาวด้วยสัดส่วนประชากรเกิดใหม่ที่สูง และภาวะผู้สูงอายุที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ โดยเจพีมอร์แกนประเมินว่า ในปี 2568 เวียดนามจะกลายเป็นฐานการผลิตหลักของ “AirPods” กินสัดส่วนการผลิต “iPads” และ “Apple Watch” 20 เปอร์เซ็นต์ และเป็นฐานผลิต “Mac” ราว 5 เปอร์เซ็นต์
แต่ก็มีหมายเหตุที่คล้ายกันกับกรณีอินเดีย เพราะแม้จะเริ่มขยับฐานผลิตมาบางส่วนแล้ว แต่การจัดหาอุปกรณ์ส่วนใหญ่ยังคงต้องใช้จีนเป็นฐานที่มั่นอยู่ดี การผลิตในเวียดนามจะลงเอยด้วยการขนส่งสินค้ากึ่งสำเร็จรูปมาประกอบในขั้นตอนสุดท้าย นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังชี้ว่า กำลังผลิตในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดการผลิตของ “Apple” ในปัจจุบัน
- ความสัมพันธ์อันแนบแน่น ของ “Apple” ในห่วงโซ่อุปทานสีแดง
อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่า กำลังการผลิตในจีนของ “Apple” ถูกวางไว้อย่างเป็นระบบ แม้มีความพยายามกระจายตัวไปยังประเทศอื่นๆ แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง Apple และจีนแข็งแกร่งอย่างมีนัยสำคัญ
เพราะสัมปทานโรงงานขนาดใหญ่แลกมาด้วยข้อตกลงทางการค้าที่ “Apple” มีส่วนช่วยสนับสนุน พัฒนาเศรษฐกิจและแรงงานของจีน ด้วยมูลค่ารวม 275,000 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ “The Information” นับตั้งแต่นั้นมา “Apple” จึงมีข้อตกลงทางการค้าร่วมกับผู้ผลิตอย่าง “Luxshare” “Goertek” และ “Wingtech” โดยมีซัพพลายเออร์ยักษ์ใหญ่ “Foxconn” “Wistron” และ “Pegatron” เชื่อมร้อยอยู่ภายใต้ห่วงโซ่อุปทานสีแดงนี้ด้วย
อีกเหตุผลที่ทำให้การ “ปลีกตัว” ออกจากจีนของ Apple ทำได้ยาก คือ ปัจจุบัน Apple ไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องจักรการผลิตในโรงงานของบรรดาซัพพลายเออร์แล้ว โดยอดีตวิศวกรของ Apple ให้ข้อมูลว่า หลังจาก “iPhone” ทำ “New High” ยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ในปี 2558 บริษัทก็ยินดีที่จะพึ่งพาเครื่องจักรของซัพพลายเออร์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
แต่ก็กลายเป็นจุดอ่อนอีกเหมือนกัน เพราะในช่วงที่จีนปิดเมืองการสื่อสารระหว่างโรงงานผลิตและวิศวกรระดับสูงของบริษัททำได้ยาก “Apple” จึงได้มีการจัดพื้นที่ฝึกอบรมวิศวกรชาวจีนที่ในเวลาต่อมาก็พบว่า ความสามารถของพวกเขาไม่ได้เป็นสองรองใคร ไม่ต้องรอการพึ่งพาจากแคลิฟอร์เนียอีกแล้ว
- จีนควบคุมอย่างสมบูรณ์แบบ
นักวิเคราะห์มองว่า ความเชี่ยวชาญของจีนในการผลิต “สูตรลับ” ของ Apple ถูกแทนที่ด้วยแรงงานประเทศอื่นๆ ยากมาก Apple ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องแบกรับต้นทุนทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อไป โดยผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนมองว่า ทางเลือกของ Apple ท่ามกลางความดุเดือดของปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ในขณะนี้อาจใช้โมเดลการผลิตแบบ “จีน+1” มากกว่าการเลือกย้ายฐานผลิตออกไปทั้งหมดโดยสิ้นเชิง
นักวิเคราะห์จาก “Bloomberg Intelligence” คาดการณ์ว่า Apple จะสามารถย้ายฐานการผลิต iPhone ออกจากจีนได้สูงสุด 10-20 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2568 โดยคนจาก “Foxconn” มองว่า จีนมีข้อได้เปรียบหลายอย่างที่ Apple ไม่สามารถหาจากที่ไหนได้ ตั้งแต่แรงงานที่มีทักษะระดับปานกลางไปจนถึงวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญสูง
นอกจากนี้ อดีตพนักงาน Apple ยังมองด้วยว่า ความคิดที่จะละทิ้งจีนเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากในแง่ของการรั่วไหลข้อมูลที่เป็นลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา
ราวกับว่า ตอนนี้คนจีนควบคุมทุกอย่างของ Apple ไว้สมบูรณ์แบบแล้ว
อ้างอิง: The Economic Times, Financial Times 1, Financial Times 2, The Atlantic, The Information