‘เวียดนาม-ไทย’ เสี่ยงตกชั้นโรงงานโลก เมื่อยักษ์เทคจ่อย้ายฐานผลิตกลับถิ่น

‘เวียดนาม-ไทย’ เสี่ยงตกชั้นโรงงานโลก เมื่อยักษ์เทคจ่อย้ายฐานผลิตกลับถิ่น

จับตาปรากฏการณ์ “Nearshoring” เมื่อพญาอินทรีเปลี่ยนทิศสยายปีก มุ่งหน้าสู่ละตินอเมริกาแทนเอเชีย บริษัทเทคฯ หลายแห่งต้องการผลักดันให้เกิด “Nearshoring” ใน “เม็กซิโก” ลดการพึ่งพาเอเชีย แรงงานเม็กซิกันมีทักษะ “STEM” มากขึ้น ดันตลาด “Big Tech” โตกระฉูด

Key Points:

  • “Nearshoring” คือ แนวคิดการย้ายฐานการผลิตกลับไปอยู่ใกล้ๆ กับประเทศแม่ โดยมีจุดเริ่มต้นจากปัจจัยความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐ และวิกฤติห่วงโซ่อุปทานในช่วงโควิด-19 
  • พบว่า ละตินอเมริกามีปัจจัยหลายอย่างดึงดูดให้บริษัทเทคโนโลยีเลือกเป็น “Nearshoring” ทั้งค่าแรงราคาถูก ทักษะที่เป็นที่ต้องการ รวมถึงปัจจัยเรื่องเขตเวลาที่มีความใกล้เคียงกับสหรัฐ 
  • “เทสลา” คือ บริษัทล่าสุดที่มีการประกาศแผนการสร้างโรงงานในเม็กซิโก ในขณะที่ธุรกิจคลังสินค้าเจ้าอื่นๆ ก็มีเม็กซิโกเป็นหมุดหมายสำคัญเช่นกัน โดยผู้บริหาร “Nowports” บริษัทโลจิสติกส์รายใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกาคาดการณ์ว่า เม็กซิโกมีแนวโน้มการเติบโตอีกมาก รวมถึงประเทศอื่นๆ ในแถบละตินอเมริกาเองก็กำลังเนื้อหอม-ดึงดูดนักลงทุนเช่นกัน


หากผลสะเทือนจากเหตุการณ์ฝุ่นตลบสงครามการค้าจีน-สหรัฐ คือ การย้ายฐานผลิตจากจีนสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แรงกระเพื่อมของโควิด-19 ก็คือการมาถึงของแนวคิด “Nearshoring” เมื่อวิกฤติห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักทำให้ชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐเริ่มคิดถึงการย้ายฐานการผลิตกลับไปยังบริเวณใกล้เคียงกับประเทศแม่มากขึ้น ส่งผลให้ “เม็กซิโก” ประเทศที่มีชายแดนติดกับสหรัฐโดดเด่น ก้าวขึ้นสู่ “Iconic Nearshoring Market” หรือประเทศที่สามารถดึงดูดนักลงทุนด้วยปัจจัยแวดล้อมที่สามารถอุดรอยรั่วที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้

ในบทความนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” จะพาไปทำความรู้จักความหมายของ Nearshoring แนวโน้มตลาดโลก และอะไรทำให้ “เม็กซิโก” กลายเป็นประเทศเนื้อหอมของชาติพญาอินทรี นอกจากปัจจัยด้านภูมิศาสตร์แล้ว เม็กซิโกมีสัญญาณบวกอย่างไรต่อปรากฏการณ์นี้บ้าง

‘เวียดนาม-ไทย’ เสี่ยงตกชั้นโรงงานโลก เมื่อยักษ์เทคจ่อย้ายฐานผลิตกลับถิ่น

  • สงครามการค้า โควิด-19 วิกฤติห่วงโซ่อุปทาน ดัน “เม็กซิโก” ขึ้นแท่น “โรงงานโลก” 

ก่อนเกิดเหตุการณ์สงครามการค้า “จีน” มีบทบาทสำคัญในฐานะ “โรงงานโลก” แต่ภายหลังความร้อนระอุระหว่างสองประเทศมหาอำนาจไม่มีทีท่าจบลงง่ายๆ “สหรัฐ” ซึ่งเป็นประเทศแม่ของบริษัทนวัตกรรมหลายแห่ง ก็วางแผนย้ายโรงงานออกจากจีนมุ่งสู่เวียดนามมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่า “เวียดนาม” จะกลายเป็นโรงงานโลกแห่งใหม่ในไม่ช้า เนื่องจากได้เปรียบในเรื่องโครงสร้างประชากรที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนมาก และแรงงานเหล่านี้ยังมีทักษะที่เป็นที่ต้องการ โดยเวียดนามได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุน้อยด้วย

ทว่า ในอนาคตอันใกล้เวียดนามอาจไม่ใช่ประเทศโรงงานโลกอีกต่อไป เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ สื่อต่างชาติหลายแห่งวิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ “Nearshoring” หรือแนวคิดการย้ายฐานการผลิตกลับไปใกล้กับประเทศแม่ โดยผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง “Nowports” บริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบ “End-to-End” ประเทศเม็กซิโก ให้ข้อมูลกับนิตยสารฟอร์บส (Forbes) ว่า ความตึงเครียดอย่างต่อเนื่องระหว่างสหรัฐ-จีนมีผลให้บริษัทในสหรัฐหลายแห่งตัดสินใจย้ายโรงงานจำนวนมากไปยังเม็กซิโก ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับสหรัฐมากกว่า นอกจากเหตุผลเรื่องความสัมพันธ์กับจีนแล้ว ปัจจัยสำคัญประการต่อมา คือ วิกฤติห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงักไปในช่วงล็อกดาวน์โควิด-19

‘เวียดนาม-ไทย’ เสี่ยงตกชั้นโรงงานโลก เมื่อยักษ์เทคจ่อย้ายฐานผลิตกลับถิ่น

ผลสำรวจจาก “Prosper Insights & Analytics” บริษัทที่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกระบุว่า ปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวราว 6-12 เดือน เพื่อให้ทั้งระบบกลับมาทำงานได้เป็นปกติ หลังวิกฤติโควิด-19 จบลง แนวคิด “Nearshoring” เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาจากเอเชีย เปลี่ยนมาเป็นการจ้างงานกับแรงงานในพื้นที่ที่ใกล้กับประเทศแม่มากกว่าประเทศแถบเอเชียที่ห่างไกลออกไป กระแสย้ายโรงงาน-ฐานผลิตมายังเม็กซิโก ทำให้ขณะนี้มีโรงงานผุดขึ้นตามแนวชายแดนสหรัฐจำนวนมาก

โดยรายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมาระบุว่า การส่งออกของเม็กซิโกในเดือนมีนาคมทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจในประเทศ โดยบลูมเบิร์กมองว่า นี่คือสัญญาณบวกของแนวคิด “Nearshoring” ที่ทำให้ดุลการค้าเม็กซิโกเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ว่าในปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐจะยังชะลอตัว แต่ก็ไม่ได้มีผลทำให้คาดการณ์เศรษฐกิจเม็กซิโกซบเซาลงมากนัก การส่งออกจะชะลอตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องการขนส่งเป็นอีกหนึ่ง “ไม้ตาย” ของเม็กซิโก ข้อมูลจากเว็บไซต์ “Supply Chain Brain” ระบุว่า ค่าขนส่งโดยเฉลี่ยในปี 2022 สำหรับการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์จากเซี่ยงไฮ้ไปสหรัฐ สูงถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ในขนาดใกล้เคียงกันจากเม็กซิโกไปยังสหรัฐ มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของการขนส่งจากเซี่ยงไฮ้

ระยะเวลาในการขนส่งยังเชื่อมโยงไปถึงความพึงพอใจของร้านค้าปลีกที่คาดหวังจะได้รับสินค้าในเวลาอันรวดเร็ว แต่ด้วยระยะทางการขนส่งที่ห่างไกล ทำให้ร้านค้าหรือ “ดีลเลอร์” ต้องรอสินค้าหลายสัปดาห์ หรือบางครั้งอาจกินเวลานับเดือน ตรงกันข้ามกับการส่งสินค้าจากเม็กซิโกที่สามารถย่นระยะเวลาได้น้อยลงมาก โดยใช้เวลารวมน้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น

  • “STEM” ทักษะสำคัญที่คนเม็กซิโกโตวันโตคืน

ตัวเลขจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี 2023 ระบุถึงข้อมูลอัตราผู้สำเร็จการศึกษาศาสตร์ “STEM” จากสัดส่วนบัณฑิตจบใหม่ทั้งหมด โดยสามอันดับแรก ตกเป็นของเยอรมนี รัสเซีย และอินเดีย ตามลำดับ แต่ที่น่าสนใจ คือ อันดับของประเทศแถบละตินอเมริกาที่มีสัดส่วนบัณฑิตจบใหม่ในสาขา STEM ติดอันดับถึง 5 ประเทศ ได้แก่

  • เม็กซิโก ลำดับที่ 6 บัณฑิตจบใหม่สาขา STEM 25.8 เปอร์เซ็นต์
  • โคลอมเบีย ลำดับที่ 8 บัณฑิตจบใหม่สาขา STEM 23.9 เปอร์เซ็นต์
  • ชิลี ลำดับที่ 12 บัณฑิตจบใหม่สาขา STEM 21.4 เปอร์เซ็นต์
  • บราซิล ลำดับที่ 16 บัณฑิตจบใหม่สาขา STEM 17.5 เปอร์เซ็นต์
  • อาร์เจนตินา ลำดับที่ 20 บัณฑิตจบใหม่สาขา STEM 14.2 เปอร์เซ็นต์

โดยทั้ง 5 ประเทศ มีลำดับสูงกว่าประเทศฝั่งยุโรปหลายประเทศ อาทิ แคนาดา อังกฤษ อิตาลี รวมถึงสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนบัณฑิต STEM ต่ำกว่าเม็กซิโก โคลอมเบีย และชิลี 

‘เวียดนาม-ไทย’ เสี่ยงตกชั้นโรงงานโลก เมื่อยักษ์เทคจ่อย้ายฐานผลิตกลับถิ่น

“Fetch Package” บริษัทขนส่งสัญชาติอเมริกันให้ข้อมูลกับฟอร์บสว่า ตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ บริษัทเริ่มมองหาคนทำงานตำแหน่งวิศวกรแถบละตินอเมริกามากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขตเวลาที่ใกล้เคียงกับสหรัฐ โดยปัจจุบัน ทีมวิศวกรของ Fetch Package ราว 10 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในอาร์เจนตินา บราซิล และเปรู

นอกจากนี้ บริษัทเทคฯ ระดับโลกหลายแห่งยังมีแนวโน้มการจ้างงานในชิลี กัวเตมาลา อุรุกวัย และประเทศอื่นๆ ในแถบอเมริกากลางและใต้มากขึ้นด้วย โดย “ดีล” (Deel) บริษัททรัพยากรบุคคลระดับโลกคาดการณ์ว่า ในปี 2023 จะมีบริษัทในสหรัฐกว่า 3,000 แห่ง เลือกใช้บริการ-จ้างงานในละตินอเมริกามากขึ้น โดยจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2022

  • เก่ง สกิลดี ค่าแรงถูก: อนาคตการจ้างงานในละตินอเมริกา

ดีลเปิดเผยว่า ลูกค้าที่ใช้บริการจากบริษัทตนหลายแห่งให้ข้อมูลว่า พวกเขาจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานประจำและพนักงานสัญญาจ้างชาวละตินอเมริกา ในสาขาวิศวกรรมและออกแบบผลิตภัณฑ์เฉลี่ย 74,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าจ้างพนักงานสหรัฐอยู่ที่ 127,000 ดอลลาร์สหรัฐ

โดยผู้บริหาร ดีลให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ค่าจ้างที่จ่ายให้กับวิศวกรสหรัฐ 10 คน สามารถจ้างวิศวกรชาวบราซิลได้ถึง 100 คน ความน่าสนใจตรงนี้ ทำให้บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่หลายแห่งเริ่มพิจารณาถึงการจ้างงานในละตินอเมริกา ซึ่งเป็นที่มาของการขยายที่ตั้งโรงงานไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวด้วย

แนวคิด “Nearshoring” ถูกให้น้ำหนักไปที่ละตินอเมริกามากกว่าโซนอื่นๆ เพราะมีเรื่องค่าแรงที่น่าสนใจมาเกี่ยวข้อง ดีลประเมินว่า พนักงานในภูมิภาคนี้มีค่าจ้างโดยเฉลี่ย 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าฝั่งยุโรปรวมถึงเอเชีย มีบริษัทเทคฯ หลายแห่งที่ประสานงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อดึงตัวบัณฑิตจบใหม่เหล่านี้เข้าสู่องค์กรทันที

ข้อมูลจากฟอร์บสยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า บริษัทเทคฯ เหล่านี้ให้ความสนใจบัณฑิตสายงานวิศวกรรมในละตินอเมริกามากกว่าอินเดีย ที่มีสัดส่วนบัณฑิตสาขา STEM มากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ด้วยปัจจัยเรื่องค่าแรงที่เมื่อเทียบเคียงกันแล้วละตินอเมริกายังมีค่าแรงถูกกว่า แต่เพราะจำนวนบัณฑิตจบใหม่ที่ไม่มากเท่ากับความต้องการ ทำให้ทักษะ STEM ในละตินอเมริกาเป็นที่ต้องการตัวในกลุ่มบริษัทเทคฯ อย่างมาก


ภาพใหญ่ของ “Nearshoring” ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสหรัฐอย่างมาก รวมถึงการยกเครื่องภาคเอกชนใหม่ในเม็กซิโกที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน คุณภาพความรวดเร็วในการขนส่ง การเติบโต ความสามารถในการแข่งขัน

จากประเทศที่เคยถูกมองว่าอันตรายที่สุด อาจพลิกกลายเป็นประเทศที่ได้รับสปอตไลต์มากที่สุดก็ได้

 

อ้างอิง: Bloomberg 1Bloomberg 2Yahoo FinanceForbesSupply Chain BrainTTEC